คอลัมนิสต์

ศึก 'วัดบางคลาน' หลวงพ่อเงิน พระเถระ แนะ ยึดกฎหมาย สงบศึก

พระเถระผู้ใหญ่ แนะ ปัญหาวุ่นวาย 'วัดบางคลาน' จบง่าย หากทุกฝ่าย เคารพกฎหมาย พร้อมเปิดเรื่องราว อิทธิ ปาฏิหาริย์ 'หลวงพ่อเงิน'

พระเทพมุนี (ประชัน) รองเจ้าคณะภาค 4 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กล่าวถึงปัญหาในวัดบางคลาน หลวงพ่อเงินว่า เริ่มมานานประมาณ 8-9 ปี ที่พระสงฆ์ระดับชั้นปกครองได้สั่งปลดเจ้าอาวาส ในขณะนั้น คือพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เพราะการบริหารไม่โปร่งใส มีผู้รัองเรียนหลายเรื่อง

 

 

 

 

จากนั้น เจ้าคณะผู้ปกครอง ได้ตั้งพระครูพิสุทธิวรากร รองเจ้าคณะ อ.โพทะเล ผู้รู้เรื่องความเป็นไปในวัด และเป็นผู้ปกครองใกล้ชิด กับวัดหลวงพ่อเงินให้เป็นเจ้าอาวาสแทน เรื่องเกิด 2557-58 และขยายตัวในทางเลวร้ายถึงปัจจุบัน เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบคณะสงฆ์

 

ปกหนังสือประวัติหลวงพ่อเงิน

เรื่องในวัดบางคลาน หลวงพ่อเงินนั้น เริ่มจากอดีตเจ้าอาวาส (พระครูวิสิฐสีลาภรณ์) ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง กลับฟ้องร้องเจ้าอาวาสใหม่ ทั้งแพ่ง ทั้งอาญา รวมทั้งร้องเรียน ป.ป.ช.ให้สอบเจ้าอาวาสใหม่ด้วย แต่พระครูวิสุทธิวรากร เจ้าอาวาสใหม่ก็ไม่ยอม ได้ฟ้องกลับเช่นกัน

 

 

 

พระครูพิสุทธิวรากร เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ ก็เดินทางเข้าวัดหลวงพ่อเงิน แต่ชาวบ้านลูกศิษย์พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสรูปก่อน ไม่ยอมให้เจ้าอาวาสใหม่เข้าวัด แม้จะมีกำลังคุ้มกันอย่างไร ก็ไม่สามารถ ทะลุทะลวงชาวบ้านที่ยึดวัดได้ เรื่องถึงศาล ซึ่งศาลบังคับให้ชาวบ้านออกจากวัด แต่พวกเขาไม่ฟังศาล จนกระทั่งเกิดคดีผู้ชายแต่งกายชุดดำ 22 คน เข้าไปทำร้ายพระ และเจ้าหน้าที่วัด เมื่อ 6 เม.ย. 2566

 

 

 

เรื่องขยายตัวมากขึ้น จนระดับจังหวัดแก้ปัญหาไม่ได้ ร้อนถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องไปสอบสวนด้วยตนเอง และสั่งจับชายชุดดำได้มา 20 คน ส่วนคนสั่งการทั้งหมด ตามที่สื่อรายงายงาน คือ สว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อ คือใช้จ้างวาน ก่อเหตุวิวาท และบุกรุก ซึ่ง สว.คนดังกล่าวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

สว.กิตติศักดิ์ วัดบางคลาน

มูลเหตุปัญหาทั้งหมดที่วัดบางคลาน หลวงพ่อเงิน คือผลประโยชน์ หรือเงิน ดังเช่นพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาส ที่เป็นต้นเหตุ นั้น ท่านมีสมุดบัญชีเงินฝากถึง 5 เล่ม ต่อมาลดเหลือ 1 เล่ม ตามคำสั่งผู้ปกครองระดับสูง และเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้สังคมสงฆ์ ชาวบ้านแตกแยกกันในเวลาต่อมา

 

 

 

เมื่อพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสมรณภาพ เมื่อ 24 มิ.ย. 2565 หลายฝ่ายทราบเรื่อง ก็พูดไปทำนองเดียวกันว่า เรื่องร้ายๆ จะได้จบเสียที แต่ก็ยังไม่จบ ตามที่คาดหวัง หลังจากนี้ก็คอยติดตาม ว่ากฎหมายใช้กับวัดหลวงพ่อเงินได้ไหม

 

วัตถุมงคลหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

 

“ปาฏิหาริย์หลวงพ่อเงิน”

 

ส่วนเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ หลวงพ่อเงินนั้น มีเรื่องเล่าหลายเรื่อง เช่น อยู่ยง คงกระพัน เมตตามหานิยม ทำมาค้าขึ้น เสกใบไม้เป็นตัวต่อ และการรักษาโรค แม้กระทั่งรูปเหมือนที่ทำแจกเด็กวัด ก็ป้องกันไม่ให้ปลาปักเป้ากัด เมื่อลงอาบน้ำ (ปลาปักเป้าชุมมากสมัยก่อน) ไม่ต้องพูดปืนยิงไม่ออก วัตถุมงคลยุคแรกๆ ได้แก่ ตระกรุด และน้ำมนต์ ส่วนพระพิมพ์เช่นจอบเล็ก จอบใหญ่ นั้นสร้างขึ้นภายหลัง แต่ได้รับความนิยมอย่างสูง

 

ขอบคุณภาพจาก www.amuletpura.com

 

อีกอย่างหนึ่งอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับตัวท่าน ล้วนเป็นของวิเศษ คุ้มภัย เช่น ชานหมาก เมื่อท่านคายออก จะมีคนคอยแย่งกัน หรือเมื่อสรงน้ำ จะมีคนนำภาชนะไปรองใต้ถุนที่น้ำตกลงไป เพราะเป็นน้ำศักดิ์สิทธ์ อาบแก้โรคผิวหนังได้ เมื่อท่านมรณภาพ ฌาปนกิจแล้ว อัฐิธาตุเป็นที่ต้องการ ปัจจุบันใครมีในครอบครอง ถือว่าเป็นมงคล

 

 

หลวงพ่อเงิน โพทะเล มีชื่อดังยุคเดียวกับ หลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท

 

 

วันหนึ่งหลวงพ่อศุข แนะนำ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นศิษย์เอก ให้เสด็จไปศึกษาวิชาอาคมและวิปัสสนา กับหลวงพ่อเงิน เสด็จในกรมตกลงเสด็จ ส่วนที่วัดบางคลาน หลวงพ่อเงิน สั่งลูกศิษย์ ให้ทำความสะอาดวัด โดยบอกว่า เสือจะมา นั่นแสดงว่า ท่านมีญาณแก่กล้า สามารถรู้เหตุการณ์ ล่วงหน้าได้ เสด็จในกรม ประทับศึกษาวิปัสสนา กรรมฐาน และคาถาอาคมต่างๆ รวม 15 วัน จึงเสด็จกลับ

 

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ผู้บัญชาการคณะสงฆ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในภาคเหนือ ได้เสด็จที่วัดบางคลาน เพื่อสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเงิน แต่หลวงพ่อเงินหลบเข้าป่า โดยมอบหมายให้พระที่รู้ราชพิธี เข้าเฝ้าถวายดอกไม้ธูปเทียนแทน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระราชทานไตรจีวรให้หลวงพ่อเงิน 1 ไตร

 

 

กิตติศัพท์ เกียรติคุณ ในหลวงพ่อเงินไม่เคยจืดจาง แม้จะละสังขารไปตั้งแต่ แรม 11ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ 2462 สิริรวมอายุ  109 ปี

 

หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

 

ตามประวัตินั้น “หลวงพ่อเงิน” เกิดเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2353 โยมพ่อชื่ออู้ ชาวบางคลาน โยมแม่ชื่อฟัก ชาวบ้านแสนตอ มีพี่น้อง 6 คน หลวงพ่อเงินเป็นคนที่ 4 เมื่ออายุ 3 ขวบ เด็กชายเงินเข้ากรุงเทพ กับลุงชื่อช่วง ซึ่งเป็นลุงแท้ๆ ลุงฝากให้เรียนหนังสือที่วัดตองปุ หรือวัดชนะสงคราม อายุ 12 ปี บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนที่วัดตองปุ

 

 

อายุ 20 ปี ถึงเวลาอุปสมบท แต่ท่านไม่มั่นใจเรื่องอายุว่าครบ 20 ปี หรือไม่ จึงไม่บวช แล้วสึกไปอยู่บางคลาน เพราะความเป็นหนุ่มไปหลงรักสาว ชื่อเงินเหมือนกัน วันหนึ่งไปบ้านสาว ขึ้นบันได แต่บันไดหัก จึงอายเลิกไปหาสาวนั้น ฟังจากพี่สะไภ้ว่า ชาตินึ้ อย่าแต่งงานเลย ถ้าบวชได้ ประเสริฐกว่า ท่านจึงตัดสินใจมาบวชที่วัดตองปุ ได้รับฉายาว่าพุทธโชติ

 

 

ตามข้อมูลว่า ท่านอยู่วัดตองปุ 3 พรรษา ก็ลากลับไปเมืองพิจิตร โดยจำพรรษาที่วัดคงคาราม จากนั้น ย้ายมาจำพรรษาวัด วังตะโก ก่อนจากวัดคงคาราม ท่านนำกิ่งโพธิ์มา 1 กิ่ง อธิษฐานก่อนปลูกว่า หากเจริญรุ่งเรืองให้กิ่งโพธิ์แผ่กิ่งก้านใหญ่โตต่อไป โพธิ์กิ่งนี้เจริญเติบโตตามอธิษฐาน

 

 

ต่อมา วัดวังตะโก มีชื่อว่าวัดหิรัญญาราม หรือวัดหลวงพ่อเงิน บางคลาน ตราบเท่าทุกวันนี้

 

 

ข่าวยอดนิยม