คอลัมนิสต์

ปมร้อนปาตานี ‘วันนอร์’ ถอดบทเรียน ‘วาดะห์’ กลางไฟใต้สองยุค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมืองปลายด้ามขวาน วันนอร์ ชี้แบ่งแยกดินแดนไม่ได้ ในอดีต วาดะห์ เคยชูแนวคิดฮารับปันบารูดับไฟใต้ ปัจจุบัน บีอาร์เอ็นใหม่ จะพูดคุยสันติภาพกับว่าที่รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย

ของร้อน วันนอร์ ชี้แบ่งแยกดินแดนไม่ได้ ในอดีต วาดะห์ เคยชูแนวคิดฮารับปันบารูดับไฟใต้ ชูแนวทางสภาฯ แก้ปัญหาชายแดนใต้


ฮารับปันบารูเคยใช้ได้ผลกับบีอาร์เอ็นบางปีกในขบวนการเก่า สถานการณ์ปัจจุบัน บีอาร์เอ็นใหม่ กำลังจะเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพกับว่าที่รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย
 

วันที่ 12 มิ.ย.2566 พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะมีการประชุมติดตามกรณีการจัดกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่มีการทำแบบสอบ ถามความเห็นที่จะให้ประชาชนปาตานี ออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้องกฎหมาย


วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่ได้ สส.เขตมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมประชามติแบ่งแยกดินแดน และย้ำว่าเรื่องนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่แนวทางของพรรคประชาชาติอย่างแน่นอน


บนเส้นทางการเมือง 44 ปีของวันนอร์ ไม่เคยมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนเหมือนที่คนบางกลุ่มที่จ้องใส่ป้ายสี ตรงกันข้าม ผู้อาวุโสจากยะลา กลับมีส่วนผลักดันให้เกิดนโยบายฮารับปันบารู เพื่อสันติสุขชายแดนใต้ หรือช่วงไฟใต้ดับ(ปี 2532-2544)

ปี 2529 เด่น โต๊ะมีนา สมัยเป็น สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้พูดคุยกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.ยะลา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ สส.นราธิวาส ก่อตั้งกลุ่มเอกภาพหรือกลุ่มวาดะห์ เพื่อพัฒนาชายแดนใต้

 

 

วันนอร์ และอดีตกลุ่มวาดะห์ เข้าพบ พล.อ.ชวลิต ด้วยเคารพ เจ้าของนโยบายฮารับปันบาร


ปี 2533 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจาก ผบ.ทบ. มาตั้งพรรคความหวังใหม่ ได้เจรจาดึงกลุ่มวาดะห์ ให้เข้ามาร่วมงานการเมืองด้วยกัน และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 22 มี.ค.2535 ปรากฏว่า สนาม 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มวาดะห์ ได้ สส. 7 ที่นั่ง และพรรค  ปชป.ชวดเก้าอี้ สส.ในชายแดนใต้ เป็นครั้งแรก

 

 

ฮารับปันบารูในอดีต
ทุกวันนี้ วันนอร์ และอดีตสมาชิกกลุ่มวาดะห์ ยังเคารพนับถือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะผู้ผลักดันให้เกิดโครงการฮารับปันบารู (ภาษายาวี แปลว่าความหวังใหม่) สมัยที่ พล.อ.ชวลิต เป็น ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. 


พูดง่ายๆ ฮารับปันบารู ก็คือ 66/2523 ฉบับชายแดนใต้ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ได้ใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ดึงสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น(ยุคเก่า) เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย และปิดฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขา


ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ชวลิต มาทำงานการเมืองในนามพรรคความหวังใหม่ จึงนำยุทธ ศาสตร์ฮารับปันบารู มาชูเป็นนโยบายฮารับปันบารูคือ ดอกไม้หลากสีอยู่ในแจกันเดียวกัน บ่งบอกถึงประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม


ชัยชนะของวาดะห์ในสีเสื้อความหวังใหม่ ปี 2535 ยังได้ปั้นนักการเมืองมุสลิมหน้าใหม่อีก 2 คนคือ มุข สุไลมาน อดีตนักกิจกรรมธรรมศาสตร์ กลุ่มสลาตัน แกนนำประท้วงใหญ่ที่ปัตตานี ปี 2518 และนัจมุดดีน อูมา นักกิจกรรมรามคำแหง กลุ่ม PNYS 


ช่วงรัฐบาลชวน รัฐบรรหาร รัฐบาลชวลิต และรัฐบาลทักษิณ เป็นยุคทองของวาดะห์ ในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ แกนนำกลุ่มวาดะห์ ได้เป็นรัฐมนตรีหลายคน 

 

 

บทเรียนวาดะห์
กลางปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยุบพรรคความหวังใหม่ ควบรวมกับพรรคไทยรักไทย วันนอร์ได้เป็นรัฐมนตรีคมนาคม(รอบสอง) และรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐบาลทักษิณ 


ปี 2547 ไฟใต้ที่ลุกโชนอีกครั้ง ได้นำมาซึ่งวิกฤตศรัทธาต่อกลุ่มวาดะห์ สังกัดพรรคไทยรักไทย และคนชายแดนใต้ได้ลงโทษนักการเมืองกลุ่มนี้ ทำให้พ่ายแพ้เลือกตั้งติดต่อกันถึง 3 สมัยรวด


ปี 2561 วันนอร์ ได้ชวนอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ,มุข สุไลมาน และนัจมุดดีน อูมา มาร่วมก่อตั้งพรรคประชาชาติ และจุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคนี้คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรค โดย พ.ต.อ.ทวี ได้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนพรรคประชาชาติ ให้หลุดพ้นคำว่า พรรคมุสลิม และกลุ่มวาดะห์ 


แกนนำพรรคประชาชาติ กำลังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้ 8 พรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย
 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ