คอลัมนิสต์

‘สงกรานต์’ พระประแดงที่รอคอย ประเพณีของชาวมอญในพื้นที่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สงกรานต์ พระประแดง" ที่รอคอย เริ่ม 21-23 เม.ย. 66 เพื่ออนุรักษ์ประเพณี การทำบุญและความงดงามของประเพณีสงกรานต์ชาวมอญในพื้นที่

 

เทศบาลพระประแดง ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ติดประกาศเชิญเที่ยวงานประเพณี วันสงกรานต์ พระประแดง ประจำปี 2566 ในวันที่ 21-23 เม.ย.66 ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ แผลงไฟฟ้า บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง หมู่บ้านชาวรามัญ และวัดโปรดเกศเชษฐาราม พระอารามหลวง

เทศบาลพระประแดงจัดประเพณีแห่สงกรานต์ ห่างจากวันสงกรานต์ที่จัดทั่วไป 1 สัปดาห์ เพื่อการอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เก็บเกี่ยวความงดงามของประเพณี 

 

‘สงกรานต์’ พระประแดงที่รอคอย

 


ลักษณะงาน ในวันที่ 21-23 เม.ย.นั้น ประกอบด้วยการทำบุญตามประเพณี คือการกวนขนมกาละแม ไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ  การหุงข้าวแช่ เพื่อบวงสรวงท้าวกบิลพรหม ที่บ้านสงกรานต์ หรือศาลเพียงตา ที่สร้างไว้ชั่วคราว ในลานบ้าน จากนั้น จะหาบไปถวายพระสงฆ์ในวัดใกล้บ้าน และนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

การหุงข้าวแช่นั้นเป็นงานที่พิถีพิถัน ตั้งแต่เตรียมข้าว ซาวข้าว หุงสุกแล้วนำมาบรรจุลงในหม้อสงกรานต์ หรือหม้อข้าวแช่ ที่ทำพิเศษเช่นฝาปิดนั้นมีจุกเป็นยอดแหลมคล้ายเจดีย์ อีกแบบหนึ่งใช้หม้อดิน นำใบตองสดปิดใช้ตอกมัดให้แน่นแทนฝา ที่ขาดไม่ได้สำหรับข้าวแช่คือเครื่องเคียง ส่วนมากใช้เนื้อเค็มฉีกเป็นฝอย หัวไชโป๊ว ปลาป่นแห้ง และไข่เค็ม

 

 

‘สงกรานต์’ พระประแดงที่รอคอย


วันสุดท้ายจะมีการสรงน้ำพระ ที่จัดเป็นห้องให้พระนั่งรับน้ำที่ประชาชนเทใส่รางไม้ไผ่เพื่อสรงพระคุณเจ้า

 


นอกจากเรื่องที่กล่าวแล้ว ก็มีประเพณีปล่อยปลาเพื่อต่ออายุ ดังเรื่องที่ปรากฏในธรรมบทว่า พระอาจารย์ทำนายสามเณรรูปหนึ่งว่าจะเสียชีวิตใน 7 วัน สามเณรจึงขออนุญาตไปบ้านเพื่อเยี่ยมโยมระหว่างทางสามเณรพบปลาติดในหนองน้ำที่กำลังแห้ง จึงจับไปปล่อยในแหล่งน้ำ เสร็จจากบ้านโยมกลับมาวัดอาจารย์พบว่าสามเณรยังมีชีวิต จึงถามว่า ระหว่างไปบ้านทำอะไรบ้าง สามเณรว่าจับปลาที่น้ำกำลังแห้งไปปล่อย นี่คือที่มาประเพณีปล่อยปลา ซึ่งเทศบาลพระประแดงจะแห่ปลาไปปล่อยที่ท่าน้ำวัดโปรดเกศ

 

‘สงกรานต์’ พระประแดงที่รอคอย

 

ในวันสุดท้ายเป็นไฮไลท์ของงานประเพณี คือแห่หงส์ ธงตะขาบ เพื่อไปจัดตั้งที่เตรียมไว้ในวัดมอญ ทั้งหงส์และธงตะขาบ 2 สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ชาวมอญ หงส์ คือพญาหงส์ ตัวแทนเมือง หงสาวดี อดีตเมืองหลวงของชาวมอญ  ส่วนธงตะขาบ คือหางหงส์ (แต่ทำไมเรียกธงตะขาบ ยังหาคำอธิบายไม่ได้)  


ส่วนที่เพิ่มเติมคือการประกวดนางสงกรานต์ การเล่นสะบ้า และทะแยมอญ เพื่อรักษาปนะเพณีชายหนุ่ม จะนุ่งลอยชาย ให้ดูเตะตาด้วย

 

‘สงกรานต์’ พระประแดงที่รอคอย

 

สุดท้าย คือรดน้ำ ดำหัว ที่ผู้น้อยขอพรจากผู้อาวุโส  ต่อจากนั้น บรรดาชายหนุ่ม หญิงสาว (ส่วนมากมาจากที่อื่น) จะสาดน้ำให้ชุ่มฉ่ำ บอกว่านี่คือสงกรานต์
 

ผมเดินเข้าวัดพญาปราบปัจจามิตร และวัดอาษาสงคราม วัดมอญ ที่อยู่ในคณะธรรมยุต ชื่อวัดทั้ง 2 บอกว่าผู้สร้างวัด เป็นนักรบชาวมอญ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ขอให้อพยพมาจากเชียงใหม่ และพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือน และที่ทำมาหากิน พร้อมทั้งพระราชทานชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเชียงใหม่ เป็นอนุสรณ์ว่าเคยอยู่ที่นั่นมาก่อน การที่ทรงโปรดเช่นนี้ เพราะทหารมอญช่วยปราบปรามผู้รุกรานทางเมืองเหนือ จนพ่ายแพ้ไป
 

 

ถนนกินที่วัดพญาปราบฯ เจดีย์จึงถูกแบ่ง ส่วนหนึ่งอยู่ในวัดอีกส่วนหนึ่งเป็นฟุตปาธ อันซีนที่พระประแดง

 

ผู้นำมอญคนหนึ่งได้รับพระราชทานยศเป็นสมิงอาษาสงคราม พร้อมพระราชทานที่ดินด้วย สมิงอาษาสงสงคราม แบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน คือสร้างวัด ส่วนหนึ่ง ชื่อว่าวัดอาษาสงคราม พระอารามหลวง เป็นวัดธรรมยุต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2363 พร้อมกับสร้างเจดีย์แบบมอญ เพื่อบรรจุเครื่องอิสริยศที่ได้รับพระราชทาน ที่ดินส่วนที่ 2 สร้างบ้านพัก ของท่านและบริวารและส่วนที่ 3 เป็นที่ทำกินของท่านและบริวาร


นอกจาก 2 วัดที่กล่าวนี้ ยังมีวัดมอญอีก 8 วัดในย่านพระประแดง เช่นวัดทรงธรรม วัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์ วัดกลาง วัดแค วัดคันลัด และวัดโมกข์ เป็นต้น

 

ส่วนภาพหงส์และธงตะขาบ ที่ประกอบเรื่องนั้น อยู่ที่วัดพญาปราบปัจจามิตร

 

หงส์และธงตะขาบ

 

 

พระเจดีย์แบบมอญที่บรรจุอิสริยยศของสมิงอษาสงคราม อยู่ที่วัดอาษาสงคราม

 

ที่บรรจุอัฐิ พญาปราบปัจจามิตร ต้นสกุล "ศรีเพริศ" ผู้สร้างวัดพญาปราบปัจจามิตร

 


สุดท้ายขอให้ทุกท่านหาความสำราญ โดยเคารพประเพณีดั้งเดิม แม้ว่าของจริง ชาวไทยมอญปากลัด จัดไปแล้ว 1 สัปดาห์ก็ตาม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ