ส้มสิ้นหวัง “ธนาธร” แพ้ อบจ.ซ้ำซาก “บ้านใหญ่” เสาค้ำระบอบจารีต
ช้างไม่ล้ม ส้มแพ้ซ้ำซาก “ธนาธร” โค่นบ้านใหญ่ไม่สำเร็จ อบจ.สนามต่อไป ชุมพร และยโสธร ส้มยกธงขาว
แพ้แล้วแพ้อีก ธนาธร ศาสดาส้มล้มบ้านใหญ่ไม่สำเร็จ การเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่เกมปั่นกระแส ระบอบอุปถัมภ์ฝังลึก
สนามต่อไป เลือกตั้งนายก อบจ. 2 จังหวัดคือ ชุมพร และยโสธร แชมป์เก่าบ้านใหญ่ไร้คู่แข่ง ส้มยกธงขาว
ผิดหวังอย่างแรง สำหรับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคประชาชน เคยประกาศจะล้มระบอบบ้านใหญ่ ตั้งแต่การเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อปี 2563 จนกระทั่งบัดนี้ พลพรรคสีส้มก็ยังเอาชนะบ้านใหญ่ไม่ได้ ในสนามการเมืองท้องถิ่น
4 ปีที่แล้ว คณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 42 จังหวัด ปรากฎว่า แพ้หมดทุกสนาม และปีนี้ มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อนครบวาระ 10 จังหวัด ซึ่งมี 6 สนาม ที่มีผู้สมัครสายสีส้มลงแข่งขันก็พ่ายเรียบ
ล่าสุด ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี สนามแรกที่มีการส่งผู้สมัครในนามพรรคประชาชน โดย “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ได้นำทีมสส.ลงหาเสียงปูพรมเต็มรูปแบบ ปรากฏว่า วิวัฒน์ นิติกาญจนา ได้ 242,297 คะแนน ส่วน ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ได้ 175,353 คะแนน
สรุป กำนันตุ้ย บ้านใหญ่ฟาร์มหมูวังมะนาว ชนะหวุน ชัยรัตน์ พรรคประชาชน66,944 คะแนน
กำนันตุ้ย ลงป้องกันแชมป์ในนามกลุ่มพัฒนาราชบุรี แต่หลังฉากก็คือความร่วมมือระหว่าง ขิง-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
สส.ราชบุรี 5 คน จึงผนึกกำลังกัน และแบ่งความรับผิดชอบตามเขตเลือกตั้งของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น 3 สส.พลังประชารัฐ อย่าง บุญยิ่ง นิติกาญจนา, จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ และชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์
บวก 2 สส.รวมไทยสร้างชาติอย่าง กุลวลี นพอมรบดี และอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ จึงสกัดกระแสสีส้มสำเร็จ
ระบอบบ้านใหญ่ยืนยง
ผ่านมาถึงครึ่งปี 2567 มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อนครบวาระ 10 จังหวัด คือ เลย , นครสวรรค์ , อ่างทอง , ปทุมธานี , พระนครศรีอยุธยา , ชัยนาท , พะเยา ,ชัยภูมิ , พิษณุโลก และราชบุรี
ช่วงเดือน ก.ย. และ ต.ค.นี้ จะมีการเลือก นายก อบจ. ก่อนครบวาระ อีก 2 จังหวัดคือ ชุมพร และยโสธร มินับการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ที่ กกต.แจกใบเหลือง จึงต้องการเลือกใหม่อีกครั้ง
กล่าวสำหรับการเลือกนายก อบจ. 10 สนาม และใน 6 สนามเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้สมัครสายสีส้ม กับบ้านใหญ่ ปรากฏว่า บ้านใหญ่รักษาแชมป์ได้ทุกสนาม
ชัยธวัช เนียมศิริ นายก อบจ.เลย ตัวแทน ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ.เลย (ภูมิใจไทยและเพื่อไทย)
สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา บ้านใหญ่วังน้อย (ภูมิใจไทย)
จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายก อบจ.ชัยนาท ตัวแทน อนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ.ชัยนาท (รวมไทยสร้างชาติ)
ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ.พะเยา ตัวแทนอัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา (ร.อ.ธรรมนัสและเพื่อไทย)
มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก สมัยที่ 3 กลุ่มพลังพิษณุโลก (พลังประชารัฐและเพื่อไทย)
วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี สมัยที่ 2 กลุ่มพัฒนาราชบุรี (ร.อ.ธรรมนัสและรวมไทยสร้างชาติ)
บ้านใหญ่ไร้คู่แข่ง
สนามต่อไป วันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย.2567 เลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพร โดยสนามนี้ มีผู้สมัครเพียงคนเดียวคือ นพพร อุสิทธิ์ อดีตนายก อบจ.ชุมพร กลุ่มพลังชุมพร
“นายกโต้ง” นพพร เป็นตัวแทนของ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร แกนนำพรรค รทสช.สายปักษ์ใต้
ถัดไป วันอาทิตย์ที่ 6 ต.ค.2567 เลือกตั้งนายก อบจ.ยโสธร สนามแรกของภาคอีสาน ที่มีการเลือกก่อนครบวาระ วิเชียร สมวงศ์ อดีตนายก อบจ.ยโสธร เพื่อไทย ลงสนามด้วยการสนับสนุนของบ้านใหญ่เมืองบั้งไฟทุกซุ้ม
ส่วน สมหวัง จำปาหอม คู่แข่งของวิเชียร ดูจะไม่รับความสนใจจากชาวบ้านมากนัก และทางพรรคประชาชน ก็ไม่ได้ส่งผู้สมัคร เนื่องจากไม่มีความพร้อม
วิเชียร สมวงค์ เป็นน้องชายบุญแก้ว สมวงศ์ สส.ยโสธร เขต 2 เพื่อไทย และอยู่ในเครือข่าย นายกป้อม-สถิรพร นาคสุข อดีตนายก อบจ.ยโสธร สังกัดซุ้มบ้านริมน้ำ ของสุชาติ ตันเจริญ
นอกจากนี้ เสี่ยเดี่ยว-ผดุงเกียรติ สลับศรี สามี สุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร ยังให้การสนับสนุนวิเชียร จึงทำให้ไร้คู่แข่งสายแข็ง