คอลัมนิสต์

เกมดึงเสียงสภาสูง ‘ภัทรา วรามิตร’ สว.บ้านใหญ่ แหกด่านหนุน ‘พิธา’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุทธการหักด่านสภาสูง 'ภัทรา วรามิตร' สว.บ้านใหญ่เมืองน้ำดำ ประกาศเลือก 'พิธา' เป็นนายกฯ พบว่าพี่ชาย ชานุวัฒน์ ค่ายลุงป้อม เพิ่งพ่ายเลือกตั้ง สส.

ยุทธการชิงสภาสูง ภัทรา วรามิตร สว.บ้านใหญ่เมืองน้ำดำ ประกาศเลือก พิธา เป็นนายกฯ พบว่าน้องชาย ชานุวัฒน์ เพิ่งพ่ายจากสังเวียน สส.

 

สว.บ้านใหญ่ 50 คน ตกเป็นเป้าหมายในการช่วงชิงให้มาโหวต พิธา เพราะคนเหล่านี้ มีความใกล้ชิด สส.สายขั้วรัฐบาลเดิม

ดังที่ทราบกัน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ทั้งสิ้น 250 คน มีที่มาของ 2 ส่วน โดย สว.แบบคัดเลือกกันเองจำนวน 50 คน โดยกระบวนการได้มาก็คือ กกต. จัดรับสมัครบุคคลจาก 10 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศ แล้วเลือกกันเองจนเหลือ 200 คน จากนั้น คสช. เลือกในขั้นตอนสุดท้ายเหลือ 50 คน

 

บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สว.สรรหาโดยส่วนใหญ่ ก็มีคอนเนกชั่นกับนักการเมืองในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย

ล่าสุด ทรงเดช เสมอคำ สว.สรรหา ที่ประกาศสนับสนุน พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพลิกปูมทรงเดชนั้น เคยเป็นประธานฝ่ายเทคนิคสโมสรฟุตบอลสุโขทัย เอฟซี ซึ่งมี สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม เป็นเจ้าของทีม

 

เช่นเดียวกับ อ้อ-ภัทรา วรามิตร สว.สรรหา จากกาฬสินธุ์ ที่ประกาศหนุนพิธา แต่พี่ชาย ชานุวัฒน์ วรามิตร อดีตผู้สมัคร สส.กาฬสินธุ์ พรรคพลังประชารัฐ เพิ่งสอบตกจากการเลือกตั้งครั้งนี้

 

บ้านใหญ่วรามิตร

 

หลังการเลือกตั้งปี 2562 ปรากฏชื่อ ภัทรา วรามิตร อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทย ได้รับการแต่งตั้งเป็น สว.สรรหา จากกลุ่มอุตสาหกรรม/เอสเอ็มอี/การท่องเที่ยว

 

ตระกูลวรามิตร เป็นเจ้าของโรงสีกาฬสินธุ์รุ่งเรือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยสมบัติ วรามิตร อดีต สว.กาฬสินธุ์(เสียชีวิต) และชะม้อย วรามิตร อดีตนายก อบจ.กาฬสินธุ์ คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมืองมานานแล้ว

 

ปี 2544 อ้อ-ภัทรา ทายาทเจ้าของโรงสีใหญ่ ลาออกจากนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกมลาไสย ลงสมัคร สส.กาฬสินธุ์ สังกัดพรรคไทยรักไทย ก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ สมใจเสี่ยสมบัติ

 

สมัยที่เป็น สส.ในพรรคใหญ่ ภัทราตกเป็นข่าวใหญ่ช่วงกลางปี 2548 มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทักษิณ เธอลงคะแนนไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนหนึ่ง เพราะฟังการอภิปราย และชั่งน้ำหนักแล้วไม่อาจลงคะแนนไว้วางใจรัฐมนตรีลิปซิงก์ตามมติพรรคได้ 

 

ในการเลือกตั้งครั้งถัดมา อ้อ-ภัทรา สวมเสื้อพรรคชาติไทย และพรรคภูมิใจไทย ลงสนาม ก็ไม่ได้รับเลือก จึงวางมือทางการเมืองหันไปดูแลธุรกิจโรงสีของครอบครัว

 

ชานุวัฒน์ วรามิตร อดีตผู้สมัคร สส.กาฬสินธุ์ พรรค พปชร.

ปี 2562 ภัทราและตระกูลวรามิตร ส่ง โด่ง-ชานุวัฒน์ วรามิตร ลงสมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ แต่สอบตก หลังจากนั้น ภัทราก็ได้รับการแต่งเป็น สว.สรรหา

 

ทายาทวรามิตร

 

ปลายปี 2563 ภัทรา ดันเสี่ยโด่ง-ชานุวัฒน์ วรามิตร ลงสมัครนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ในนามกลุ่มกาฬสินธุ์ต้องดีกว่านี้ โดยการสนับสนุนของตระกูลพิมพะนิตย์ ,ภูมิเหล่าแจ้ง, คูสกุลรัตน์ , เศรษฐรักษา ,ณ กาฬสินธุ์ และศรีธเรศ 

 

ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ชานุวัฒน์ วรามิตร ชนะเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล ได้เป็นนายก อบจ.เมืองน้ำดำ

 

กลางปี 2565 กกต.แจกใบเหลือง ชานุวัฒน์ วรามิตร และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์ใหม่ จึงมีศึกล้างตารอบสอง ในวันที่ 14 ส.ค.2565

 

รอบใหม่นี้ เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล ล้างตาสำเร็จเอาชนะชานุวัฒน์ วรามิตร มีคะแนนทิ้งห่างขาดลอย

 

เมื่อปี่กลองการเมืองดัง อ้อ-ภัทรา ดันน้องชายเสี่ยโด่ง ชานุวัฒน์ ลงสนาม สส.อีกครั้ง ในนามพรรคพลังประชารัฐ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เดินทางไปหาเสียงช่วยเขต อ.กมลาไสย

 

ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566 กาฬสินธุ์ เขต 5 ทินพล ศรีธเรศ พรรคเพื่อไทย ลูกชายบุญรื่น ศรีธเรศ อดีต สส.กาฬสินธุ์ ได้ 39,998 คะแนน ชนะชานุวัฒน์ วรามิตร อดีตนายกอบจ.กาฬสินธุ์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 32,286 คะแนน 

 

เป็นความผิดหวังอีกครั้งหนึ่งของบ้านใหญ่โรงสีไฟวรามิตร และต้องจับตาดูว่า เมื่อครบวาระ สว.ชุด คสช.แต่งตั้งในปีหน้า อ้อ-ภัทรา จะเลือกเส้นทางการเมืองสายไหน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ