คอลัมนิสต์

ปลุกเชียงใหม่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ขานรับ ‘ทักษิณ’ เกมนี้แพ้พรรคส้มไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องสังเวียนบ้านเกิดชินวัตร อุ๊งอิ๊ง เลือกเชียงใหม่ ปราศรัยใหญ่สัญจร ต้อนรับข่าวใหญ่ ทักษิณ กลับบ้าน สมรภูมินี้จะแพ้ก้าวไกลไม่ได้ แม้แต่เขตเดียว

บ้านเกิดชินวัตร อุ๊งอิ๊ง เลือกเชียงใหม่ ปราศรัยใหญ่สัญจร ต้อนรับข่าวใหญ่ ทักษิณ พร้อมแล้วจะกลับเมืองไทย

 

ตำนานการเมืองเชียงใหม่ จาก เลิศ ชินวัตร ผู้บุกเบิกรุ่น 2 ถึงยุครุ่งเรืองของ ทักษิณ และส่งไม้ต่อมาถึง อุ๊งอิ๊ง ชินวัตรรุ่น 4   

 

ช่างเป็นเรื่องบังเอิญเหลือร้าย พรรคเพื่อไทย จัดการปราศรัยใหญ่โค้งสุดท้ายเลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เชียงใหม่เปลี่ยนทันที เย็นวันที่ 10 พ.ค.2566 ที่ลานประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ 

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 ทักษิณ ชินวัตร สื่อสารแพล็ตฟอร์มทวิตเตอร์ ทวีตรัวๆ ว่าด้วยการเตรียมเดินทางกลับไทย ช่วงเดือน ก.ค.2566 โดยพร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย 

 

สำหรับวันปราศรัยใหญ่ที่ประตูท่าแพ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร มาพบกับชาวเชียงใหม่ผ่านระบบออนไลน์ ส่วน เศรษฐา ทวีสิน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และผู้สมัคร สส.เชียงใหม่จะประจำการอยู่บนเวที

 

ทำไม พรรคเพื่อไทยจึงเลือกเชียงใหม่ เป็นเวทีรองสุดท้าย ก่อนการปราศรัยใหญ่ที่อิมแพคอารีน่าเมืองทองธานี 

 

วลีที่ว่า เชียงใหม่แพ้ไม่ได้ กลายเป็นโจทย์เลือกตั้ง 2566 ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยเชียงใหม่ จะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้ชัยชนะทั้ง 10 เขต 

 

เนื่องจากเชียงใหม่คือ บ้านเกิดของสองอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอาจนับรวมอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีเยาวภา วงศ์สวัสดิ์

 

นับแต่การเลือกตั้งปี 2544 จนถึงปี 2562 พรรคการเมืองของทักษิณ มีชัยในสนามเชียงใหม่ชนิดยกจังหวัด แต่เลือกตั้งสมัยที่แล้ว พรรคอนาคตใหม่ทำเซอร์ไพรส์ ในเขตเลือกตั้งที่ 1 เกือบชนะพรรคเพื่อไทย ทำให้คนโจษขานถึงการเปลี่ยนแปลง 

 

เฉพาะปี 2566 เขตเลือกตั้งที่ 1 จักรพล ตั้งสุทธิธรรม อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลงแข่งกับ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกล จึงเป็นที่มาของวลีเชียงใหม่แพ้ไม่ได้ จากฟากฝั่งกองเชียร์ค่ายสีแดง

 

 

 

บ้านใหญ่ชินวัตร

 

เชียงใหม่ในมิติทางการเมือง ทักษิณ และตระกูลชินวัตร กลายบ้านใหญ่ ที่ครองใจคนล้านนา ด้วยการเมืองเชิงนโยบาย และอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น

 

เลิศ ชินวัตร บิดาของทักษิณ เข้าสู่การเมืองท้องถิ่น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เขต อ.สันกำแพง และเป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2511

 

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2512 เลิศ ชินวัตร ได้ลงสมัคร สส.เชียงใหม่ ในนามผู้สมัครอิสระ ได้รับเลือกเป็น สส.เชียงใหม่ ถือว่าเป็นชินวัตรคนแรกที่ประสบความ สำเร็จทางการเมือง 

 

ปี 2519 เลิศวางมือทางการเมือง แต่ได้ส่งลูกสาวคนโต เยาวลักษณ์ ชินวัตร ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็นเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ โดยสังกัดกลุ่มประชาสันติ

 

ปีเดียวกัน สุรพันธ์ ชินวัตร น้องชายเลิศ ได้รับเลือกเป็น สส.เชียงใหม่ พรรคชาติไทย และได้รับเลือกติดต่อกันมาอีก 4 สมัย 


ปี 2529 สุรพันธ์ ชินวัตร เลือกหลานสาว เยาวลักษณ์ ชินวัตร ร่วมทีมลงสมัคร สส.เชียงใหม่ พรรคชาติไทย ปรากฏว่า สุรพันธ์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ส่วนหลานสาวสอบตก    

 

เยาวลักษณ์ ลูกสาวเลิศ จึงเป็นชินวัตร รุ่น 3 คนแรก ที่เล่นการเมืองระดับชาติ อีกหลายสิบปีถัดมา จึงเป็นทักษิณ ตามมาด้วย เยาวภา, พายัพ และยิ่งลักษณ์ 

 

 

สาวสีส้มมาแรง

 

ปลายปีที่แล้ว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร มาเปิดตัวในตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่เชียงใหม่ เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของบิดา-ทักษิณ ชินวัตร

 

กล่าวสำหรับสมรภูมิเลือกตั้ง สส.เชียงใหม่ อุ๊งอิ๊ง และแกนนำเพื่อไทย ตระหนักถึงผลคะแนนสมัยที่แล้วในเขต 1 อ.เมืองเชียงใหม่ จึงมีการเปลี่ยนตัวผู้สมัคร สส. โดยโยก จักรพล ตั้งสุทธิธรรม จากเขต 3 มาลงเขต 1 

 

 

จักรพล แบกความหวังของตระกูลชินวัตร ที่เขต 1 เชียงใหม่

 

 

คู่แข่ง พลอย-เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคสีส้ม เป็นลูกสาว ไพรัช ใหม่ชมภู อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ของพ่อเลี้ยงบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ 

 

ในกระแสส้มรักพ่อ หรือพิธาฟีเวอร์ พรรค พท.ไม่ประมาท จึงมีการวางคิวแทรกเปิดการปราศรัยใหญ่ที่ประตูท่าแพ นัยว่าครั้งนี้ พรรคสีแดง ต้องการแสดงให้เห็นพลังคนรักทักษิณ และคนรักตระกูลชินวัตร

 

พูดจาภาษาเซียนการเมือง สนามเชียงใหม่ เพื่อไทยแพ้แค่เขตเดียว ก็เหมือนแพ้ยกจังหวัด ฉะนั้น เชียงใหม่จึงแพ้ไม่ได้    

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ