คอลัมนิสต์

'ไฟป่า' กำลังจะจบลงแต่ยังไม่จบสิ้น ผู้เชี่ยวชาญชี้แก้ปัญหาแบบสัมฤทธิ์ผล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฤดู 'ไฟป่า' กำลังจะจบลง แต่ปัญหายังไม่จบสิ้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ทางออกแก้ปัญหาให้สัมฤทธิ์ผล ทุกคนต้องถอดหัวโขนหันมาร่วมกันทำงานแบบไร้รอยต่อหยุดทำงานแบบทางใครทางมัน

ฤดู "ไฟป่า" ของทางภาคเหนือกำลังจะจบลง ก็จะได้พักนิดนึงก่อนที่ฤดูไฟป่าทางใต้ของประเทศบริเวณป่าพรุจะเริ่มขึ้น โดยจะเป็นการเกิดไฟในป่าพรุ เป็นไฟใต้ดิน ground fire ที่เมื่อเกิดจะมีควันเยอะมาก แถมเป็นพิษด้วย ทำการควบคุมและดับไฟยากมาก โดยสาเหตุหลัก ๆ คือ ปริมาณน้ำในป่าพรุแห้งลง เนื่องจากปริมาณฝนตกน้อยและการปล่อยน้ำออกจากป่าพรุ ปี พ.ศ. 2566 นี้

 

 

ทางประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมการเกิด "ไฟป่า" แล้ว เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศอินโดนีเซีย(BMKG) ได้ประกาศเตือนว่าปีนี้และปีหน้าประเทศอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญจะมีปริมาณฝนตกน้อยลง ซึ่งโดยปรกติเท่าที่ผ่านมาถ้าสถานการณ์ "ไฟป่า" ของอินโดนีเซียเป็นอย่างไร ทางภาคใต้ของประเทศไทยก็จะมีสถานกาณ์ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ แต่ก่อนที่จะคุยกันเรื่องไฟป่าพรุ เราควรที่จะว่ากันต่อจากบทความที่แล้วเรื่องทางออก

ข้อเสนอหนทางออกร่วมที่ควรพิจารณาแก้ไขร่วมกันมีดังต่อไปนี้

1.เชื่อกันว่าวัฒนธรรมการเผาจะยังคงอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้คนจุดไฟน้อยลง ต้องมีประโยชน์อย่างอื่นให้เขา เขาถึงจะหยุดจุด “ถ้าตราบใดคนจุดไฟยังได้ประโยชน์จากการจุดไฟ ตราบนั้นก็ยังคงมีคนจุดไฟอยู่ดี และเมื่อมีไฟ ก็มีควันไฟ”

 

 

2.ปัญหาหมอกควันมีองค์ประกอบหลักจากปัจจัยทางธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ผนวกกับปัจจัยคน ตามพฤติกรรมการจุดไฟของคนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยบริบทต่าง ๆ การห้ามเผาเป็นมาตรการระยะสั้น จำเป็นที่จะต้องช่วยกันคิดว่ามาตรการระยะยาวนั้นต้องดำเนินการลงมือทำอะไรบ้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจุดไฟของคน ปัญหาหมอกควันที่จะส่งผลกระทบถึงลดน้อยลงอย่างยั่งยืน (มาตรการต่าง ๆ มีมากมาย แต่จะดำเนินการอย่างไรจึงจะทำให้สัมฤทธิ์ผล โดยไม่กระทบทั้งทางด้านเศรฐกิจและสังคม ตามที่ได้ร่วมกันกำหนดและวางแผนไว้)

3.เมื่อชุมชนเมืองได้รับผลกระทบมาก จะต้องหาวิธีการช่วยเหลือให้สามารถเชื่อมต่อทำงานร่วมกับท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น มีกองทุนช่วยเหลือต่าง ๆ การรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรถ้าชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพการผลิต คือ ต้องดำเนินการให้ชาวบ้านได้รับรายได้จริง ๆ ชุมชนเมืองต้องไม่ได้แต่บ่นและกล่าวหาเพียงอย่างเดียวต้องมีการดำเนินการช่วยเหลือภาคชนบทที่เป็นแบบแผนและอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เพ้อฝันไปเรื่อย อปท.ที่มีทุนมากกว่าหรือขนาดใหญ่กว่าที่พอมีกำลังที่จะช่วยเหลือ ถึงแม้ติดขัดข้อบังคับ กฎหมาย หรือข้อบัญญัติประการใด ถ้าอยู่บนพื้นฐานความจริงจังและจริงใจ เชื่อว่าสามารถที่จะหาทางออกร่วมกันได้แน่นอน

 

 

4.ภาครัฐต้องมีความจริงจังและจริงใจในการร่วมแก้ไขปัญหากับชาวบ้านมากขึ้น โดยร่วมลงมือทำจริง ๆ อย่างสั่งการเพียงอย่างเดียว ช่วยทำลายอุปสรรคกั้นขวางต่างๆ เช่น ข้อกฎหมาย ข้อบังคับ เป็นต้น ต้องค่อย ๆ ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายที่จับต้องได้ที่ชัดเจน

 

 

5.การเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมที่ใช้ไฟไปเป็นแบบที่ไม่ต้องใช้ไฟนั้น ไม่ง่ายอย่างที่พูดหรือยกตัวอย่างกัน เพราะมีปัจจัยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เรื่องการตลาดที่ต้องทำอย่างไรให้ยั่งยืนมั่นคง รองรับผลผลิตด้วยราคารับซื้อที่เกษตรกรสามารถรับได้ตลอดเวลา ไม่ง่ายเพราะข้อเท็จจริง คือ การควบคุมตลาดเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ยากมาก ๆ

 

ข้อเสนอหนทางแก้ไข

1.ให้ใช้วิธีจัดการเชื้อเพลิงโดยการเผาโดยกำหนด เพียงแต่ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน จำเป็นที่จะต้องจัดทำระบบการจัดการเชื้อเพลิงและจัดการควันให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดให้ชัดเจน มีการออกใบอนุญาตการเผา คนดำเนินการต้องได้รับการอบรมก่อนดำเนินการ และทุกคนต้องเห็นด้วยที่จะทำตามข้อกำหนดในระดับตำบลเป็นอย่างน้อย ถ้าได้ระดับหมู่บ้านจะยิ่งเป็นการดี

 

 

2.หนึ่งในทางออกที่ต้องดำเนินการ คือ มาตราการเชิงรุก การจัดการเชื้อเพลิงโดยการเผาโดยกำหนด อย่างเป็นระบบ เปิดเผย ชัดเจน ตรวจสอบได้ ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องมีระบบการบริหารจัดการที่รองรับได้จริงและมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ระบบจัดชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System, FDRS โดยปัจจุบันผู้เขียนและกองวิชาการไฟป่า ส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ และกรมป่าไม้ประเทศแคนาดา กำลังปรับปรุงค่าช่วงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพราะค่าช่วงที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ยังผิดพลาดมากเกินไป ส่งผลให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงดำเนินการได้ยาก) ระบบทำนายการระบายอากาศโดยใช้ Dispersion หรือ Ventilation Index ที่ละเอียดพอสำหรับพื้นที่ต่าง ๆ การพยากรณ์ภูมิอากาศเฉพาะพื้นที่ที่ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ระบบดังกล่าวต้องสามารถบอกปริมาณเชื้อเพลิงสะสมได้ด้วย และที่สำคัญต้องเป็นระบบที่สามารถบอกได้ว่าควันที่เกิดจะไปกระทบชุมชนไหนนานขนาดไหนบ้าง เพื่อการสื่อสารสองทางและการอนุญาตการเผาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  

 

 

3.ส่งเสริมการเกษตรบนพื้นที่สูงในรูปแบบวนเกษตรที่เข้มข้นและถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมีการส่งเสริมและปฏิบัติได้จริง ต้องเชื่อมโยงให้ได้รับผลประโยชน์ทางด้านรายได้ที่จับต้องได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่ลมปากและความฝัน

 

 

4.เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมไฟป่า ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าโดยการมีส่วนร่วม โดยร่วมมือกับ อปท.ที่ถ่ายโอนภารกิจ โดยมิใช่แค่เป็นการดำเนินการเพียงแค่มอบหมายภาระกิจ ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน จำเป็นที่จะต้องติดตามผลการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ ว่าได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว หรือที่ไหนยังไม่ดำเนินการ ติดขัดอะไรประการใดช่วยให้คำแนะนำแก้ไข อีกทั้งหาวิธีชักชวนให้ดำเนินการ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพิ่มเติม จนกว่าทางอปท.นั้นๆยินดีที่จะดำเนินการในพื้นที่ที่มีปัญหาให้สำเร็จ การประสานเพิ่มเติมแก้ไขกม.ข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคกับสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

 

 

5.ดำเนินการขยายการจัดตั้งเครือข่ายหมอกควันไฟป่า ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ให้เงินอุดหนุนเครือข่ายฯอย่างสม่ำเสมอ โดยมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อหลีกหนีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความรู้สึกที่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งก็จะสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนขึ้นอีก

 

 

6.ต้องมีการกำหนดเป้าหมายว่าปีนี้จะดำเนินการแก้ไขอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่พบอะไรบ้าง ติดขัดปัญหาอะไร จะแก้ไขอย่างไร ช่วยกันคิดว่าจะมีวิธีอื่นอย่างไรหรือไม่  ส่วนเรื่องประชาสัมพันธ์เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่สูงในภาคเหนือมีหลายชนเผ่า มีการสื่อสารที่แตกต่างกันต้องมีการสื่อสารให้เข้าใจและขับเคลื่อนการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน มีการประเมินถอดบทเรียนในแต่ละพื้นที่เพื่อดูผลสำเร็จและปัญหาอุปสรรค เพื่อนำไปเป็นข้อมูลดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในปีต่อไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่นั้นๆก่อนจะลุกลามไปสู่ชุมชนอื่นๆ ระดับที่ต่ำลงมาในที่สุด ปัจจุบันพบว่ามีโมเดลในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาได้บ้างแล้ว แต่เมื่อลงในภาคปฏิบัติจริงยังมีปัจจัยหรือองค์ประกอบอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมาย นอกจากนั้นในการลงมือทำจะต้องยอมรับในข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ยึดถือวิธีการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักปฏิบัติงาน สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ส่งผลให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชุมชน ปัญหาในพื้นที่ก็ลดน้อยลงเป็นเงาตามตัว

 

 

7.ส่วนเรื่องหมอกควันข้ามแดน คงต้องศึกษาให้ชัดเจนจริงๆ และมีระบบตรวจติดตามที่ถูกต้องและละเอียดพอ เป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องดำเนินการปรับโครงสร้างกรมป่าไม้ของประเทศเพื่อนบ้านให้มีส่วนควบคุมไฟป่า เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่มีส่วนควบคุมไฟป่าที่มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนโดยหน่วยงานภาครัฐ การที่มีการแจ้งว่ามีไฟไปม้ที่ป่าไหนแต่ไม่มีใครเข้าไปควบคุม ถือว่ายังไม่ครบองค์ประกอบเบื้องต้น

 

 

ส่วนพรบ.อากาศสะอาดก็ได้เข้ากระบวนการทางสภาเรียบร้อยแล้วแต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะผ่านแต่อย่างใด เพราะทางรัฐเองก็มีพรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 ที่เหมือนจะครอบคลุมอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดรายละเอียดเพิ่มเติมเท่านั้น  ทั้งนี้ประเทศอเมริกามี กฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act มาตั้งแต่ค.ศ 1963 หรือ พ.ศ. 2506 แต่ปัจจุบันเกษตรกรของเขาก็ยังใช้วิธีการเผาอยู่เหมือนเดิม นั้นจะสามารถสะท้อนได้หรือเปล่าว่า ต่อให้มีพรบ.อากาศสะอาดออกมาบังคับใช้ ก็มิได้หมายความว่าการเผาภาคเกษตรกรรมจะลดน้อยลง ซ้ำร้ายการเกิดไฟป่าก็เกิดและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

 

จนทาง US Environmental Protection Agency (EPA) จำเป็นที่จะต้องมีข้อยกเว้นเพื่อให้ดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่สะสมจนมากเกินไปในพื้นที่ป่าได้ อีกทั้งไม่นำค่าคุณภาพอากาศที่วัดได้ในช่วงเกิดไฟป่าใหญ่มารวมกับค่าตรวจคุณภาพอากาศปรกติ เพราะมิเช่นนั้น ค่าคุณภาพอากาศที่ต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานประจำปี ก็จะไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้ สุดท้ายก็ต้องใช้วิธีการเผาภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดการร่วมกัน การเผาโดยกำหนดและระบบการจัดการควันที่เกิด ก็จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ที่พยายามจะกล่าวคือหนีอย่างไงก็หนีไม่พ้น ช้าเร็วเท่านั้น

 

 

หนึ่งในเครื่องมือที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาคือระบบการจัดการการชิงเผาและหมอกควันที่จะเกิดให้มีความถูกต้องสูง สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว การจัดระเบียบการเผาทั้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงและข้อเท็จจริงของการใช้ไฟเพราะมีไฟก็ต้องมีควันเกิดขึ้น ฉะนั้นต้องพยายามลดผลกระทบของควันที่เกิดขึ้นต่อประชาชนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าปัญหาที่เรากำลังคิดจะแก้ไขนั้น คือ ปัญหาควัน 

 

 

เพราะบางครั้งมีไฟไหม้มากแต่ควันไม่ได้ส่งผลกระทบประชาชนก็จะไม่มีใครสนใจพื้นที่ที่มีไฟไหม้มากนั้น ถ้าสามารถบริการจัดการให้มีไฟบ้างแล้วควันส่งผลกระทบน้อย จะสามารถยอมรับและให้ดำเนินการได้ไหม เพราะการที่จะไม่ให้มีไฟเลยคงเป็นไปไม่ได้ บางกรณียิ่งห้ามเผาเหมือนยิ่งยุ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหามากขึ้นไปอีก โดยสาเหตุหลักของการเผาในที่โล่งและการทำไร่หมุนเวียน คือ การเตรียมพื้นที่เกษตร ทั้งนี้การเตรียมการพื้นที่การเกษตรยังคงมีการเผาอยู่ ถ้าไม่เผาและทำการไถ่กลบแทนไม่ได้ จะมีการใช้ยาฆ่าหญ้าและยากำจัดศัตรูพืช มากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเข้าหน้าฝน สารพิษต่าง ๆ ที่ใช้นั้น จะถูกชะล้างจากพื้นที่สูงต้นน้ำ สู่พื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ อย่างที่เกิดขึ้นกับเชียงรายโมเดล ที่มีการใช้ยาฆ่าหญ้าช่วงปี 2560-2561 เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ไม่มีการพูดถึง

 

 

ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบกับสุขภาพในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปอีกแบบ เราได้คำนึงเรื่องนี้กันบ้างหรือยัง โดยเรื่องผลกระทบจากควันต่อประชาชนเป็นปัญหามากกว่าผลกระทบต่อลักษณะของพื้นที่ที่ไฟไหม้ เราอาจจะมีระบบที่สามารถบอกลักษณะเชื้อเพลิง Fire Danger Rating System ระบบพยากรณ์อันดับความรุนแรงของไฟซึ่งกำลังปรับปรุงเพิ่มเติม (https://wildfire.forest.go.th/fdrs/FDRS.php) แต่ระบบการพยากรณ์การเคลื่อนตัวของควันที่จะเกิดขึ้นจากแต่ละการเผานั้น ประเทศไทยยังไม่มีระบบที่ถูกต้องและดีพอในการใช้งานจริง (มีใช้แต่ที่เกิดไฟแล้ว แล้วก็ยังขึ้นอยู่กับเวลาที่ดาวเทียมที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ผ่านด้วย ซึ่งจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดการเผาทั้งหมด เพราะดาวเทียมจะเห็นพื้นที่ของประทศไทยเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น) ต้องมีระบบที่สามารถพยากรณ์ผลกระทบจากควันทั้งบริเวณที่ใกล้เคียงและที่ห่างไกลควบคู่ไปด้วยกัน โดยต้องมีระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศภาคพื้นดินประกอบการทำงานอย่างทั่วถึงด้วย 

 

 

โดยสรุปมาตรการหรือการพยายามดำเนินการต่างๆจะไม่สัมฤทธิ์ผลถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมขอทุกภาคส่วน ลดความขัดแย้งระหว่างสังคมเมืองและชนบท  ลดตัวตน ถอดหัวโขน โดยทุกภาคส่วนต้องปรับทัศนคติและข้อตกลงทั้งหลายร่วมในทิศทางเดียวกัน การสื่อสารต้องเป็นแบบสองทางทั้งแนวดิ่งและแนวราบ เปิดใจกว้างนำข้อเท็จจริงและปัญหาอุปสรรคที่ได้ถอดบทเรียน ร่วมประชุมหารือ แลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นทั้งหลายที่ผ่านมามากมายขึ้นมาไว้บนโต๊ะ แบ่งหมวดหมู่พร้อมหาทางออกแบบยั่งยืนร่วมกัน ร่วมกันแก้ไขเป็นข้อๆโดยความเป็นธรรมและเท่าเทียม

 

 

อีกทั้งต้องดำเนินการให้อปท.มีส่วนร่วมในการแก้ไขบริหารปัญหาร่วมแบบเต็มรูปแบบ มีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่ใช่แบบเฉพาะกิจ ผู้มีอำนาจรัฐส่วนกลางต้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ สนับสนุนทั้งทางงบประมาณและอำนาจการบริหารจัดการ มีปัญหาติดขัดข้อกฎหมายอะไรหรือต้องการให้มีกฎหมายหรือข้อบังคับอะไรเพิ่มเติม ต้องช่วยดำเนินการหาทางออกให้ เพื่อให้เดินหน้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง การผลักดันให้มีระบบการจัดการเชื้อเพลิงและหมอกควันที่มีความถูกต้องสูงตามหลักวิชาการวิทยาศาสตร์ไฟและควัน ผ่านการเผาโดยกำหนดตามหลักวิชาการทั้งในพื้นที่ป่าและการเผาเพื่อจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่เท่าเทียมเป็นธรรม สอดคล้องกับบริบทและวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ เหมาะสมกับห้วงเวลาและลักษณะภูมิอากาศ ควันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือเมืองน้อยที่สุด โดยกำหนดระเบียบ ข้อกำหนดให้ชัดเจน และต้องได้รับอนุญาตถึงเผาได้ โดยผู้อนุญาตการเผาต้องอยู่ที่ระดับท้องถิ่น ดำเนินการทบทวนความรู้ที่มีอยู่ในเรื่องพฤติกรรมไฟที่มีการศึกษามากว่า 30 ปี

 

 

ผนวกผสมผสานกับความรู้ท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อใช้เป็นฐานความรู้และถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องบทพื้นฐานวิชาการดังกล่าวให้กับทุกภาคส่วนทุกระดับชั้นเพื่อใช้เป็นความรู้ประกอบการบริหารจัดการการควบคุมไฟและหมอกควัน ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ ดำเนินการศึกษาวิจัยให้กระจ่างเรื่องที่ไม่ชัดเจน เช่น ความถี่ของการชิงเผาเพื่อกำจัด ลด หรือ ตัดตอนเชื้อเพลิงในป่า ดำเนินการจัดตั้งให้มีระบบการอบรมการควบคุมไฟอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ที่เป็นขั้น เป็นตอน แยกประเภท แยกหน้าที่ ที่สามารถร่วมดำเนินการควบคุมไฟอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ให้ชัดเจนตามหลักสากล

 

 

พร้อมมีการรับรองการอบรมด้วยหน่วยงานรัฐ เช่น มีประกาศนียบัตร หรือบัตรประจำตัวตามระดับชั้นที่ได้เรียนและอบรมมา ดำเนินการศึกษาวิจัยสรุปทำความเข้าใจพฤติกรรมควันให้ชัดเจนเพื่อการจัดการควันที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดำเนินการศึกษาวิจัยสรุปทำความเข้าใจพฤติกรรมคนเพราะบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ได้ดำเนินการได้ผลดีจากที่หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ผลอีกที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน ต้องปรับให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ดำเนินการศึกษาวิจัยสรุปทำความเข้าใจพฤติกรรมการจุดและห้วงเวลาการจุดของแต่ละจังหวัดซึ่งไม่เหมือนกัน ต้องทำความเข้าใจ แล้วปรับให้ตรงตามบริบทข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่ ระบบราชการไทยไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน กฎหมายที่มีไม่เอื้ออำนวย ความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาไม่เป็นหนึ่ง

 

 

มีหน่วยงานรับผิดชอบในปัญหาหลายหน่วยงานเกินไปจนมีช่องว่างให้แต่ละหน่วยงานไม่สามารถดำเนินงานตามที่ได้ประชุมตกลงกัน ต่อให้มีการประชุมแก้ไขปัญหาร่วมกันมากมายในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถร่วมกันทำงานเป็นหนึ่งเดียวอย่างเป็นรูปธรรม ต่อให้ในอนาคตมีกฎหมายอากาศสะอาดบังคับใช้ แต่ถ้าระบบราชการยังไม่อำนวยในการทำงานร่วมกันอีกทั้งบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่ชัดเจน ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่ดี เพราะระบบราชการไม่เอื้อในการขับเคลื่อนก็จะเกิดการติดขัด ดีไม่ดีภาคประชาชนจะเกิดความขัดแย้งหนักจากการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้นก็เป็นได้

 

เพราะอาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิของประชาชนบางกลุ่มได้ซึ่งก็เป็นปัญหาละเอียดอ่อนในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถละเลยได้ ทั้งนี้ทางออกและมาตราการต่างๆจะไม่สามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้ ถ้าขาดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจและร่วมด้วยช่วยกันจากทุกภาคส่วน การทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาชน (Public and Citizen) ด้านควบคุม "ไฟป่า" (Fire Control Units) ด้านอปท. (Local Administration and Authority) ด้านกฏหมาย (Laws and Regulations) ด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality Regulators) ด้านสุขภาพ (Health Department Managers) ด้านภัยพิบัติ (Emergency Operations Units) ด้านพยากรณ์สภาพและสภาวะภูมิอากาศ (Weather and Air Pollution Forecasters) และด้านสื่อสารมวลชน (Media)

 

 

โดย: ดร.วีรชัย ตันพิพัฒน์ หน่วยวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไฟป่าภูมิภาคอาเซียนตอนบน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ