
ถอยหรือไม่ "ภูมิธรรม" กลางไฟชาตินิยม "ตาเมือนธม" ระวังกับดักรักชาติเขมร
ระเบิดเวลา "ภูมิธรรม" ฝ่าไฟชาตินิยม "ตาเมือนธม" ฮุนเซน-สมรังสี ปั่นกระแสรักชาติ จากเกาะกูด ถึงตาเมือนธม
อีสานใต้ระทึก ภูมิธรรม กลางไฟชาตินิยม ตาเมือนธม ถอยหรือไม่ กลายเป็นชนวนสงครามการเมือง
ฝั่งเขมรก็ร้อนระอุ ฮุนเซน-สมรังสี ต่างเล่นเกมการเมืองชาตินิยม จุดไฟชาตินิยม จากเกาะกูด ตาเมือนธม ถึงช่องอานม้า
ปราสาทตาเมือนธม บนเส้นพรมแดนที่ยังไม่มีข้อยุติ ฝั่งไทยคือ อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ และฝั่งกัมพูชา อ.บันเตียอำปึล จ.อุดรมีชัย
ชีวิตคนเหมือนนิยาย เมื่อ 50 ปีที่แล้ว “สหายใหญ่” ภูมิธรรม เวชยชัย ในวัยหนุ่มเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.สำโรง จ.อุดรมีชัย เนื่องจากรัฐบาลเขมรแดง ได้อนุญาตให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ใช้ดินแดนกัมพูชา เป็นที่ตั้ง “โรงเรียนการเมือง-การทหาร 305”
พ.ศ. นี้ ภูมิธรรม เวชยชัย สวมหัวโขนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายขวา รวมถึงมิตรสหายขั้วสีหนึ่ง ที่ยัดเยียดข้อหา “สหายใหญ่ขายชาติ”
อันเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา (GBC) ได้มีการหารือกันระหว่างรองนายกฯภูมิธรรม กับ พล.อ.เตีย เซียฮา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568
หลังการประชุมจีบีซี ภูมิธรรมได้ตอบคำถามสื่อมวลชน และพูดถึงกรณีปราสาทตาเมือนธมว่า “...ปัญหาบริเวณปราสาทตาเมือนธม จะลดการเผชิญหน้า ทหารทั้งสองฝ่ายถอยกลับไปอยู่จุดเดิม ให้ใช้ความอดทนอดกลั้น”
พลันมีคำว่า “ถอย” ก็มีปฏิกิริยาจากฝั่งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวปีกขวาจัด โหมกระแสชาตินิยมระบุว่า ภูมิธรรม ถอนกำลังทหารจากตาเมือนธม ทำไทยเสี่ยงเสียดินแดนตามรอยปราสาทพระวิหาร
วันที่ 4 พ.ค. 2568 ภูมิธรรม จึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า “ถอยทหารไม่ได้บอกว่าให้ถอยออกจากจุดที่เราอยู่ทั้งหมด แต่ว่าที่มารุกรานทีหลังที่มีการขยับเข้ามาให้ถอยกลับไป”
ภูมิธรรมยืนยันว่า ที่ประชุมจีบีซีได้ตกลงกันให้กลับไปใช้ MOU 43 ซึ่ง MOU 43 มีการปักปันแล้วเสร็จ และยังมีเขตแดนที่เป็นเขต No Man's land
มีรายงานว่า สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา เฉพาะบริเวณปราสาทตาเมือนธม ระดับฝ่ายปฏิบัติ ทหารทั้ง 2 ฝ่าย ยังเตรียมพร้อมอยู่ แต่รักษาระยะห่าง เพื่อไม่ให้เกิดการวางกำลังเผชิญหน้า
ชาตินิยมไทย-เขมร
เมื่อวันประชุมจีบีซีไทย-กัมพูชา คปท. กองทัพธรรม และ ศปปส. นำโดยพิชิต ไชยมงคล ได้จัดกิจกรรมชุมนุมปราศรัยโจมตีรัฐบาลแพทองธารว่า คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูล ไม่คำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศ
ส่วนภายในกัมพูชา สงครามการเมืองชาตินิยมระหว่าง สม รังสี อดีตผู้นำฝ่ายค้าน กับสมเด็จฮุน เซน ผู้นำตัวจริงพรรคประชาชนกัมพูชา ก็ปะทุขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
แม้หลายฝ่ายเชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จฮุนเซน มีความสัมพันธ์แนบแน่น แต่ก็อย่าลืมว่า สมเด็จฮุนเซน ถนัดเล่นเกมชาตินิยม
ปรากฏการณ์ตาเมือนธม ว่าด้วยเรื่องดินแดน และแผนที่ อาจถูกนำมาใช้เพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองของคนในตระกูลฮุน
ปมขัดแย้งรอบใหม่
ย้อนไทม์ไลน์กรณีปมร้อนปราสาทตาเมือนธม เริ่มต้นจาก พล.ต.เนี๊ยะ วงษ์ ผบ.พลน้อย ร.42 กัมพูชา นำคณะแม่บ้าน ขึ้นมาสักการะปราสาทตาเมือนธม ก่อนร้องเพลงชาติ ปลุกใจทหารกัมพูชา ที่ตรึงกำลังในพื้นที่ จากนั้นทหารไทยได้เข้าไปห้ามปราม
กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จึงทำหนังสือประท้วง ในการกระทำที่ไม่เหมาะสมไปยังผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชาเป็นหลักฐาน ท้วงติงเป็นลายลักษณ์อักษร หลังมีบทเรียนเรื่องปราสาทพระวิหาร
ต่อมา เนียม จันญาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย พร้อมคณะทหารกัมพูชา นำโดย พล.ต.เนี๊ยะ วงษ์ ผบ.พลน้อย ร.42 มาพูดคุยเคลียร์ปัญหากับทหารไทย นำโดย พ.ท.จักรกฤษ ปิยะศุภฤกษ์ ผบ.กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 (ผบ.ร.23 พัน4)
ทหาร 2 ฝ่ายเคลียร์กันจบ แต่มวลชนทั้ง 2 ฝั่งไม่ยอมจบ มีการเล่นสงครามชาตินิยมผ่านสื่อโซเชียล ต่างฝ่ายต่างโจมตีกันไปมา ฉะนั้น สถานการณ์ตาเมือนธม จึงค่อนข้างเปราะบางอยู่เหมือนกัน