
เปิดหน้า "BRN" สุดโต่งสุม "ไฟใต้" กดดันรับแผน JCPP เข้าทางนักรบปาตานี
ลัทธิสุดโต่ง "BRN" พันธุ์ใหม่รุกสุม "ไฟใต้" กดดันตั้งโต๊ะเจรจารับแผน JCPP เปิดประตูบ้านต้อน นักรบปาตานี
ไฟใต้ปะทุ BRN สายพันธุ์ใหม่รุกรัฐไทย กดดันตั้งโต๊ะเจรจายอมรับแผน JCPP เปิดประตูบ้านต้อนนักรบปาตานี
ขบวนการ BRN ในวันนี้ แยกชัด รุ่นเก่า-รุ่นใหม่ นักวิชาการเชื่อปฏิบัติการสังหารผู้บริสุทธิ์ ได้รับอิทธิพลจากลัทธิสุดโต่ง
เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง มีการทำร้ายกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบาง อาทิ พระภิกษุ-สามเณร หญิงชรา คนพิการ และเด็กเล็ก
ล่าสุด แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์
ขบวนการบีอาร์เอ็น ยังจะยืนหยัดต่อสู้ภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ขณะที่ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง กลับเห็นตรงข้ามและวิพากษ์อย่างรุนแรงว่า BRN มีแนวโน้มไปในทางนิยมความรุนแรงมากขึ้น จนภาพลักษณ์ของขบวนการเปลี่ยนจากการเป็น “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ไปเป็น “กลุ่มก่อการร้าย”
“การก่อการร้ายของ BRN ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงยุทธศาสตร์การทหารนำการเมือง ถือเอาการฆ่าและการทำลายชีวิตอย่างไม่จำแนกเป็นทิศทางหลัก ทั้งเพื่อข่มขู่รัฐและคนในพื้นที่”
อันตรายบีอาร์เอ็นสุดโต่ง
ปฏิกิริยาจากรัฐบาลแพทองธาร ก็ยืนยันที่จะมีการพูดคุยสันติภาพต่อไป แม้ที่ผ่านมา จะไม่มีความคืบหน้า ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน
ต้นปีนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แก้ไฟใต้ และยังไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนคณะพูดคุยฝ่ายไทยเป็นทางการ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้นับแต่เหตุปล้นปืนที่นราธิวาส ปี 2547 เป็นฝีมือของ “แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี” (BRN)
บีอาร์เอ็นปีกการทหาร ดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทย ควบคู่กับบีอาร์เอ็นปีกการเมือง ก็พยายามจะพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐไทย
สงครามยิ่งยืดเยื้อ ชัยชนะยิ่งห่างไกล บีอาร์เอ็นอาจต้องยอมถอยในบางเรื่อง แต่ปีกการทหารยังคงเป้าหมายเพื่อเอกราช ปีกการเมืองจึงเสี่ยงที่จะถูกโดดเดี่ยว
พูดกันตามตรง ภายในบีอาร์เอ็น ได้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “บีอาร์เอ็นรุ่นใหม่” ที่อยู่ในแนวหน้า กับ “บีอาร์เอ็นรุ่นเก่า” ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
นักรบบีอาร์เอ็นรุ่นใหม่ ไม่ใช่นักการศาสนา ไม่ใช่ผู้ที่เคยผ่านการเรียนด้านการศาสนามาจากตะวันออกกลาง หากแต่คนหนุ่มสาวที่เติบโตและเรียนหนังสือใน 3 จังหวัด
แผน JCPP โมเดลยุโรป
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เริ่มต้นกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย (PEDP-RTG) กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556
นี่คือจุดเริ่มต้นของ BRN และรัฐบาลไทยตกลงที่จะแก้ไขความขัดแย้ง ความรุนแรงในปาตานีด้วยสันติวิธี หรือด้วยการแก้ปัญหาทางการเมือง
การพูดคุยสันติภาพข้างต้น ได้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการทำให้ บีอาร์เอ็นมีตัวตนในเวทีนานาชาติ ไม่ใช่ในฐานะขบวนการแบ่งแยกดินแดน
อีกด้านหนึ่งเอ็นจีโอต่างชาติ ได้เข้ามาพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นปีกการเมือง โดยออกแบบการสร้างกระบวนการสันติภาพ โดยยึดโมเดลบางประเทศในยุโรป
อันเป็นที่มาของโรดแมพ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์ร่วม” (Joint Comprehensive Plan towards Peace, JCPP)
พลันที่แผน JCPP ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีปฏิกิริยาต้านจากหลายฝ่าย เพราะหากรัฐบาลไทยยอมทำตามเงื่อนไข JCPP ก็เหมือนเปิดประตูบ้านรับผู้นำบีอาร์เอ็นเข้ามาทำกิจกรรมในดินแดนไทย โดยไม่มีความผิดใดๆ
หน่วยงานความมั่นคงก็กังวลกับแผน JCPP หากมีการนำมาถกบนโต๊ะเจรจาจริง โอกาสที่รัฐไทยจะเพลี่ยงพล้ำแก่ฝ่าย BRN ก็มีสูงมาก ด้วยเหตุนี้ รัฐไทยจึงไม่ยอมตั้งโต๊ะเจรจารอบใหม่
เหนืออื่นใด รัฐไทยได้ตั้งเงื่อนไขตัวแทน BRN ต้องเป็นผู้นำตัวจริง มีอำนาจสั่งการได้ ไม่ใช่เป็นแค่ “นายไปรษณีย์” เหมือนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา