คอลัมนิสต์

คู่เอก ‘อุ๊งอิ๊ง’ วางเดิมพันยกแรก ‘พิธา’ ฝ่าสมรภูมินายก อบจ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โหมโรงศึกท้องถิ่น อุ๊งอิ๊ง วัดศรัทธาบารมี พิธา ยกแรก ก้าวไกล เตรียมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. เพื่อไทย-ก้าวไกล วางเดิมพันอนาคตสนามใหญ่

สมรภูมิท้องถิ่น อุ๊งอิ๊ง วัดศรัทธาบารมี พิธา ยกแรก โหมโรงศึกนายก อบจ.ตลอดปี 2567 เพื่อไทย-ก้าวไกล เดิมพันอนาคตสนามใหญ่


4 ปีที่แล้ว ศึกนายก อบจ. ธนาธร พ่ายยับ เพื่อไทยก็ไม่เข้าเป้า เหตุบ้านใหญ่ไม่เลือกสวมเสื้อพรรคการเมืองลงสนาม 


ช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. 2566 อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ควง สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค ลงพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.น่าน เพื่อพบปะสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ห้วงเวลาเดียวกัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เข้าร่วมงานสัมมนาท้องถิ่นก้าวหน้า ประจำปี 2566 และเป็นผู้ บรรยายในหัวข้อ ความสำคัญของท้องถิ่นในการเมืองระดับชาติ


ทีมงานพรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยว่า ระหว่างนี้กำลังดำเนินการคัดสรรผู้สมัครนายก อบจ. คาดว่า ช่วงกลางเดือน ม.ค.2567 จะมีการเปิดตัวได้ในบางจังหวัด ซึ่งการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ คาดการณ์ว่าน่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2568 


แม้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อช่วงนี้ว่า ตนเองยังถือว่าพรรคเพื่อไทยเป็นมิตร และชาวสีส้มผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล ล้วนเป็นผลิตผลของพรรคไทยรักไทย แต่ในโซเชียลมีเดียวันนี้ ก้าวไกลและเพื่อไทย ยังเป็นคู่รักคู่แค้นเหมือนเดิม 


ดังนั้น ศึกแรกที่จะได้เห็นการเผชิญหน้ากันของค่ายสีแดง และค่ายสีส้ม ก็คือสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ 

จุดอ่อนเพื่อไทย
การเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ ปี 2563 คณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 42 จังหวัด ปรากฏว่า ไม่ได้รับเลือกแม้แต่จังหวัดเดียว


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จึงปรับขบวนใหม่ โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งต่อไป ยกให้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล เหมือนตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภา กทม. 


ทีมกุนซือก้าวไกล คงประเมินแล้ว แบรนด์สีส้มแท้ๆ น่าจะช่วยผู้สมัครนายก อบจ. ได้ดีกว่าแบรนด์คณะก้าวหน้า

 

อีกด้านหนึ่ง พรรคก้าวไกล กำลังเร่งขยายสาขาพรรคทั่วประเทศ และนับจากนี้ไป สาขาพรรคจะมีบทบาทกับการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น


สำหรับพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการ สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่มี สส.หลายคนเสนออุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้เตรียมการเรื่องการเลือกตั้งนายก อบจ.ด้วย


สมัยที่แล้ว พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 25 จังหวัด และได้รับเลือกเพียง 9 จังหวัด ซึ่งในครั้งนั้น ทางพรรคเองยังไม่มีความพร้อมมากนัก


ประกอบกับกลุ่มบ้านใหญ่ แยกการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่น ฉะนั้น เวลาลงสนามท้องถิ่น บ้านใหญ่จึงไม่นิยมสวมเสื้อพรรคใดพรรคหนึ่ง 

 

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เริ่มเดินสายพบสาขาพรรคในภาคเหนือ

 


เมื่ออุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรค และหากมีการประกาศลุยสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เต็มตัว กลุ่มบ้านใหญก็คงต้องปรับแผนใหม่

 

พิสูจน์กระแสอุ๊งอิ๊ง
ย้อนไปปี 2563 พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครนายก อบจ. 25 จังหวัด และได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. 9 คน


ภาคอีสาน 4 คนคือ วิเชียร ขาวขำ อุดรธานี, กานต์ กัลป์ตินันท์อุบลราชธานี ,วิเชียร สมวงศ์  ยโสธร และ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ มุกดาหาร


ภาคเหนือ 5 คนคือ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เชียงใหม่, อนุสรณ์ วงศ์วรรณลำพูน, นพรัตน์ ถาวงศ์ น่าน, ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ลำปาง และ อนุวัธ วงศ์วรรณ แพร่


ภาคกลาง ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 9 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, ระยอง, นครนายก, ปราจีนบุรี, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, ประจวบคีรี ขันธ์ และสิงห์บุรี ปรากฏว่า ปราชัยทุกสนาม


สาเหตุที่เพื่อไทยประสบความพ่ายแพ้ในภาคกลาง มาจากการส่งผู้สมัครหน้าใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองบ้านใหญ่ 


ส่วนบ้านใหญ่ที่เคยสังกัดพรรคเพื่อไทย ได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ บวกกับบ้านใหญ่บางกลุ่มก็ไม่อยากสวมเสื้อพรรคการเมือง


อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ที่มีอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เดินสายหาเสียงเต็มรูปแบบ ในการเลือกตั้งซ่อมนายก อบจ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี 2565 อาจเป็นโมเดลการเมืองท้องถิ่นของค่ายสีแดง ในปี 2568
    

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ