คอลัมนิสต์

หนองบัวสะอื้น “ทักษิณ” ปราบยาบ้า ส่องบทเรียน มีบวกมีลบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อันเนื่องจากโศกนาฎกรรมหนองบัวลำภู “ทักษิณ” เคยประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด สถานการณ์ยาบ้าลดลง แต่ก็มีคดีฆาตกรรมปริศนาเกิดขึ้นมากมาย

ยาบ้าอีกแล้ว “ทักษิณ” ชื่อนี้หลายคนนึกถึงรัฐบาลไทยรักไทย และนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด ที่มีการพูดถึงทั้งด้านบวกด้านลบ

 

อันเนื่องจากโศกนาฎกรรมหนองบัวลำภู “ทักษิณ” ก็เคยพูดมาก่อนหน้านี้ผ่านแคร์คลับเฮาส์ เรื่องยาบ้าระบาดหนัก 

 

จากเหตุการณ์เศร้าสลดที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิต 38 ราย โดยผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจเสพยาบ้าจนหลอน จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการแพร่ระบาดของยาเสพติดในวันนี้

 

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ทักษิณ ชินวัตร พูดในรายการแคร์คลับเฮาส์ตอนหนึ่งว่า “ถ้าตอนนี้ผมยังอยู่ ยาเสพติดคงไม่ราคาถูกขนาดนี้..ประเทศยิ่งจน ยาเสพติดยิ่งเยอะ วันนี้ยาเสพติดขายถูกมาก ต้นทุนต่ำเหลือเม็ดละ 20 บาท สมัยผมขายเม็ดละ 300-400 บาทนู้น เพราะรัฐบาลเราเอาจริงและเอาอยู่ แต่ตอนนี้กลับปล่อยให้ยาเสพติดเกลื่อนเมือง ถ้าวันนี้ประเทศเป็นประชาธิปไตย รับรองว่านโยบายปราบปรามยาเสพติดจะเป็นนโยบายยืนพื้นเลย”

 

ดังนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงตั้งโต๊ะแถลงว่า ขอประกาศฟื้นนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย 

 

เดือน ก.พ.2546 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ประกาศสงครามกับยาเสพติด และยกให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมสั่งการให้แต่ละจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง และกำหนดเป้าหมายลดผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้ 100% ภายใน 3 เดือน(ก.พ.-เม.ย. 2546)

 

ทักษิณได้เสนอเงินรางวัลแก่ตำรวจ และข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ขจัดผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อผ่านไป 6 เดือน ทักษิณจึงประกาศชัยชนะในการขจัดยาเสพติดเกือบหมดประเทศ

 

 

 

 

 

 วันที่ทักษิณ ประกาศชัยชนะในการทำสงครามปราบยาเสพติด ปี 2546

 

 

‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’

คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเพรียกหา “ทักษิณ” ให้ปราบยาบ้าเหมือนสมัยรัฐบาลไทยรักไทย เพราะมาตรการเฉียบขาด ทำให้ผู้ค้ารายย่อยวางมือ และหัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดเผ่นหนีออกนอกประเทศ

 

ปีที่แล้ว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้นำเสนอรายงานพิเศษว่าด้วยเรื่องการปราบยาเสพติด ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ จนถึงรัฐบาลประยุทธ์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากผลการดำเนินงานปราบปรามยาเสพติดในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา 

 

สมัยรัฐบาลทักษิณ สถานการณ์ยาเสพติดในปีงบประมาณ 2547 ลดลงมาก ทั้งจำ นวนคดียาเสพติดลดลงมาเหลือ 35,213 คดี เปรียบเทียบกับปี 2546 คดียาเสพติดมียอดอยู่ที่ 101,848 คดี ลดลงถึง 65.43% อันเป็นผลมาจากนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด

 

ส่วนจำนวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดปีงบประมาณ 2547 ลดลงเหลือ 38,697 ราย เทียบปีก่อนลดลง 64.11% แต่ก็เป็นการลดลงมาได้แค่ปีเดียว จากนั้นปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดกลับมาทวีความรุนแรงต่อเนื่อง จนกระทั่งมาถึงสมัยของรัฐบาลประยุทธ์

 

 


 

‘ปริศนาฆาตกรรม’

แม้ “ทักษิณ” จะได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนในการทำสงครามกับยาเสพติด แต่อีกด้านหนึ่ง นักสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ กลับส่งเสียงคัดค้านดังอึงมี่


ปี 2550 รัฐบาลสุรยุทธ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน 

 

ข้อมูลของ คตน.พบว่า นโยบายทำสงครามกับยาเสพติด แม้จะจับกุมผู้ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้จำนวนมาก แต่ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นกัน 

 

คตน.รวบรวมคดีฆาตกรรมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่า มีทั้งสิ้น 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิต 1,370 คน ไม่รวมถึงคดีวิสามัญฆาตกรรมอีก 35 คดี มีผู้เสียชีวิต 41 คน

 

จวบจนถึงปัจจุบัน ตัวเลขผู้ต้องขังในคดียาเสพติดยังไม่ลดลง ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิผลของการปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีรุนแรง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายให้เข้มข้นขึ้น จะทำให้ปัญหาหมดไปจริงหรือไม่

 

เหนืออื่นใด พรรคเพื่อไทยประกาศปัดฝุ่นนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด นักสิทธิมนุษยชนก็กังวลว่าจะซ้ำรอยเดิม
 

 

คอลัมน์ ... ท่องยุทธภพ       โดย ... ขุนน้ำหมึก

 

 


ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ