คอลัมนิสต์

เปิดเรือนรัก ‘ทักษิณ-พจมาน’ สู่บ้าน ‘จันทร์ส่องหล้า’ คฤหาสน์พักโทษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดคฤหาสน์พักโทษ บ้านจันทร์ส่องหล้า จากเรือนรัก ทักษิณ-พจมาน สู่อาณาจักรอัศวินคลื่นลูกที่สาม และอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ทรงอิทธิพล

ย้อนรอย บ้านจันทร์ส่องหล้า เรือนรัก ทักษิณ-พจมาน จากบ้านหลังเล็ก สู่คฤหาสน์อัศวินคลื่นลูกที่สาม และอดีตนายกฯผู้มากบารมี


พ.ศ.นี้ บ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นสถานที่พักโทษทักษิณ และศูนย์อำนาจใหม่เพื่อไทย ถนนการเมืองทุกสายมุ่งหน้าสู่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69


วันที่ 18 ก.พ. 2567 เป็นวันครบกำหนดการรับโทษวันที่ 180 ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์ 

ดังนั้น ทักษิณที่เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ และพักอยู่ที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา จะได้ย้ายกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งถูกระบุว่า เป็นสถานที่พักโทษ 


บ้านจันทร์ส่องหล้า จึงได้รับความสนใจผู้คนอีกครั้ง รวมถึงกองทัพนักข่าวได้แวะเวียนไปสำรวจคฤหาสน์หลังแรกของตระกูลชินวัตร ภายในซอยจรัลสนิทวงศ์ 69


ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มาซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่ในซอยแห่งนี้เป็นเวลามากกว่า 41 ปี ตั้งแต่เป็นบ้านเดี่ยวหลังเล็กๆ จนกลายเป็นคฤหาสน์ใหญ่โตโอฬาร 


บ้านจันทร์ส่องหล้า ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 472-474 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 แยก 4 แขวงและเขตบางพลัด กทม.
 

บ้านทรายทองในฝัน
ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เข้าพิธีสมรสช่วงกลางปี 2519 ก่อนจะไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกา และคลอดลูกชาย โอ๊ค-พานทองแท้ ที่เมืองฮันต์สวิลล์  รัฐเท็กซัส

 

 

ครอบครัวชินวัตร ภายในบ้านจันทร์ส่องหล้า สมัยทักษิณเป็นนายกฯ

.


ปี 2525 ทักษิณ-พจมาน มีลูกคนที่สองคือ เอม-พิณทองทา จึงได้หาที่ดินปลูกบ้าน และสร้างบ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆ อยู่ในซอยจรัลสนิทวงศ์ 69 


เวลานั้น ทักษิณเพิ่งประสบความล้มเหลวจากธุรกิจผ้าไหม กิจการโรงหนังใน จ.เชียงใหม่ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ


“สมัยเด็กๆ เรายังนอนรวมกันพ่อแม่ลูก ผมกับเอมปูพื้นนอนข้างล่าง พ่อแม่นอนบนเตียง” โอ๊ค พานทองแท้ เล่าความหลังครั้งที่พ่อกำลังก่อร่างสร้างตัว


เวลานั้น ทักษิณ-พจมาน หันมาก่อตั้งบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ให้หน่วยงานราชการเช่าคอมพิวเตอร์ และยังวิ่งแลกเช็ค เพื่อนำเงินไปประมูลงานภาครัฐ


ปี 2526 ทักษิณลุยธุรกิจวิทยุติดตามตัวและให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากชินวัตรคอมพิวเตอร์ กลายเป็นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) 


บ้านจันทร์ส่องหล้า จึงได้ขยับขยายออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นอาณาจักรตระกูลชินวัตร ไม่ต่างจากคฤหาสน์บ้านทรายทอง ในหนังไทยที่มีนางเอกชื่อ พจมาน


ปัจจุบัน ภายในบ้านจันทร์ส่องหล้า มีบ้าน 2 หลัง โดยคฤหาสน์หลังใหญ่ ล้อมรอบด้วยกำแพงสีขาวมุก มีประตูทางเข้า-ออก 2 ทาง ซึ่งเป็นที่พักของครอบครัวทักษิณ-พจมาน 


ส่วนบ้านหลังเล็ก ด้านหน้ารั้วสีอิฐและมีป้ายเขียนว่า ‘จันทร์ส่องหล้า’ เคยเป็นที่พักของสื่อมวลชน และที่จอดรถ


นับแต่ ทักษิณ ชินวัตร หนีออกจากเมืองไทยไปเมื่อปี 2551 คุณหญิงพจมาน ก็ได้ไปสร้างบ้านหลังที่ 2 อยู่ย่านรามอินทรา และระยะหลังได้ย้ายครอบครัวไปรวมกันอยู่ที่คฤหาสน์หลังใหม่ 

 

วังจันทร์ส่องหล้า
เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2544 และทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี บ้านจันทร์ส่องหล้า กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง


เนื่องจากพรรคไทยรักไทย มี สส.มากกว่า 200 คน แบ่งแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ มากกว่า 10 มุ้ง ซึ่งกลุ่มวังบัวบาน ภายใต้การนำของ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นมุ้งที่ใหญ่ที่สุด มี สส.ประมาณ 60 คน


แต่ที่ทรงพลังมากที่สุดกลับเป็น ‘วังจันทร์ส่องหล้า’ หมายถึงกลุ่มนักการเมืองที่ใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน อย่างเช่น นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และภูมิธรรม เวชยชัย


นอกจากนี้ บ้านจันทร์ส่องหล้า ยังเคยเป็นสถานที่รับรองผู้นำระดับโลกอย่าง จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งมาเยือนประเทศไทย และบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงที่ประเทศไทยประสบเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ


เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2551 ทักษิณ ได้ฉลองวันเกิดครบรอบปีที่ 59 พร้อมครอบครัว ภายในบ้านจันทร์ส่องหล้า ก่อนจะหลบหนีออกนอกประเทศครั้งที่ 2


นับจากวันนั้น จนถึงวันที่ 18 ก.พ.2567 ถือว่าเป็นหนแรกในรอบ 15 ปีที่ทักษิณจะได้หวนกลับไปนอนในบ้านจันทร์ส่องหล้าอีกครั้ง 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ