คอลัมนิสต์

กว่า 50 ปี 'ไฟป่า' ในไทยไม่ใช่เพิ่งเกิด ปี 2514 ไฟไหม้กว่า 46 ล้านเอเคอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กว่า 50 ปี 'ไฟป่า' ในประเทศไทยไม่ได้เพิ่งเกิด แต่ถูกเรียกให้เป็นวิถีดั่งเดิม รู้จักชาวแคนาดาคนแรกค้นพบไฟไหม้ป่ากว่า 46 ล้านเอเคอร์ จนมีการก่อตั้ง "โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์"

การเกิด "ไฟป่า" ในประเทศไทย มีมานานตั้งแต่ในอดีตมากกว่า 50 ปี มิได้เพิ่งมีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับความสนใจและมีการแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธุระของการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือชอบเรียกกันว่า “เป็นวิถีชีวิตดั่งเดิม” 

 

 

มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหลายท่านได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยหลายสมัยถึงอันตรายของไฟป่า จนกระทั่งในปี 2514  รัฐบาลประเทศแคนาดา ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไฟป่า ผู้ก่อกำเนิด Fire Danger Rating System ระบบดัชนีไฟ ของประเทศแคนาดา Mr. John Campbell (Cam) Macleod (ภาพที่ 1) เข้ามาศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ไฟป่าในประเทศไทย โดยการสำรวจแล้วทำรายงานเสนอต่อรัฐบาลไทย

หลังจากใช้เวลาศึกษาข้อมูลและตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่มีปัญหาไฟป่าต่าง ๆ แล้วประมวลผลการสำรวจศึกษาจนเป็นรายงานนำเสนอกรมป่าไม้รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 7 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง กันยายน Mr. Cam Macleod ได้ประเมินว่ามีไฟไหม้ในประเทศไทย ในปี 2514 ตามที่ได้ดำเนินการสำรวจอยู่ที่ประมาณ 118.733 ล้านไร่ (46.93 ล้านเอเคอร์) โดยส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ให้ข้อเสนอแนะในรายงานการสำรวจสรุปได้ว่า “ไฟป่าในประเทศไทยได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่พื้นที่ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี จึงได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อควบคุมและจัดการไฟป่าโดยเฉพาะ โดยเสนอแนะให้มีการพัฒนาบุคลากรเป็นอันดับแรก” อย่างไรก็ตามในขณะนั้นกรมป่าไม้ยังไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด 


 

ซ้าย Dr. J. C. and Mrs Helen Macleod กลางและขวา ถ่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไทย,ภาพซ้าย หน.วันชัย ปานาคะพิทักษ์ ภาพขวา MAYJUIN

ต่อมา ช่วงปี  2515-2517 กรมป่าไม้ได้รับการสนับสนุนทุนจากรัฐบาลแคนาดา จึงดำเนินการคัดเลือกและส่ง นายอภินันท์ ปลอดเปลี่ยว (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นข้าราชการของกรมป่าไม้ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการจัดการไฟป่าที่ประเทศแคนาดาในหัวข้อ “A Plan for Improving Forest Fire Management in Thailand” เมื่อจบการศึกษากลับมาประเทศไทย ได้ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการเตรียมการ โดยในปี 2519 กรมป่าไม้ได้จัดตั้ง “งานควบคุมไฟป่าขึ้นในสังกัดกองจัดการป่าไม้” เพื่อปฏิบัติงานต่อเนื่องจากโครงการป้องกันไฟป่า 

 

 

ผอ.อภินันท์ ปลอดเปลี่ยว

 

 

ต่อมาในปี  2523 คณะข้าราชบริพาร โดยมีกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยที่ 93 กรมตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักในการรับสนองพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะให้มีการป้องกันและควบคุม "ไฟป่า" มิให้เกิดไฟป่าทำลายป่าไม้บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยจัดให้มีการประชุมส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาไฟป่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2523 และวันที่ 20 มี.ค. 2523 ที่ประชุมรับหลักการที่กรมป่าไม้เสนอและให้นำเสนอ “โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์” ต่อสมุหราชองครักษ์และกรมตำรวจ

 

 

กรมป่าไม้ ได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2523 เพื่อหารือการดำเนิน โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์ และได้มีมติร่วมกันให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ และโครงการนี้จะเป็น Pilot Project สำหรับจุดอื่นๆ ที่มีปัญหาไฟป่า 

 

 

การก่อเกิดของหน่วยปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าภายใต้ชื่อ “โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์” ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1932/2523 ลงวันที่ 13 พ.ย. 2523 จึงถือเป็นหน่วยงานแรกที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่และในประเทศไทย และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย..2523 เห็นชอบมาตรการป้องกันไฟป่า 2 ระยะ ระยะเร่งด่วนและระยะยาว ให้มีการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง

 

 

มาปี 2524  พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือกราบเรียน พณท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2524 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กรมป่าไม้และกระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นเจ้าของเรื่องเสนอมาตรการที่จะตั้งหน่วยงานป้องกันไฟป่าขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2524  

 

 

จากมติ ครม. ส่งผลให้มีการยกระดับงานควบคุม "ไฟป่า" เป็น ฝ่ายควบคุมไฟป่า สังกัดกองจัดการป่าไม้ โดยแบ่งการบริหารงานของฝ่าย ออกเป็น 4 งาน คือ งานวิชาการและแผน งานป้องกันไฟป่าตามเงื่อนไขสัมปทาน งานศูนย์ควบคุมไฟป่า และงานบริการ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ที่มีปัญหา และได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานภาคสนามขึ้นมาหลายหน่วยงาน

 

ต่อมาในปี 2545 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2545 จัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งงานส่วนหนึ่งออกมาจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้งานควบคุมไฟป่าถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งต่อมาได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดให้งานด้านไฟป่าเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักป้องกันและควบคุมไฟป่า และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดตั้งส่วนวิชาการด้านไฟป่าขึ้นมารับผิดชอบปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ประวัติการจัดตั้งสถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์

สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับพักแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เพื่อทรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และทรงทอดพระเนตรเห็นไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นประจำทุกปี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการป้องกันมิให้เกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่ เพื่อรักษาสภาพป่าให้คงเดิมหรืออุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 
    

 

-ในปี 2523 คณะข้าราชบริพารอันประกอบด้วยกองอำนวยการรักษาความปลอดภัย 93 กรมตำรวจในขณะนั้น ได้เป็นเจ้าของเรื่องริเริ่มให้มีการจัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ และมอบให้กรมป่าไม้ในขณะนั้น จัดทำโครงการป้องกันไฟป่าในพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมรับหลักการตามที่กรมป่าไม้เสนอ และเห็นพ้อง กันว่าควรจัดให้มีโครงการป้องกัน "ไฟป่า" อย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ 


คำสั่งกรมป่าไม้ 1923/2523 วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523  จึงได้จัดตั้ง “โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์” โดยรับผิดชอบการป้องกันไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่ตั้งของพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา โดยมีที่ตั้ง ณ บ้านร่ำเปิง ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานีควบคุมไฟป่าแห่งแรกในประเทศไทย


-ในปี 2525 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ” เพื่อยกระดับงานควบคุมไฟป่า เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง บริเวณด้านบนวัดผาลาด บ้านเชิงดอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทางขึ้นพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ 

 

-ในปี 2534 ได้ทำการการย้ายสถานที่ตั้งโครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์ มาตั้งอยู่บริเวณด้านบนวัดผาลาด บ้านเชิงดอย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทางขึ้นพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และย้ายศูนย์ควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ไปตั้งอยู่ที่บ้านร่ำเปิง ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของโครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ราชนิเวศน์ นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

 

 

-ในปี 2545 ตามประกาศพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้ปรับโอนกิจการและภารกิจของหน่วยงานมาสังกัดสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในชื่อ “สถานีควบคุมไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่”

 

 

-ในปี 2548 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอีกครั้ง ในชื่อ “สถานีควบคุมไฟป่าเชียงใหม่” สังกัดส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 

-ในปี 2559 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอีกครั้ง ในชื่อ “สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์” จนถึงปัจจุบัน สังกัดส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

 

 

 

บทความโดย: ดร.วีรชัย ตันพิพัฒน์ หน่วยวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไฟป่าภูมิภาคอาเซียนตอนบน ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ