คอลัมนิสต์

โจทย์หินซีอีโอ ‘เศรษฐา’ ในเงาขุนพล ‘เถ้าแก่’ พ่วงทีมลูกสาว

โจทย์หินซีอีโอ ‘เศรษฐา’ ในเงาขุนพล ‘เถ้าแก่’ พ่วงทีมลูกสาว

19 ก.ย. 2566

17 ปี รัฐประหาร 19 กันยา เศรษฐา ซีอีโอในเงาเถ้าแก่ ทักษิณเลือกประนีประนอม ลูกสาวรอสุกงอม พร้อมนำทัพลุยสมรภูมิครั้งใหม่

แม่ทัพสไตล์ดุดัน เศรษฐา คิดไวทำไว ในเงาทีมทักษิณ บวกอุ๊งอิ๊ง คือโจทย์ใหญ่รัฐบาลพิเศษ เวอร์ชั่นอนุรักษนิยมใหม่ 


ครบรอบ 17 ปี รัฐประหาร 19 กันยา เศรษฐาย่ำรอยประชุมยูเอ็น ทักษิณเลือกประนีประนอม ลูกสาวรอเวลาสุกงอม พร้อมเป็นผู้นำ


วันที่ 19 ก.ย. 2549 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

ขณะที่ประเทศไทย ตกอยู่ใต้เงาปืนอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก นำคณะก่อการยึดอำนาจรัฐบาลพรรคไทนรักไทย และฉีกรัฐธรรมนูญ 2540


17 ปีผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยน ทักษิณ เดินทางกลับไทยเข้าสู่กระ บวนการยุติธรรม พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 11 พรรค ที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี


19 ก.ย. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมคณะ จะเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา


ช่วงเวลาไม่ถึงเดือนในการเข้ามาบริหารประเทศ นายกฯเศรษฐา ได้โชว์ภาพความเป็นผู้นำคิดเร็ว ทำเร็ว ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 


นี่คือตัวตนของซีอีโอเศรษฐา ที่รู้จักดีในอาณาจักรแสนสิริกับกลยุทธ์ Speed to Market ที่มีสไตล์การทำงานดุดัน ตัดสินใจเร็ว ที่สำคัญ ไม่มีคำว่า ทำไม่ได้  ทุกอย่างต้องทำได้ แต่จะเป็นในรูปแบบไหน วิธีการอย่างไรค่อยว่ากัน

จะอย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจอย่างแสนสิริ ก็ต่างจากรัฐบาลผสม 11 พรรค โดยเฉพาะการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน


พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ก็สลัดไม่พ้นคำว่า พรรคของเครือข่ายทักษิณ ซึ่งมีนักวิชาการบางคนเรียกว่า พรรคที่อยู่ภายใต้การบริหารหลังม่านของเถ้าแก่ใหญ่


วันนี้ สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าจับตามองคือ ซีอีโอเศรษฐา กับเถ้าแก่ใหญ่ในหลังม่าน จะเดินไปด้วยกัน ด้วยความราบรื่นยาวนานแค่ไหน 

 

ทีมไทยรักไทย
เหมือนดังที่หลายคนตั้งข้อสังเกต ในตึกไทยคู่ฟ้า มีทีมไทยรักไทยเข้ามาประจำการกันอย่างคึกคัก ทั้งที่มีตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีตำแหน่ง ไม่มีเงินเดือน


นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กลับมารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐ มนตรี เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หมอมิ้ง จะเป็นมันสมอง และผู้กลั่นกรองแฟ้มงาน ก่อนส่งถึงมือนายกฯเศรษฐา 


คนหน้าเดิมอีก 2 คนคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ พันศักดิ์ วิญญรัตน์เป็นแกนหลักของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ในทำเนียบรัฐบาล


หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เคยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.คลัง และอดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ถือว่าคนในบ้านจันทร์ส่องหล้า


พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลทักษิณ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) หรือที่เรียกกันว่า ทักษิโณมิกส์


ภาพของ พันศักดิ์ หมอมิ้ง และหมอเลี้ยบ ในรัฐบาลเศรษฐา เป็นสัญญาณการพลิกฟื้นแห่งยุคไทยรักไทย

 

เอิง คณาพจน์ โจมฤทธิ์ เพื่อนอิ๊ง ประกบนายกฯเศรษฐา

 


ยุทธศาสตร์เอาชนะส้ม
อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อว่า รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมกรรมการอีก 29 คน


ย้อนไปเมื่อค่ำวันที่ 13 ก.ย. 2565 ในรายการแคร์ทอล์ค ทักษิณ ชินวัตร ได้การเสวนาในหัวข้อนโยบายเกษตร-ซอฟต์พาวเวอร์ โดยช่วงหนึ่ง ทักษิณ กล่าวว่า “น้องอิ๊งค์ เขาจริงจังมากกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เขาเล่าให้ผมฟัง สนุกมาก”


ดังนั้น อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร จึงต้องเข้ามาขับเคลื่อนคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้วยตัวเธอเอง

 

อุ๊งอิ๊ง และอดีตมันสมองของพรรคไทยรักไทย ตั้งใจจะใช้โครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเรือธงในการทำศึกสงครามมวลชน ไม่ต่างจากยุคไทยรักไทย ที่ใช้กองทุนหมู่บ้าน และโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิต ภัณฑ์ชุมชน สร้างฐานเสียง 17-19 ล้านคน 


เบื้องต้น พรรคเพื่อไทย คาดหวังจะสร้างคนพันธุ์ใหม่ 20 ล้านคน สร้างงานไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตำแหน่ง และสร้างรายได้ให้ไม่ต่ำกว่า เดือนละ 20,000 บาท 


หากนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ สัมฤทธิ์ผล พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีวันสูญพันธุ์อย่างแน่นอน