คอลัมนิสต์

ยุคบ้านใหญ่ ‘เนวิน’ ผนึก มท.หนู ปั้น ‘สิงห์น้ำเงิน’ ผงาด

19 ก.ย. 2566

มหาดไทยยุคบ้านใหญ่ เนวิน คัมแบ็กหนุน มท.หนู คนเซราะกราวนั่งอธิบดีกรม ปภ. สิงห์แดงถอย สิงห์ดำหลบ เมื่อสิงห์น้ำเงินผงาด

คลองหลอดกระเพื่อม เนวิน คัมแบ็ก คนเซราะกราวนั่งอธิบดีกรม ปภ. สิงห์แดงถอยสิงห์ดำหลบ ได้เวลา สิงห์น้ำเงิน ผงาด


เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคภูมิใจไทย ครั้งแรก ครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ ส่งปู่จิ้น ชวรัตน์ ชาญวีรกูล มานั่ง รมว.มหาดไทย และครั้งนี้ ก็ถึงคราวเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ได้นั่ง รมว.มหาดไทย ตามรอยพ่อ


ยกแรกของการจัดทัพมหาดไทย ก็เรียกเสียงฮือฮาไปทั้งประเทศเมื่อ ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ขยับจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เข้ามาเป็นอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)

ผู้ว่าฯไชยวัฒน์ เพิ่งเป็นพ่อเมืองบุรีรัมย์ได้ 1 ปีเท่านั้น ก็กระโดดค้ำถ่อมานั่งกรม ปภ. และที่น่าประหลาดใจ กรมใหญ่กรมนี้ อยู่ในการกำกับดูแลของเสี่ยเบี้ยว เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย พรรคเพื่อไทย


เหนืออื่นใด ผู้ว่าฯไชยวัฒน์ เป็นคนเซราะกราว เกิดที่บ้านปราสาท อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ มีคู่ชีวิตเป็นชาว อ.ลำปลายมาศ คนจังหวัดเดียวกัน

 

สิงห์หนูและสหาย
ตั้งแต่วันแรกที่เหยียบกระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล ได้พูดกับ รมช.ทั้ง 3 คน คือ ทรงศักดิ์ ทองศรี ,ชาดา ไทยเศรษฐ และเกรียง กัลป์ตินันท์ ว่าเราจะทำงานกันแบบพี่น้อง ไม่มีแบ่งแยกภูมิใจไทยหรือเพื่อไทย 


ล่าสุด ครม.เศรษฐา มีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย รักษาราชการแทนรัฐมนตรีมหาดไทย ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย โดยเรียงตามลำดับคือ
1.ทรงศักดิ์ ทองศรี 2.ชาดา ไทยเศรษฐ์ และ 3.เกรียง กัลป์ตินันท์ 

เมื่อ 13 ก.ย. 2566 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย แบ่งงานดังนี้ 


อนุทิน ชาญวีรกูล กำกับดูแล กรมการปกครอง (ปค.)  กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 


ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย กำกับดูแล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และการประปานครหลวง (กปน.) 


ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย กำกับดูแลกรมการพัฒนาชุม ชน (พช.), กรมที่ดิน และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)


เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ,องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย 

 

อนุทิน ชาดา ทรงศักดิ์ ทีมบุรีรัมย์ในมหาดไทย

 

สิงห์น้ำเงิน
การแต่งตั้งและโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย  ลอตแรก 24 ราย ภายใต้ ครม.เศรษฐา 1 ที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางคือ กรณีของ ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผวจ.บุรีรัมย์ และนฤชา โฆษาศิวิ ไลซ์ ผวจ.บึงกาฬ


สำหรับ ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ เป็นคนบุรีรัมย์โดยกำเนิด แต่มีชื่อเสียงสมัยเป็นนายอำเภอประโคนชัย ทำงานเข้าตาบ้านใหญ่


ปลายปี 2561 ไชยวัฒน์ ขยับไปเป็นปลัดจังหวัดสกลนคร อยู่ปีเศษก็หวนกลับบ้านเกิดมานั่งเก้าอี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ 


ปี 2565 ไชยวัฒน์ ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ หลังผู้ว่าฯคนเก่า ธัชกร หัตถาธยากูล ขอย้ายไปเชียงใหม่ 


เมื่อผู้ว่าฯ ไชยวัฒน์ เข้ากระทรวงคลองหลอด มานั่งเก้าอี้อธิบดี ปภ. ก็มีชื่อ นฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ย้ายกลับถิ่นเก่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์


ปี 2561 นฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนจะย้ายไปเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ


ปลายปี 2565 นฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ขยับขึ้นผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ผ่านไป 1 ปี ผู้ว่าฯ นฤชาก็โยกกลับมาอยู่เมืองปราสาทสายฟ้า


ในมิติทางการเมือง บุรีรัมย์กับบึงกาฬ เป็นเมืองพี่เมืองน้อง เพราะครูใหญ่เนวิน ได้มอบให้เสี่ยป้อม ทรงศักดิ์ ทองศรี ไปตอกเสาเข็มที่หัวเมืองริมโขง ตั้งแต่ปี 2554 


ช่วงปี 2562-2565 ทรงศักดิ์ เป็น รมช.มหาดไทย รัฐบาลประยุทธ์ ได้ทุ่มเทสรรพกำลังพัฒนาบึงกาฬ และมีโครงการสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5 


ปัจจุบัน เสี่ยป้อมประสบความสำเร็จในการปักธงสีน้ำเงินที่ จ.บึงกาฬ เมื่อพรรคภูมิใจไทย มี สส.บึงกาฬ 2 คน และแว่นฟ้า ทองศรี หวานใจเสี่ยป้อม นั่งเก้าอี้นายก อบจ.บึงกาฬ


โยกย้ายผู้ว่าฯ ลอตต่อไป ให้จับตาดูว่า ใครจะขึ้นเป็นผู้ว่าฯ บึงกาฬ คนใหม่ และแน่นอนว่า ต้องเป็นสิงห์น้ำเงินเท่านั้น