คอลัมนิสต์

เขื่อนของแสลง ‘สมศักดิ์’ น้ำท่วมสุโขทัย ‘ธรรมนัส’ เอาไงดี

เขื่อนของแสลง ‘สมศักดิ์’ น้ำท่วมสุโขทัย ‘ธรรมนัส’ เอาไงดี

02 ต.ค. 2566

ฤดูกาลน้ำท่วมสุโขทัย สมศักดิ์ มีทางแก้แต่พูดยาก น้ำยมไม่มีเขื่อน รอวัดใจ ธรรมนัส เอายังไงดี แก่งเสือเต้นจะมาอีกรอบหรือไม่

น้ำท่วมสุโขทัย สมศักดิ์ เจอท่วมประจำปี น้ำยมไม่มีเขื่อน วัดใจธรรมนัส เอายังไง แก่งเสือเต้นจะมาอีกรอบหรือไม่


เลือกตั้งเที่ยวนี้ เพื่อไทยได้ สส.สุโขทัยยกจังหวัด แต่ สมศักดิ์ พลาดคุมเกษตรฯ เหมือนสมัยที่แล้ว จะแก้น้ำท่วมสูตรไหน


ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย โดยร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อสรุปสถานการณ์น้ำท่วมและแนวทางการแก้ปัญหา

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมสุโขทัย อาจกล่าวได้เป็นฤดูน้ำท่วมประจำปี เพราะเดือนต.ค. ของทุกปี เมื่อพายุเข้า ฝนตกหนักทาง จ.แพร่ และต้นน้ำ จ.พะเยา น้ำยมจะไหลบ่าเข้าท่วมตัวอำเภอรอบนอก และตัวเมืองสุโขทัย

 

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน และทีม สส.สุโขทัย วางแผนป้องกันน้ำท่วมสุโขทัย

 


“ขอยืนยันว่าผมทำงานการเมืองมา 40 ปี เห็นปัญหานี้มาโดยตลอด จะพยายามแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” สมศักดิ์ กล่าว


ในมุมมองของภาคส่วนราชการ แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำสายเดียว ที่ไม่มีเขื่อนรองรับ ทำให้น้ำเกิดน้ำท่วม เพราะมวลน้ำที่ไหลมา มีจำนวนมาก ส่วนภาคประชาชน และเอ็นจีโอก็เห็นตรงข้าม จึงคัดค้านการสร้างเขื่อนบนลำน้ำยม


รวมถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้พยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กั้นน้ำยมตอนบนมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ 


อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ และกรมชลประทาน ได้มีแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา โดยจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2568


น้ำปี้เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำยม หากก่อสร้างเขื่อนน้ำปี้เสร็จแล้ว จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลแม่น้ำยมได้ส่วนหนึ่ง 

สุโขทัยสีแดง
ต้นปี 2566 สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ลาพรรคพลังประชารัฐ กลับพรรคเพื่อไทย ด้วยหวังที่จะกวาด สส.สุโขทัย และ สส.ภาคเหนือตอนล่างให้ได้มากที่สุด


สมศักดิ์ ยังฝันที่จะได้นั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มวังน้ำยม 


สำหรับการเลือกตั้ง สส.สุโขทัย ครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ตามเป้าคือ 4 ที่นั่ง ประกอบด้วย พรรณสิริ กุลนาถศิริ, ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง, ประภาพร ทองปากน้ำ และจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล 


สมศักดิ์ยังได้ สส.พิษณุโลก อีก 2 คนมาอยู่ในกลุ่มวังน้ำยม แต่เนื่องจากเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ ต้องจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว สมศักดิ์ จึงชวดเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์


เหนืออื่นใด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้นั่ง รมว.เกษตรฯ ชนิดหักปากกาเซียนเพื่อไทย และอย่างที่ทราบกัน สมัยอยู่พลังประชารัฐระยะหลังๆ สมศักดิ์-ธรรมนัส เดินกันคนละทาง 

 

 

ของแสลงแก่งเสือเต้น
สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น สส.สุโขทัย มา 8-9 สมัย ตระหนักดีว่า การผลักดันโครงการสร้างเขื่อนบนลำน้ำยมแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้


“ผมไม่กล้าหวังที่จะให้มีการสร้างเขื่อน..หลายครั้งที่เราพูดคุยเรื่องเขื่อนก็จะมีปัญหา ผมจึงไม่อยากพูด”


ปี 2563 สมศักดิ์ เทพสุทิน นั่ง รมว.ยุติธรรม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่ง รมช.เกษตรฯ ก็มีข่าวว่า 2 รัฐมนตรีพลังประชารัฐ จะปัดฝุ่นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น


หลังจากนั้น เอ็นจีโอ และขบวนการภาคประชาชน ก็ดาหน้าออกมาส่งเสียงหยุดปลุกผีแก่งเสือเต้น จึงทำให้ สมศักดิ์ และ ร.อ.ธรรมนัส ต้องถอยทัพ


เฉพาะคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ขอให้ถอดถอนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ออกจากแผนเจ้าพระยาเดลต้า 2040 และเสนอแผนสะเอียบโมเดล โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ฯลฯ


อ่านใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในวันนี้ คงไม่คิดจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกแล้ว ระยะหลัง ผู้กองธรรมนัส มีความใกล้ชิดกับขบวนการภาคประชาชน และกลุ่มเอ็นจีโอมากเป็นพิเศษ


ฉะนั้น สมศักดิ์ เทพสุทิน คงต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยต่อไป และบางปีก็อาจจะมีข่าวน้ำท่วมบ้านรัฐมนตรีที่ศรีสำโรง