คอลัมนิสต์

มาเหนือ “พิธา” ทัพส้มเป็นต่อ “ชินวัตร” ปิดล้อมยึด อบจ.เชียงใหม่

มาเหนือ “พิธา” ทัพส้มเป็นต่อ “ชินวัตร” ปิดล้อมยึด อบจ.เชียงใหม่

18 ก.ค. 2567

ลั่นกลองรบที่สันทราย พิธา นำทัพปิดล้อมที่มั่นชินวัตร ยึดนายก อบจ.เชียงใหม่ กระแสทักษิณถดถอย เจ๊แดงดันนายก๊อง ป้องกันแชมป์

กิจกรรมของก้าวไกล ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

 

กองทัพสีส้ม พิธา นำทัพปิดล้อมที่มั่นชินวัตร ตั้งเป้ายึดนายก อบจ.เชียงใหม่ รุกต่อเนื่อง ล้างบางท้องถิ่นเพื่อไทย ในวันที่กระแสทักษิณถดถอย 

 

เชียงใหม่เปลี่ยน ด้อมส้มมีทุกเพศวัย เบียดขับพื้นที่สีแดง ทักษิณ-เจ๊แดง เยาวภา ยังสู้ไม่ถอย ดันนายกก๊อง จัดทัพรักษาบ้านเกิดตระกูลชินวัตร 

 

ยุบพรรคก็ไม่หวั่น ชัยธวัช ตุลาธน และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมกับว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ จัดงาน “ก้าวไกล Policy Fest เจียงใหม่ เอาแต๊” ในวันเสาร์ที่ 20 ก.ค.2567 ที่ เจ สเปซ สันทราย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

 

“ก้าวไกล Policy Fest” มหกรรมนโยบายสาธารณะ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ก่อนจะเคลื่อนทัพไปที่ จ.อุดรธานี และต่อด้วย จ.เชียงใหม่

 

ก่อนหน้าจะมาถึงเชียงใหม่ ชัยธวัช-พิธา แวะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน ในวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนทัพสีส้มสู่ภาคเหนืออีกครั้งหนึ่ง

 

พรรคก้าวไกล คาดหวังสูงสำหรับศึกนายก อบจ.เชียงใหม่ และลำพูน เพราะฐานมวลชนสีส้มใน 2 จังหวัดนี้ นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ทำไมต้องสันทราย

 

หลายคนอาจสงสัย ทำไมพรรคก้าวไกล ไปจัดงาน “ก้าวไกล Policy Fest เจียงใหม่ เอาแต๊” ที่ อ.สันทราย แทนที่จะเป็น อ.เมืองเชียงใหม่

 

พ.ศ.นี้ เชียงใหม่ได้เปลี่ยนไป เนื่องจากเมืองขยาย และการเคลื่อนย้ายประชากร ซึ่งปัจจุบัน อ.สันทราย มีประชากรอาศัยอยู่เป็นอันดับ 2 ของ จ.เชียงใหม่

 

 

สภาพของ อ.สันทราย ไม่ได้เหมือนฉากหนังไทยเรื่อง “เสียงซึงที่สันทราย” เมื่อปี 2523 ซึ่งวันนี้ มีหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น พร้อมด้วยหมู่บ้านหรูแบรนด์จากกรุงเทพฯ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สันทราย กลายเป็นเมืองใหญ่

 

ดังนั้น เขตเลือกตั้งที่ 4 (อ.สันทราย ,อ.แม่ริม) พุธิตา ชัยอนันต์ พรรคก้าวไกลจึงกวาดมาได้ 62,009 คะแนน พลิกเอาชนะ วิทยา ทรงคำ อดีต สส.เชียงใหม่ 5 สมัย ที่เหลือแต้มแค่ 21,942 คะแนน

 

พุธิตา ชัยอนันต์ เป็น 1 ใน 7 สส.ก้าวไกลที่ปักธงสีส้ม ลงบนแผ่นสีแดงของเพื่อไทย และตระกูลชินวัตร

 

ต้นทุนคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ จ.เชียงใหม่ของก้าวไกล  469,436 คะแนน ทำให้แกนนำพรรคสีส้มมั่นใจว่า จะยึด อบจ.เชียงใหม่ ได้สำเร็จ

 

เมื่อ 12 เม.ย.2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โผล่สงกรานต์เชียงใหม่ และมีการแนะนำ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ รอบหนึ่งแล้วฉะนั้น วันที่ 20 ก.ค.นี้ จะเป็นการเปิดตัวพันธุ์อาจ อย่างเป็นทางการ 

สู้บ้านเกิดชินวัตร

 

พรรคเพื่อไทย มี สส.เชียงใหม่ 2 คนคือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และศรีโสภา โกฎคำลือ เป็นความปราชัยแบบหมดรูปในรอบ 20 ปี ดังนั้น สมรภูมิ อบจ.เชียงใหม่ เป็นหมุดหมายแรกที่ทักษิณ ชินวัตรจะต้องกอบกู้ศรัทธาของคนเมืองคืนมา

 

ทักษิณจึงไปร่วมฉลองสงกรานต์เชียงใหม่ 3 วัน และจัดงานสระเกล้าดำหัวบายศรีสู่ขวัญล้านนาที่บ้านเจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ปูทางวางแผนทวงคืนเชียงใหม่

 

พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ พร้อมที่จะลงสนามนายก อบจ.สมัยที่ 2 จึงมีการลุยจัดทัพ สจ.ในทุกอำเภอ และดึงตัว สจ. และผู้นำท้องถิ่นสายตระกูลบูรณุปกรณ์ เข้ามาเสริมทีมด้วย

 

ตัวละครลับของทักษิณคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มี สส.เชียงใหม่ พลังประชารัฐ 1 คน อย่างนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ เป็น สส.เขต 9 โซน อ.จอมทอง อ.ดอยหล่อ 

 

ร.อ.ธรรมนัส ยังมีเครือข่ายอดีตผู้สมัคร สส. และอดีต สส.เชียงใหม่อีกหลายคนที่จะพร้อมจะหนุนนายกก๊อง 

 

กระแสเพื่อไทยตกเป็นรองก้าวไกล ทักษิณ-เจ๊แดง คงจะอาศัยกลไกจัดตั้งของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น บวกด้วยคะแนนนิยมทักษิณที่ยังพอมีอยู่ ซึ่งนายกก๊องประกาศล่วงหน้า ทักษิณจะไปพบชาวเชียงใหม่ทุกอำเภอ

 

สมรภูมินายก อบจ.เชียงใหม่ ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2568 จึงเป็นการต่อสู้ของ “กระแสสีส้ม” กับกลยุทธ์ “บ้านใหญ่ชินวัตร”