บิ๊กกลาโหม “ภูมิธรรม” สู่ฟ้าสีทอง “สหายใหญ่” เบอร์สองคุมทหาร-ตำรวจ
เมื่อบ้านจันทร์เป็นใหญ่ในแผ่นดิน “ภูมิธรรม” นั่งกลาโหม ย้อนเส้นทางฝัน “สหายใหญ่” จากซ้ายจุฬาสู่ป่าเขา
เสี้ยวชีวิต ภูมิธรรม ว่าที่รัฐมนตรีกลาโหม ยุคแสวงหาฟ้าสีทอง ในนามสหายใหญ่ หวังปักธงแดงสนามหลวง ฝันนั้นไม่เป็นจริง
บัดนี้ ในฐานะแกนนำเพื่อไทย ภูมิธรรม มีนามเรียกขานใหม่ สนามไชย 1 คุมกองทัพ ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคง
สีสันรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1 คงหนีไม่พ้นการสลับตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จาก สุทิน คลังแสง สส.มหาสารคาม สู่ ภูมิธรรม เวชยชัย คนวงในบ้านจันทร์ส่องหล้า
ไม่น่าแปลกใจ กรณี ทักษิณ ชินวัตร เลือก อ้วน ภูมิธรรม มาทำหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 ควบ รมว.กลาโหม ดูแลงานความมั่นคง ให้นายกฯแพทองธาร
นับแต่ อ้วน ภูมิธรรม ถอดหัวโขน “พี่ใหญ่เอ็นจีโอ” มาทำงานรับใช้ทักษิณ จนถึงวันนี้รวมเวลา 30 ปี
ปลายปี 2537 ช่วงที่ ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจด้านสื่อสาร เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน 1 โควตาพรรคพลังธรรม
อยู่มาวันหนึ่ง ทักษิณชวน ภูมิธรรม เวชยชัย, เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ และเพื่อน ๆ เข้าไปพบ และบอกว่า “อยากทำพรรคการเมือง”
การทำงานก่อร่างสร้างพรรคการเมืองช่วงนั้น อ้วนบอกเหมือนทำ “พรรคผี” เพราะต้องซุ่มซ่อนศึกษาหาข้อมูลไปเรื่อยๆ โดยใช้ห้องโต๊ะกลม ชั้น 30 อาคารชินวัตร 1 เป็นกองบัญชาการ
เกรียงกมล-ภูมิธรรม ดำเนินการมาแบบลับๆ ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันที่ 14 ก.ค.2541 ทักษิณจึงจดทะเบียนก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” และอ้วน ก็ได้เข้าทำงานเต็มเวลาที่อาคารชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ สี่แยกราชวัตร
นี่คือรูปธรรมของความไว้เนื้อเชื่อใจ ประหนึ่งคนในครอบครัวเดียวกัน และการวางตัวอ้วน ภูมิธรรม เป็น รมว.กลาโหม หรือ สนามไชย 1 จึงถูกที่ถูกเวลา สำหรับนายกฯหญิง คนที่ 2 ของตระกูลชินวัตร
ซ้ายจุฬาประชาชน
ปี 2567 วาระรำลึก 48 ปี 6 ตุลา เวียนมาถึงอีกครั้ง คงมีดราม่าคนเดือนตุลา กรณี ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งรัฐมนตรีกลาโหม กันพอประมาณ
อย่างไรก็ตาม อ้วน ภูมิธรรม ก็คือตัวละครในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคสงครามเย็น ผ่านสมรภูมิการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ทั้งในเมืองและป่าเขา
ภูมิธรรมหรือชื่อเดิม “วัฒนชัย เวชยชัย” นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ได้รวบรวมเพื่อนๆ จัดตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน ถือว่าเป็นพรรคนักศึกษาปีกซ้ายในจุฬา
ปี 2518 พรรคจุฬา-ประชาชน ส่ง อ้วน ภูมิธรรม ชิงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ (นายก สจม.) แต่พ่ายแพ้แก่ วีระกร คำประกอบ ตัวแทนพรรคอนุรักษนิยม
ปี 2519 พรรคจุฬา-ประชาชน แก้ตัวใหม่ส่ง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เข้าชิงนายก สจม. คราวนี้ เอนกได้รับเลือกตั้งเป็นนายก สจม. และฝั่งจุฬาฯ จึงผลักดัน สุธรรม แสงประทุม ขึ้นเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)
ปลายปี 2519 เอนก นายก สจม. นำนิสิตจุฬาฯ เข้าร่วมการชุมนุมต้านการกลับมาของจอมพลถนอมที่ธรรมศาสตร์ จนเกิดการชุมนุมใหญ่ต่อต้านเผด็จการถนอม
ช่วงการชุมนุมขับไล่จอมพลถนอมที่ลอบเข้าไทย ระหว่าง 4-6 ต.ค. 2519 อ้วน ภูมิธรรม อยู่ในทีมประเมินข่าวประเมินสถานการณ์
เช้าวันที่ 6 ต.ค. แต่ฝ่ายขวาจัดและกำลัง ตชด. ชิงลงมือปราบปรามนักศึกษา ที่ชุมนุมอยู่ในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์
ทหารพิทักษ์สหายนำ
หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 อ้วน ภูมิธรรม เดินทางไป อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ตามสายการจัดตั้งในเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตอีสานใต้ มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายใหญ่”
ปี 2520 คณะนำอีสานใต้ ส่งตัวสหายใหญ่ ไปประจำการที่หน่วยทหารพิทักษ์สหายนำ สำนัก A30 แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว
ภารกิจหลักของสหายใหญ่คือ ทำหน้าที่ขับรถและอารักขา “สหายประชา ธัญญไพบูลย์” เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) หรือมีชื่อจริงว่า “ธง แจ่มศรี”
ปี 2522 สถานการณ์พลิกผัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ขับไล่ผู้ปฏิบัติงาน พคท.ออกจากดินแดนลาวทั้งหมด จึงมีการเคลื่อนย้ายเข้า จ.น่าน และ จ.เชียงราย บางส่วนไปอยู่เมืองจีน
อ้วน หรือสหายใหญ่ จึงคืนสู่เมืองช่วงปี 2524 และได้กลับเข้าเรียนต่อ จนจบออกมาทำงานตามวิชาชีพของตัวเอง