ไม่ตรงปก เศรษฐา แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 50 ล้านคน เล่นเกมเสี่ยง ออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ฝ่าด่าน สว. และวัดใจองค์กรอิสระ
ฉายหนังซ้ำ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท อาจเหมือน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก เหตุไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ในที่สุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดการแถลงข่าวโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ลุยกู้ 5 แสนล้านบาท แจก 50 ล้านคน
“..ไม่ใช่เพียงแค่ความฝัน แต่เป็นความจริง” นายกฯเศรษฐา กล่าวย้ำและให้ความมั่นใจกับประชาชน
ความจริงที่ว่าชาวบ้านจะได้รับเงิน 10,000 บาทนั้น ก็ต้องผ่านด่านเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ให้ได้เสียก่อน
เมื่อรัฐบาลเศรษฐา จะมีการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้น ต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฏีกา เพื่อให้เกิดความรอบคอบและรัดกุม
ไทม์ไลน์โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องใช้ระยะเวลาในการตีความโดยกฤษฏีกา และกระบวนการทำกฎหมายเงินกู้ให้จบในช่วงปลายปีนี้
ต้นปี 2567 พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท น่าจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ หากผ่าน 3 วาระแล้ว ก็ต้องไปผ่านขั้นตอนวุฒิสภาอีกชั้นหนึ่ง
“ทุกอย่างที่ผมแถลงไปวันนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และได้รับมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทำงานอย่างรัดกุม ก่อนจะเข้า ครม. เพื่อให้ได้รับอนุมัติอย่างชัดเจนต่อไป” นายกฯเศรษฐา กล่าว
บทเรียนจากโครงการจำนำข้าว และ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้นายกฯเศรษฐา ต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฏีกา
กู้มาแจก
การตัดสินใจเลือกแหล่งเงินทุนในโครงการ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยการออกพระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ถือว่ารัฐบาลเศรษฐา ได้ยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน
“ผมมั่นใจว่า ในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561”
พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว ในชั้นสภาผู้แทนฯ ไม่น่ามีปัญหา เพราะเสียง สส.พรรคร่วมรัฐบาลเพียงพออยู่ หากจะมีปัญหาก็ในการพิจารณาของวุฒิสภา
อย่างไรก็ตาม ถ้าวุฒิสภาตีตก รัฐบาลเศรษฐา คงนำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวมาให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาเพื่อยืนยันอีกครั้ง ก็สามารถออกเป็นกฎหมายได้
ระยะเวลาขั้นตอนในรัฐสภา สำหรับ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน น่าจะเกินเดือน พ.ค. และกว่าจะได้ใช้เงินหมื่น ก็คงปลายปี 2567
ฝ่าด่านองค์กรอิสระ
แม้ว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน จะผ่านที่ประชุมรัฐสภา ก็ต้องผ่านด่านองค์กรอิสระ เพราะระหว่างที่รอการนำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้า อาจมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า กรณีกู้เงินนี้ มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่
เวลานี้ นักการเมืองฝ่ายค้านออกโรงมาดักคอแล้วว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ที่มีระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น
การแจกเงินตามนโยบายประชานิยม มีความเร่งด่วนหรือไม่ และอาจซ้ำรอย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก
ดังที่รู้กัน เส้นทางนโยบายแจกเงินดิจิทัล เหมือนไต่เส้นลวด เพราะคู่แค้นเดิมของระบอบทักษิณ จะไม่ปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินไปได้โดยไม่มีเสียงค้าน
ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน
นอกจากนี้ กกต. มีหน้าที่ตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ที่หาเสียงแล้วปฏิบัติไม่ได้จริง ไม่ได้ทำตามที่หาเสียง ซึ่งตอนนี้ ก็มีผู้ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบโครงเงินดิจิทัลวอลเลตแล้ว
นัยว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลนั้น ไม่ตรงปก ซึ่ง กกต. ก็มีหน้าที่พิจารณาว่า เป็นไปตามที่ร้องว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่
อภิมหาประชานิยมของเพื่อไทย แจกเงินหมื่นตอนหาเสียงดูเหมือนจะปัง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง