
ชี้เป้าดีลกลับบ้าน "แพทองธาร" โยงตระกูล "ชินวัตร" ฝ่ายค้านพ่ายรัฐพันลึก
ดีลพาพ่อกลับบ้าน ล็อกเป้าซักฟอก "แพทองธาร" โยงตระกูล "ชินวัตร" สุดท้ายรัฐพันลึก อุ้มรัฐบาลอิ๊งค์สอบผ่าน
ซักฟอก แพทองธาร ฝ่ายค้านล็อกเป้าตระกูลชินวัตร โยงทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ สุดท้ายดีลรัฐพันลึก รัฐบาลสอบผ่าน
เปรียบเทียบอดีตนายกฯทักษิณ รอดพ้นศึกซักฟอกด้วยกติกา กลับโดนรัฐพันลึกเล่นงาน ต้องลี้ภัยในต่างแดน
ฝ่ายค้านโหมโรงศึกซักฟอก “ดีลแลกประเทศ” เสียใหญ่โต เมื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันแรก(24 มี.ค.2567) กลับจืดชืด ด้วยประเด็นเก่าๆที่ สส.เคยตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯมาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นกรณีโอนหุ้นเลี่ยงภาษี ,ที่ดินอัลไพน์, ที่ดินเขากระโดง, ปลาหมอคางดำ, ไฟป่า, ค่าไฟแพง ฯลฯ
นอกจากนี้ ดาวสภาฯฝ่ายค้าน ก็มีการพาดพิง “บุคคลในครอบครัว” ตามคาด ทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ และยิ่งลักษณ์ รวมไปถึงคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
ฝ่ายค้านประเมินว่า นายกฯแพทองธาร มีจุดอ่อนคือ กระดูกการเมืองยังไม่แข็งแรง และเป็นคนจุดเดือดตํ่า จึงให้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปิดฉากซักฟอกกระทบชิ่งถึงคนในครอบครัวอย่างรุนแรง หวังจะทำให้นายกฯแพทองธาร เสียอาการกลางสภาฯ
ตรงกันข้าม นายกฯแพทองธาร กลับนิ่งและลุกขึ้นตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างใจเย็น ทั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาได้ 6 เดือน
ที่มาเผด็จการรัฐสภา
ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 ปี 7 เดือน ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในฐานะนายกรัฐมนตรี วันนี้ ทักษิณในฐานะคนนอก กลับเจอการอภิปรายพาดพิงจากฝ่ายค้าน
สาเหตุที่ทักษิณ ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้แต่ครั้งเดียว เพราะมีรัฐธรรมนูญ 2540 และผลการเลือกตั้ง สส. เป็นตัวช่วย
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 มีเจตนารมณ์ต้องการสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ จึงกำหนดให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียง สส. 2 ใน 5 ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีใช้เสียง สส. 1 ใน 5
ผลการเลือกตั้ง สส.เมื่อ 6 ม.ค. 2544 พรรคไทยรักไทย ได้ สส. 248 ที่นั่ง และต่อมา มีการควบรวมกับพรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม และพรรคชาติพัฒนา บวกพรรคชาติไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงมีเสียงมากถึง 366 เสียง
ขณะที่ฝ่ายค้านมี 128 เสียง มีเสียงไม่ถึง 2 ใน 5 จึงไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้
หลังเลือกตั้ง สส.ปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้านมีเพียง 96 เสียง ยิ่งห่างไกลกับเงื่อนไขที่จะยื่นซักฟอกนายกฯ ได้
เหตุที่อดีตนายกฯทักษิณ ไม่ถูกซักฟอก ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” มีการปลุกระดมมวลชนออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล ทำให้ทักษิณ ประกาศยุบสภาฯ ก.พ. 2549
ต่อมา กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งต้นเดือน เม.ย.2549 พรรคประชาธิปัตย์บอยคอต และมีการยื่นศาล รธน.ขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สุดท้ายความขัดแย้งทางการเมือง ก็จบลงด้วยรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
ดีลรัฐพันลึก
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ ปี 2549 ด้วยอำนาจนอกระบบ จึงเป็นที่มาของคำว่า “รัฐพันลึก” (Deep State) ในแวดวงนักรัฐศาสตร์ปีกก้าวหน้า
ปี 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็หนีไม่พ้นอำนาจนอกระบบ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในวังวน “รัฐเร้นลึก” นานถึง 8 ปี
กระทั่งหลังการเลือกตั้งปี 2566 ได้เกิดรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์
อดีตนายกฯ ทักษิณ จึงไปพูดบนเวทีหาเสียงว่า พรรคเพื่อไทยได้เสียงน้อยเกินไป จึงเป็นรัฐบาลผสม มีแต่การขัดแข้งขัดขา และการต่อรอง
แม้จะอึดอัดคับข้องใจ แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยก็ต้องประคองรัฐนาวาลำนี้ต่อไป เพราะมันเป็นไฟต์บังคับตามดีลรัฐพันลึก
นักวิชาการหลายสำนักต่างวิเคราะห์ตรงกันว่า นี่คือการเมือง 3 ก๊กคือ ก๊กสีแดง ก๊กสีน้ำเงิน และก๊กสีส้ม
การเมือง 3 ก๊ก ได้นำเมืองไทยกลับไปสู่วังวน “รัฐพันลึก” ที่มีผู้กำกับตัวจริง ซึ่งหมายถึงกลุ่มจารีตนิยม เป็นผู้กำกับทิศทางให้กับรัฐบาล
ดังนั้น การซักฟอกนายกฯแพทองธาร 2 วัน ก็เป็นแค่การระบายอารมณ์ของฝ่ายค้าน เพราะบทสรุปการลงมติซักฟอกก็คือ ฝ่ายรัฐบาลชนะ