คอลัมนิสต์

ดอกผลฮาร์วาร์ด ‘พิธา’ ฝันเห็นไทย ‘สีส้ม’ ปิดฉากเหลือง-แดง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอยนักเรียนฮาร์วาร์ด พิธา กับหนังสือเล่มแรก และความฝันประเทศไทยสีส้ม หลังปิดฉากเหลือง-แดง พร้อมมีคำถามกับประชาธิปไตยแบบอเมริกา

แกะรอยชีวิต พิธา สมัยเรียนฮาร์วาร์ด ผ่านหนังสือเล่มแรก สะท้อนคำถามประชาธิปไตยดีจริงหรือไม่ พร้อมข้อเสนอประเทศไทยสีส้ม 

 

ท่ามกลางเสียงโจมตี พิธา และพรรคก้าวไกล รับใช้สหรัฐฯ ลองกลับไปอ่านมุมคิดนักเรียนไทยในจดหมายฮาร์วาร์ด เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว 

กระแสต้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากกลุ่มอนุรักษนิยม ยังมีมาต่อเนื่อง ไม่เพียงประเด็นการแก้ไข ม.112 หากยังมีประเด็นร้อนเรื่องพิธา และพรรคก้าวไกล เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของการทำสงครามพันทาง หรือ Hybrid Warfare ของสหรัฐอเมริกา

 

ตอนที่ พิธา ไปออกรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ ช่วงหนึ่ง หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ชี้แจงถึงประเด็นที่หลายคนบอกว่า มีอเมริกาอยู่เบื้องหลัง แต่หัวหน้าด้อมส้มบอกว่า มีแต่ประชาชนคนไทยต่างหากที่อยู่เบื้องหลังในการทำงาน

พิธายังบอกว่า เรื่องการต่างประเทศ ต้องหาสมดุล “...ผมก็แซ่ลิ้ม ดังนั้นต้องดูแลความใกล้ชิดกับจีน และต้องหาสมดุลกับอเมริกาเช่นกัน”


จริงๆแล้ว ทิม พิธา เคยไปเรียนปริญญาโท 2 ใบที่สหรัฐฯ คือ ปริญญาโทด้านการเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และด้านบริหารธุรกิจที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

 

ทิม พิธา กับบัตรนักศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ช่วงที่เรียนหนังสือในสหรัฐฯ พิธา ได้เขียนในคอลัมน์ “จดหมายจากฮาร์วาร์ด” ในนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2553 ถึงเดือน ส.ค.2554 ก่อนที่จะนำข้อเขียนในคอลัมน์ดังกล่าว มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มในชื่อ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2555

 

จดหมายจากฮาร์วาร์ด

 

ช่วงที่มีการนำข้อเขียนของ พิธา มาจัดพิมพ์รวมเล่มชื่อ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” ได้มีการจัดหมวดหมู่แบ่งเป็น 5 คาบวิชาคือ คาบเรียนที่ 1 วิชาฮาร์วาร์ด เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนหนังสือ และมีเรื่องตามรอยพระยุคลบาทด้วย 

 

คาบเรียนที่ 2 คนบันดาลใจ ว่าด้วยเรื่องนักธุรกิจและนักการเมืองอเมริกัน อย่างเช่น ผมชื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์ และคำถามของบิล คลินตัน

 

คาบเรียนที่ 3 สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เป็นบันทึกที่ทิม พิธา ไปท่องเที่ยวในหลายประเทศอย่าง 49 ชั่วโมงในเม็กซิโก และคิวบารำลึก 


คาบเรียนที่ 4 มองประเทศไทยจากเมืองไกล ว่าด้วยเรื่องไอคิวอินครีส, ประเทศไทยสีส้ม,จดหมายถึงนายกฯ  และก่อบรรลัยใส่ฉัน ประเทศไทยในสถานการณ์โลก ส่วนคาบเรียนที่ 5 Living etc. เป็นส่วนตัวล้วนๆของหนุ่มนักเรียนนอก 

 

“ประชาธิปไตยดีจริงหรือไม่ เป็นคำถามในหัวตอนผมสมัครเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด  ผมมาเรียนที่อเมริกาในขณะที่ยังไม่สามารถหาคำตอบให้คำถามข้อแรกได้ แล้วคำถามที่สองก็ตามมา ทำไมบางประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วเจริญ ขณะที่อีกประเทศเหลวแหลกไม่มีชิ้นดี...” เป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนเรื่องประเทศไทยสีส้ม

 

ประเทศไทยสีส้ม

 

ช่วงที่ ทิม พิธา เขียนคอลัมน์ให้นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ สถานการณ์การเมืองไทย ยังอยู่ในบรรยากาศความขัดแย้งเหลือง-แดง แม้จะมีรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยการนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายต่อต้านก็ยังเคลื่อนไหวอยู่

 

ตอนที่ พิธา เขียนเรื่องประเทศไทยสีส้ม จึงสรุปท้ายบทนี้ว่า “ถ้าอยากเกิดการเปลี่ยน แปลงที่ดีในประเทศ ประเทศต้องเป็นสีส้ม(แดงบวกเหลือง) ในการเปลี่ยนแปลงต้องมีผู้ได้และผู้เสีย มี gainer มี loser และโดยธรรมชาติ

 

ผู้ได้มักไม่ค่อยพูด ผู้เสียมักเสียงดัง ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ตามประสาคนที่อยู่ในชมรมคนอกหัก มักถล่มผู้นำอยู่แล้ว ไปดูได้ ไม่มีผู้นำคนไหนในโลกนี้ไม่โดนด่า เป็นสัจธรรมการเมืองตามวิชามนุษย์”

 

เข้าใจว่า พิธา คงต้องการสื่อสารไปถึงอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่กำลังเผชิญการต่อต้านจากคนกลุ่มหนึ่งในเวลานั้น ก่อนที่จะเกิดม็อบ กปปส.ในปี 2556

 

แสดงว่า ทิม พิธา มีภูมิคุ้มกันทางการเมืองพอสมควร หากย้อนไปอ่านคอลัมน์จดหมายจากฮาร์วาร์ด และสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คือสัจธรรมทางการเมือง 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ