คอลัมนิสต์

สิ้น ‘ชนม์สวัสดิ์’ ศึกปากน้ำ ‘อัศวเหม’รุ่น 3 ส่อร่วง

31 มี.ค. 2566

เลือกตั้ง 66 บ้านใหญ่ปากน้ำ วันที่ไม่มี 'ชนม์สวัสดิ์' เหมือนขาดนายท้ายเรือ จับตา 'อัศวเหม' รุ่น 3 เจอคู่ปรับเก่า พรรค พท.ที่มากับกระแส ส่อร่วงหลายเขต

 

บ้านใหญ่ปากน้ำสะเทือน ชนม์สวัสดิ์ จากไปก่อนเลือกตั้ง66 ศึกใหญ่ตกอยู่ในมือ อัศวเหม รุ่น 3 เจอคู่ปรับเก่า พรรคเพื่อไทย ส่อร่วงหลายเขต

 

ไร้พี่ใหญ่ ชนม์สวัสดิ์ เหมือนขาดนายท้ายเรือ กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ในสีเสื้อพลังประชารัฐ ต้องฝ่าพายุแดง-ส้ม แถมทีมรวมไทยสร้างชาติก็รอเจาะยาง

 

วันที่บ้านใหญ่ปากน้ำ ขาดเสาหลักอย่าง ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม สมาชิกกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ย่อมเสียขวัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ สำหรับการเลือกตั้ง สส.สมุทรปราการ ปี 2566 กลุ่มบ้านใหญ่อัศวเหม คงต้องรวมใจกันสู้เพื่อชนม์สวัสดิ์ หรือพี่เอ๋ ของน้องๆ 

 

สุนทร ปานแสงทอง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะพ่อบ้านม้าทองคำ คงจะคอยประคับประคองทีมผู้สมัคร สส.ทั้ง 2 ระบบ  

 

 

อัครวัฒน์ อัศวเหม, วรพร อัศวเหม และต่อศักดิ์ อัศวเหม ทั้งหมดนี้เป็นหลานชายของวัฒนา จะเป็นกองหน้าลุยในสมรภูมิรบ รวมถึง พิม อัศวเหม ลูกสาวประภาพร อัศวเหม ที่อยู่ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 8 พรรคพลังประชารัฐ

ลึกๆแล้ว เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ สนิทสนมกับเนวิน ชิดชอบ แต่ที่ไม่ตัดสินใจไปอยู่พรรคภูมิใจไทย เพราะชนม์สวัสดิ์มีสัญญาใจกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

วันที่ไม่มี ‘พี่เอ๋’

 

สมัยที่แล้ว ชนม์สวัสดิ์ นำทีมบ้านใหญ่ คว้าอี้ สส.ปากน้ำ มาได้ 5 ที่นั่ง จากทั้งหมด 7 ที่นั่ง กู้ศักดิ์ศรีบ้านใหญ่ปากน้ำกลับคืนมา หลังปราชัยค่ายทักษิณมา 4 ครั้ง

การเลือกตั้ง สส.สมุทรปราการ ครั้งใหม่ มี สส.เพิ่มเป็น 8 คน บ้านใหญ่อัศวเหม ได้เปิดตัวผู้สมัคร สส.ครบแล้ว โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ พรรคเพื่อไทย

 

เขต 1 อ.เมืองสมุทรปราการ (เฉพาะ 5 ตำบล) อัครวัฒน์ อัศวเหม อดีต สส.สมุทรปราการ เจอคนหน้าใหม่ นิวัฒน์ เทียนปั่น พรรค พท. ตัวแทน นพ.วัลลภ ยังตรง อดีต สส.สมุทรปราการ 


เขต 2 อ.สมุทรปราการ (เฉพาะ 5 ตำบล) ยงยุทธ สุวรรณบุตร อดีต สส.สมุทรปราการ ชนคู่ปรับเก่า ภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์ ลูกชายของ สงคราม เลิศกิจไพโรจน์ แม่ทัพเพื่อไทยปากน้ำ

 

เขต 3 อ.เมืองสมุทรปราการ (เฉพาะ 3 ตำบล) ภริม พูลเจริญ อดีต สส.สมุทรปราการ เหนื่อยแน่ ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย อดีต สส.สมุทรปราการ 4 สมัย ขอทวงคืนเก้าอี้ สส.

 

เขต 4 อ.บางพลี(เฉพาะ 2 ตำบล) วรพร อัศวเหม อดีตประธานสภาเทศบาลตำบลบางปู ย้ายมาลงเขตนี้ โดยมี สุนทร ปานแสงทอง รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นพี่เลี้ยง เจอกับ สัมฤทธิ์ เหมะ ภรรยาวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ และแกนนำ นปช. 

 

เขต 5 อ.เมืองสมุทรปราการ(เฉพาะ 1 ตำบล),อ.บางพลี (ยกเว้น 2 ตำบล) และอ.บางเสาธง(เฉพาะ 1 ตำบล) จาตุรนต์ นกขมิ้น ลูกชายของ ทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ แข่งกับคนหน้าใหม่พรรคเพื่อไทย อย่าง นิธิพล บุญเพ็ชร 

 

เขต 6 อ.พระประแดง (ยกเว้น 1 ตำบล) ฐาปกรณ์ กุลเจริญ อดีต สส.สมุทรปราการ พบคู่ปรับเก่า นฤมล ธารดำรงค์ อดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย


เขต 7 อ.พระสมุทรเจดีย์ และ อ.พระประแดง (เฉพาะ 1 ตำบล) ต่อศักดิ์ อัศวเหม ลง สส.เขตครั้งแรก เจอจอมเก๋า ประชา ประสพดี อดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย

 

เขต 8 อ.บางบ่อ และ อ.บางเสาธง (ยกเว้น 1ตำบล) กรุงศรีวิไล สุทินเผือก อดีต สส.สมุทรปราการ ชนคนกันเอง สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ อดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย

 

พิม อัศวเหม ลูกสาว พูนผล เป็นหลานรักของเอ๋ ชนม์สวัสดิ์

ระวังตาอยู่

 

สนามปากน้ำ บ้านใหญ่ อัศวเหม รุ่น 3 ไม่ได้เจอสายแข็งพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ยังมีพรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นตัวสอดแทรก

 

พรรคสีส้ม มี วุฒินันท์ บุญชู อดีต สส.สมุทรปราการ เป็นผู้นำทีม ตามด้วยพนิดา มงคลสวัสดิ์,รัชนก สุขประเสริฐ,พิชัย แจ้งจรรยาวงศ์,นิตยา มีศรี,วีรภัทร คันธะ, บุญเลิศ แสงพันธุ์ และตรัยวรรธน์ อิ่มใจ 

 

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติก็มี ไพลิน เทียนสุวรรณ อดีต สส.สมุทรปราการ เป็นตัวยืนในเขต 7 และมี เสธ.อ้น พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา เป็นพี่เลี้ยง

 

ดังนั้น สนามเลือกตั้ง 66 บ้านใหญ่อัศวเหม น่าจะตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เพราะกระแสอุ๊งอิ๊งมาแรง แถมเจอพรรคสีส้ม และพรรคลุงตู่ คอยจ้องเสียบอีกต่างหาก