
ย้อนรอย 22 ปี ‘ทักษิณ’ แพ้แต่ไม่พ่าย ‘เชียงใหม่’ เมืองหลวงชินวัตร
22 ปี เชียงใหม่เปลี่ยน จากเมืองหลวงชินวัตร กลายเป็นแผ่นดินสีส้ม ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ หวังปลุกฟื้นเพื่อไทยให้เป็นพรรคแห่งความหวังของคนล้านนา
22 ปี สมรภูมิบ้านเกิด ทักษิณ ชนะ 5 สมัยรวด สะดุดแพ้ 1 สมัย เชียงใหม่ เปลี่ยนไปแล้วหรือ จากยุคมนต์รักลูกข้าวนึ่ง สู่การเมืองเชิงอุดมการณ์
22 ปี เชียงใหม่เปลี่ยน จากเมืองหลวงชินวัตร กลายเป็นแผ่นดินสีส้ม ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ หวังปลุกฟื้นเพื่อไทยให้เป็นพรรคแห่งความหวังของคนล้านนา
ถ้ายังจำกันได้ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมากราบแผ่นดินครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
ช่วงสงกรานต์ วันที่ 11-13 เม.ย. 2551 ทักษิณ และครอบครัวเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ร่วมกิจกรรมพิธีสะเกล้า ดำหัว ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง, ทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ และตระเวนทำบุญไหว้พระธาตุ ทั้งในเชียงใหม่ และลำพูน
ระหว่างที่ทักษิณกลับมาเล่นสงกรานต์เชียงใหม่ มีมวลชนหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน มาต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งในเวลานั้น ยังใช้ชื่อสมาพันธ์คนรากหญ้าภาคเหนือ และกลุ่มคนรักทักษิณเชียงใหม่
เชียงใหม่แพ้ไม่ได้
ปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร นำทัพพรรคไทยรักไทย เข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง สส.ครั้งแรก โดยสนามเชียงใหม่ ทักษิณมอบให้น้องสาว เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นแม่ทัพใหญ่
เจ๊แดง เยาวภา เจรจากับ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม และอดีต สส.บ้านใหญ่จากหลายพรรคมาอยู่ใต้ร่มธงไทยรักไทย และส่งผู้สมัคร สส.เชียงใหม่ครบ 10 เขต
ปีนั้น พรรคไทยรักไทย ได้ สส. 9 ที่นั่ง และคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ได้ 413,017 คะแนน ส่วนพรรค ปชป. ได้ 1 ที่นั่งคือ ยงยุทธ สุวภาพ
ปี 2548 พรรค ทรท. กวาด สส.เชียงใหม่ยกจังหวัด 10 ที่นั่ง และคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ได้ 625,289 คะแนน
ปี 2550 พรรคพลังประชาชน(หลังมีการยุบพรรค ทรท.) ได้ สส.เชียงใหม่ 9 ที่นั่งจากทั้งหมด 11 ที่นั่ง และคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 479,162 คะแนน
ส่วนอีก 2 ที่นั่งคือ ไกร ดาบธรรม พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และ นรพล ตันติมนตรี พรรคเพื่อแผ่นดิน
ปี 2554 พรรคเพื่อไทย(หลังยุบพรรค พปช.) ได้ สส.เชียงใหม่ยกจังหวัด 10 ที่นั่ง และคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ได้ 606,897 คะแนน
ปี 2562 พรรคเพื่อไทย ได้ สส.เชียงใหม่ยกจังหวัด 9 ที่นั่ง และคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 381,292 คะแนน
ภายหลัง กกต.แจกใบส้มให้ผู้สมัคร สส.เพื่อไทย จึงมีการเลือกตั้งซ่อม ปรากฏว่า ศรีนวล บุญลือ พรรคอนาคตใหม่ ได้รับเลือกเป็น สส. ต่อมา ศรีนวลถูกขับออกจากพรรค และย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย
จะเห็นได้ว่า ‘พรรคทักษิณ’ ชนะเลือกตั้งในสมรภูมิเชียงใหม่ทั้ง 5 ครั้ง จึงมีการเรียกขานว่า เชียงใหม่เป็นเมืองหลวง(ทางการเมือง) ของตระกูลชินวัตร
เชียงใหม่สีส้ม
ปี 2566 เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคนเชียงใหม่ เมื่อพรรคของทักษิณพ่ายแพ้อย่างเหลือเชื่อ พรรคเพื่อไทย เหลือ สส. 2 ที่นั่ง จากทั้งหมด 10 ที่นั่งและคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 358,286 คะแนน
ส่วนพรรคก้าวไกล ได้ สส. 7 ที่นั่ง และคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 469,436 คะแนน ซึ่ง สส.หน้าใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากลูกชาวบ้าน ไม่ได้เป็นลูกหลานบ้านใหญ่
เขต 1 พลอย-เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ลูกสาวไพรัช ใหม่ชมภู อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม
เขต 2 ครีม-การณิก จันทดา อดีตเภสัชกรประจำร้านยาบริษัทเอกชน และอดีตพนักงานต้อนรับสายการบินต่างประเทศ
เขต 3 ก๊อป-ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล บุตรชายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
เขต 4 จีน-พุธิตา ชัยอนันต์ อดีตอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน และอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
เขต 6 นินนี่-อรพรรณ จันตาเรือง ลูกสาวเกษตรกร และอดีตรองนายก อบต.เชียงดาว
เขต 7 กว้าง-สมดุลย์ อุตเจริญ เกษตรกรเจ้าของสวนส้ม
เขต 8 ตี๋-ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ วิศวกรและเจ้าของธุรกิจส่วนตัว
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้ สส.เชียงใหม่ เพียง 2 ที่นั่งคือ เขต 5 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเขต 10 ศรีโสภา โกฏคำลือ
ด้วยเหตุนี้ ทักษิณ จึงต้องกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดช่วงวันที่ 14-16 มี.ค. 2567 และปฏิเสธไม่ได้ว่า งานนี้เกี่ยวกับการทวงคืนเมืองหลวงชินวัตรในอนาคต