จบแล้วพรรคจารีต “เฉลิมชัย” ซุ้มบ้านใหญ่นำ “ปชป.” สู่ธนกิจการเมือง
จูบปากคู่แค้นเก่า “เฉลิมชัย” นำ ปชป. ยุคบ้านใหญ่ สู่ “ธนกิจการเมือง” ไม่ต่างกิจสังคม ยุคมนตรี ก่อนอวสาน
ปชป.ยุคดำดิ่ง เฉลิมชัย เปลี่ยนพรรคศักดินา สู่พรรคบ้านใหญ่ จูบปากทักษิณ ปิดฉากศัตรูคู่แค้น 26 ปี
ปชป.ในกำมือ เฉลิมชัย ไม่ต่างจากกิจสังคม ยุคมนตรี พงษ์พานิช จากพรรคศักดินา สู่บทอวสานของพรรคธนกิจการเมือง
หากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีหัวหน้าพรรคชื่อ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค คงไม่มีภาพเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ส่งเทียบเชิญพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง
ว่ากันตามจริง ปชป.ได้แปรเปลี่ยนจากพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยราชสกุลปราโมช สู่พรรคบ้านใหญ่ เริ่มตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 เมื่อกรรมการบริหารพรรค ปชป.อยู่ในฝั่งของ เสี่ยต่อ เฉลิมชัย (ตอนนั้น เฉลิมชัยเป็นเลขาธิการพรรค) ลงมติเสียงข้างมากเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์
ผลการเลือกตั้งปี 2566 ปชป.เวอร์ชั่น “เพื่อนเฉลิมชัย” ได้ สส.เขต 17 คนที่มาจากปักษ์ใต้ จาก สส.ทั้งหมด 25 คน และคะแนนบัญชีรายชื่อเหลือแค่ 7 แสน (สส. 3 คน)
8 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรค ปชป. สร้างความนิยมทางการเมือง ในฐานะพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต และต่อต้านเผด็จการ กลายเป็นพรรค “บ้านใหญ่” ที่มีวิธีคิดตรงกันข้ามกับผู้นำ ปชป.รุ่นก่อน
บทเรียนกิจสังคม
ปี 2517 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รวบรวมชนชั้นนำบางกลุ่มก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็นพรรคเชิงอุดมการณ์อนุรักษนิยม ผสมเสรีนิยมแบบไทยๆ
แล้ววันหนึ่ง มนตรี พงษ์พานิช สส.อยุธยา สไตล์นักเลงลูกทุ่งกรุงเก่า เข้าร่วมทำงานการเมืองกับหม่อมคึกฤทธิ์ จนได้เป็นเลขาธิการพรรคกิจสังคม ในวัย 46 ปี
หลังเลือกตั้ง 2531 พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมสืบต่อจากหม่อมคึกฤทธิ์ แต่ศูนย์กลางอำนาจการนำพรรคอยู่ที่มนตรี ในฐานะแม่บ้านพรรค
เสี่ยหมึก มนตรี มีสไตล์ถึงลูกถึงคน มีความโดดเด่นในการเป็น “นักต่อรอง” ,“นักประสานผลประโยชน์” และ “นักเฉลี่ยผลประโยชน์” จึงยึดพรรคกิจสังคมมาเป็นของตัวเองในท้ายที่สุด
ภาพของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน กับ ปชป. ในวันนี้ ไม่ต่างจาก มนตรี พงษ์พานิช กับกิจสังคม เมื่อปี 2535 ก่อนจะเข้าสู่บทจบของมรดกการเมืองหม่อมคึกฤทธิ์ ในปี 2544
26 ปีแห่งความหลัง
นับแต่ปี 2544 จนถึงปี 2557 พรรคประชาธิปัตย์ กับ “พรรคทักษิณ” เป็นศัตรูคู่แค้น ทั้งแนวรบในสภา และนอกสภา
ปี 2544 พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของทักษิณ ได้ สส. 248 คน ขณะที่พรรค ปชป. โดยชวน หลีกภัย ได้อันดับ 2 มี สส. 128 คน
ปี 2548 ทักษิณ ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ได้ สส. 377 คน จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วน ปชป.โดยการนำของบัญญัติ บรรทัดฐาน เหลือ สส. 96 คน
ระหว่างนี้ วาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” หรือ “ธนกิจการเมือง” ที่ ปชป.ใช้เป็นแคมเปญหาเสียง ได้แปรสภาพสู่การชุมนุมโค่นระบอบทักษิณ บนท้องถนน โดยการนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
ปี 2549 ทักษิณประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ปชป.ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง งดผู้สมัคร สส. สอดประสานกับการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง
ปี 2550 พรรคทักษิณในสีเสื้อพรรคพลังประชาชน ได้ สส. 233 คน ส่วน ปชป. โดยผู้นำใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ สส.เพิ่มขึ้นเป็น 164 คน
ปี 2551 ปชป. จับมือกับกลุ่มเพื่อนเนวิน หนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ภายใต้การอำนวยความสะดวกของผู้นำกองทัพบกยุคนั้น ที่มาจากสายบูรพาพยัคฆ์
ปี 2554 พรรคทักษิณในสีเสื้อเพื่อไทย ชูยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯหญิง ได้ สส. 265 เสียง ส่วน ปชป. โดยอภิสิทธิ์ ได้ สส. 159 เสียง
ปี 2556 มีการชุมนุมของ กปปส. โดย 9 สส.ปชป. เป็นแกนนำเปิดปฏิบัติการเป่านกหวีดขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนำไปสู่การยุบสภา เลือกตั้งใหม่
ปี 2557 ปชป.ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง งดผู้สมัคร สส.อีกครั้ง คู่ขนานไปกับการชุมนุมของมวลชนนกหวีด
ปี 2562 เพื่อไทย ได้ สส. 136 คน ส่วน ปชป.เหลือ สส.เพียง 52 คน สาเหตุหลักมาจากมวลชนนกหวีด ที่เคยหนุน ปชป. หันไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ
ปี 2566 ปชป.โดยการนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ สส. 25 คน ซึ่งผลจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้เกิดการต่อสู้ 2 แนวคือ จะเอากระสุน หรือจะเอากระแส
ในที่สุด กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย ที่ถนัดการเมืองแบบบ้านใหญ่ จึงเลือกจูบปากกับพรรคทักษิณ เข้าร่วมรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง เพื่อสะสมทรัพยากรสำหรับการเลือกตั้ง สส.ครั้งต่อไป