คอลัมนิสต์

สงกรานต์เดือด ‘กะเหรี่ยง KNU’ ป้อง ‘เมียวดี’ เดิมพันนายพลโซวิน

สงกรานต์สาดกระสุน เมียวดีไม่ปลอดภัย กะเหรี่ยง KNU ต้านทัพใหญ่นายพลโซวิน จับตาตัวแปรกะเหรี่ยง KNA ต่อรองรักษาขุมทรัพย์สีเทา

สงกรานต์สงคราม เมียวดียังไม่ปลอดภัย กะเหรี่ยง KNU รวมพลต้านทัพทหารเมียนมา รุกใหญ่ชิงคืนพื้นที่ จับตาตัวแปรกะเหรี่ยง KNA


กะเหรี่ยง KNU เตรียมเข้าบริหารเมียวดี ประกาศจุดยืนไม่เอาทุนจีนสีเทา กะเหรี่ยง KNA ที่คุมเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่-เคเคพาร์ค จะเอายังไง


สถานการณ์ในเมืองเมียวดี ยังไม่นิ่ง ทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ขยับเข้าตัวเมืองไม่ได้ เพราะกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ(KNA) ของ พ.อ.ซอ ชิดตู่ ยังควบคุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจ
 

ขณะที่ทหารกองทัพเมียนมา จากกองบัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมืองมะละแหม่ง มุ่งหน้าสู่เมืองเมียวดี ทหารกะเหรี่ยง KNLA และ PDF สกัดทัพใหญ่กรมทหารราบที่ 55 ที่เมืองกอกะเร็ก


คาดว่า ช่วงสงกรานต์ทางฝั่งเมืองเมียวดี การสู้รบบนทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 (AH1) จากเมืองกอกะเร็ก-เมียวดี จะดุเดือดรุนแรงขึ้น เพราะ พล.อ.อาวุโส โซวิน ผบ.ทบ.เมียนมา มาบัญชาการทัพเอง


จริงๆ แล้ว พล.อ.อาวุโส โซวิน ผบ.ทบ. ยังต่อสายพูดคุยกับ พ.อ.ซอ ชิดตู่ หรือหม่องชิดตู่ได้ และสถานการณ์สงครามชิงเมียวดี อาจทำให้หม่องชิดตู่ พลิกขั้วอีกครั้ง


ล่าสุด สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ภายใต้การนำของ ซอ กวยทูวิน ออกแถลงการณ์หลังยึดค่ายผาซอง กองพัน 275 ว่า แม้จะยึดฐานได้แล้ว แต่ยังต้องมีปฏิบัติการทางทหาร เพื่อสกัดกั้น และขัดขวางกองทัพรัฐบาลมินอ่องหล่าย โดย KNU มีความกังวลต่อความปลอดภัยของประชาชน 2 ฝั่งไทย-เมียนมา 

 

 

ศึกชิงเมืองเมียวดี เดิมพันอนาคต นายพลโซวิน ผบ.ทบ.


 

อีกด้านหนึ่ง หากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ได้ปกครองเมืองเมียวดีแทนสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) อาจนำมาซึ่งความแตกแยกในกองทัพกะเหรี่ยง 6 กลุ่มที่อยู่ใต้ร่มธง KNU ก็เป็นได้
 

ผ่ากองทัพกะเหรี่ยง
กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เป็นกองทัพหลัก แบ่งออกเป็น 7 กองพล โดยมี พล.อ.ซอ จ่อนี่ หรือนายพลจอห์นนี่ เป็น ผบ.สส. และ พล.ท.บอจ่อแฮ เป็นรอง ผบ.สส.


โครงสร้างกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ประกอบด้วยกองพล 1 จ.ดูตะทู หรือ จ.สะเทิม ควบคุมพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงบางส่วน และรัฐมอญตอนบน


กองพล 2 จ.ตองอู ควบคุมพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงตอนบน และภาคพะโค


กองพล 3 จ.เกลอะ-ลวีทู ควบคุมพื้นที่ภาคพะโคด้านตะวันออกบางส่วน


กองพล 4 จ.มะริด-ทวาย ควบคุมพื้นที่ภาคตะนาวศรี ตรงข้าม จ.ประจวบคีรีขันธ์


กองพล 5 จ.มูตรอ หรือ จ.ผาปูน ควบคุมรัฐกะเหรี่ยงตอนเหนือ ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน


กองพล 6 จ.ดูปลายา ควบคุมพื้นที่ จ.กอกะเร็ก และ จ.เมียวดีตรงข้าม จ.ตาก, จ.ราชบุรี และบางส่วน จ.กาญจนบุรี


กองพล 7 จ.ผาอัน ควบคุมพื้นที่ตอนกลางรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม จ.กาญจนบุรี


ผู้นำทหารแต่ละกองพลของ KNLA ก็มีจุดยืนต่างกัน กองพล 1 2 3 4 และ 7 เห็นด้วยกับ พล.อ.มูตูเซโพ อดีตประธาน KNU ที่ต้องเข้าร่วมโต๊ะเจรจากับมินอ่องหล่าย 


ส่วนกองพล 5,6 ต้องชิงรุกทางการทหาร ประสานกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) โค่นเผด็จการทหารเมียนมา

 

 

แตกแล้วโต
สำหรับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่แยกตัวมาจาก KNLA


สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (KNLA-PC) แยกตัวจาก KNLA มีผู้นำกองทัพคือ พล.อ.ซอ เทาะ เล 


องค์การป้องกันชาติกะเหรี่ยง(KNDO) มี พล.ต.ซอ ซีเล เป็นผู้นำ ซึ่งฐานที่มั่น KNDO ใน จ.กอกะเร็ก เป็นแหล่งฝึกกำลังพล PDF 


กองทัพกอทูเล (KTLA) นำโดย นายพลเนอดา เมียะ ลูกชายคนโตของนายพลโบเมี้ยะ กองทัพ KTLA เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2565


กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) แปรพักตร์มาจากกองทัพเมียนมา มี พ.อ. ซอ ซานอ่อง และ พ.อ.ซอ จ่อเท็ต เป็นผู้นำ และเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ดูปลายา


กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) หรืออดีตกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(BGF) มี พ.อ.ซอ ชิดตู่ หรือหม่องชิดตู่ เป็นผู้บัญชาการ ควบคุมดูแล จ.เมียวดี 


หม่อง ชิดตู่ นำกองกำลัง BGF กลับเข้ามาอยู่ใต้ร่มธง KNU เมื่อต้นปี 2567 หลังขัดแย้งกับสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC)  


ดังนั้น เมื่อเจาะลึกกองกำลังติดอาวุธ 6 กลุ่ม ใต้ร่มธง KNU จะมีกลุ่มเดียวที่ค่อนข้างเป็นอิสระ และมีอำนาจต่อรองคือ KNA ของหม่องชิดตู่


เวลานี้ หม่องชิดตู่ กำลังทำตัวเป็นมือประสานสิบทิศ เจรจาทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น SAC หรือ KNU เพื่อรักษาเป็นประตูการค้าด่านสะพานมิตร ภาพฯ ทั้ง 2 แห่ง และอาณาจักรทุนจีนสีเทา

 

 

ข่าวยอดนิยม