คอลัมนิสต์

ชงไต่สวน ‘พิธา’ ฝ่ากับดักหุ้น ‘ไอทีวี’ เข้าทางสภาสูง

ชงไต่สวน ‘พิธา’ ฝ่ากับดักหุ้น ‘ไอทีวี’ เข้าทางสภาสูง

10 มิ.ย. 2566

เป็นไปตามคาด พิธา ไม่รอดปมหุ้น ไอทีวี กกต. ตั้งกรรมการไต่สวน พิจารณาคุณสมบัติ พรรคสีส้ม แฉขบวนการขุดผีไอทีวี แต่มีข้อมูล ผู้ถือหุ้นใหญ่เตรียมทำสื่อมาแต่ปี 2559

กับดักรายทาง พิธา ไม่รอดปมหุ้น ไอทีวี กกต.ชงตั้งกรรมการไต่สวนพิจารณาคุณสมบัติ ก่อนส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ เข้าทาง สว.ยกเป็นเหตุผล ไม่หนุนเป็นนายกฯ


พรรคสีส้มตีปลาหน้าไซ พิธา เจอขบวนการขุดผีไอทีวี หาช่องมัดเรื่องหุ้นสื่อ แต่ข้อเท็จจริงอีกด้าน ผู้ถือหุ้นใหญ่เตรียมทำสื่อมาแต่ปี 2559

ในที่สุด กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง รับเรื่องการถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นไว้พิจารณา เพราะมีข้อเท็จจริง มีหลักฐานว่า อาจจะขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 151 จึงให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน ส่วนคำร้องที่ยื่นถึง กกต.ของผู้ร้องทั้ง 3 คนนั้น เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลา จึงสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบ


ก่อนหน้านั้น แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าประกาศผลรับรอง สส.ไปแล้ว กรณีหุ้นไอทีวีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หากจะให้พ้นจากการเป็น สส. ต้องเป็นไปตามรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 82 คือสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึง กกต.สามารถยื่นได้ แต่ต้องมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง


อันที่จริง ฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกลคงเห็นช่องทางการต่อสู้ จึงเสนอพิธาโอนหุ้นไอทีวีให้ทายาท เพราะเชื่อว่า หากขาดจากการเป็น สส. ก็ยังเป็นนายกฯได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า นายกฯต้องมาจาก สส.

 

ขุดผีไอทีวี
วันที่ พิธา แจ้งเรื่องโอนหุ้นให้ทายาท ก็ได้เปิดประเด็นคืนชีพไอทีวี เพื่อเล่นตัวเขา โดยอธิบายว่า “ผมพร้อมสู้กับความพยายามคืนชีพไอทีวี เพื่อสกัดกั้นพวกเรา ตามที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ..”
 

ดังที่ทราบกัน สำนักนายกฯ (สปน.) ได้ยกเลิกสัญญาร่วมการงาน และยึดเอาคลื่นวิทยุสัญญาณ กลับมาเป็นของรัฐ ทำให้ไอทีวีจอดำตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 


กรณีดังกล่าวข้างต้น ได้กลายเป็นข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างไอทีวี กับ สปน. ว่าด้วยการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกำลังจะมีคำวินิจัยของศาลปกครองสูงสุด ภายในเดือน มิ.ย.2566 


ที่ผ่านมา ไอทีวีชนะในการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองกลางมาแล้ว หากในชั้นศาลปกครองสูงสุดชนะ ก็หมายถึงไอทีวีจะกลับไปทำรายงานโทรทัศน์ตามสัญญาเดิมได้อีกครั้ง ดังนั้น ความเป็นสื่อ จึงไม่น่าจะสิ้นสุดไปตามคำบอกเลิกสัญญาของ สปน. 


มีข้อมูลชุดหนึ่งเปิดเผยว่า ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 พบว่า ในวาระที่ 8.3 รายงานผลการพิจารณาเพื่อการลงทุนและหาทางเลือกในการดำเนินกิจการของบริษัทต่อไป โดยมีการประชุมเพื่อวางแผนการลงทุนในฐานะสื่อมาตั้งแต่ปี 2559 

 

พิธา เดินสายพบด้อมส้ม ต่อเนื่อง เพราะมวลชนคือผนังทองแดงกำแพงเหล็ก

 

 

เหตุผลของ สว.
แม้ พิธา จะแต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ ด้วยการโอนหุ้นให้คนอื่น แต่นักกฎหมายหลายคนก็ฟันธงว่า ถึงโอนให้คนอื่นก็รอดยาก เพราะรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ ถือครองหุ้นสื่อ แต่ยังดันทุรังสมัคร สส.


ทีมกฎหมายพรรคสีส้มคงรู้ว่า ไม่รอด จึงรีบโอนหุ้นเจ้าปัญหาไปให้ทายาทคนอื่น แล้วอธิบายในข้อต่อสู้เรื่องคืนชีพไอทีวีเพื่อสอยพิธา เหมือนจะส่งสัญญาณไปถึงด้อมส้อมว่า พิธากำลังเจอทั้งกลเกมทุนเก่า ทั้งนิติสงคราม


หาก กกต.คงชงเรื่องหุ้นไอทีวี ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญจริง จะตัดสินคดีพิธาให้จบก่อนรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ คงเป็นไม่ได้ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 6 เดือนเหมือนคดีหุ้นสื่อของธนาธร


ฉะนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคดีไว้พิจารณา คงสั่งให้พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็จะทำให้กลุ่ม สว.ส่วนใหญ่ใช้เรื่องนี้ เป็นเหตุผลในการงดออกเสียง ไม่โหวตพิธาเป็นนายกฯ


จะว่าไปแล้ว ก็เป็นหนังเรื่องเดิมที่แกนนำพรรคสีส้มอ่านเกมรู้ดูเกมเป็น จึงมีการเดินสายพบมวลชนของพิธา อย่างต่อเนื่อง เพราะอาวุธสำคัญของก้าวไกลคือ มวลมหาประชาชนสีส้ม