ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว จากข้อมูลดาวเทียม 4 ดวง ทั้งจากเซ็นเซอร์ The Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS โมดิส) - บนดาวเทียม Terra-ช่วงเช้า / Aqua-ช่วงบ่าย และ เซ็นเซอร์ The Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS เวียร์) - บนดาวเทียม Suomi-NPP / NOAA-20-ช่วงบ่าย ที่ในรอบ 22 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 ถึง 2565 แสดงให้เห็นว่าประเทศลาวตอนเหนือช่วงเดือนมีนาคมมีการเผาเยอะ เยอะมากเสียจน ค่า PM2.5 ที่ตรวจพบ มีค่ามากกว่า 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μ/m3)
แต่เหตุเพราะเราไม่เข้าใจพฤติกรรมควันจริงๆ ว่าที่ควันจะถูกลมพัดไปและพัดมาได้นั้น ในแต่ละพื้นที่อยู่ที่ความสูงจากพื้นดินที่ความสูงที่เท่าไหร่บ้าง มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการลอยตัวของ "หมอกควัน" อย่างไรบ้าง มีการเกิดการผสมผสานอากาศอย่างไร ลักษณะในแอ่งกระทะต่างๆ ที่มีผลกระทบจากทางธรรมชาติของหุบเขา Valley Effect มีผลต่อควันทั้งในและนอกหุบเขาแบบไหนอย่างไรบ้าง เช่น ถ้าบอกว่ามีควันจากนอกเข้ามาผสมในแอ่งกระทช่วงเวลากลางคืนได้ เพราะปรกติลมพัดจากยอดเขาลงมาก้นของหุบเขา แล้วทำไมควันจากด้านล่างของหุบเขาด้านนอกถึงสามารถลอยขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อพัดลงในหุบเขาด้านในได้
การเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงของการผสมของมวลอากาศ (Mixing Height Changing) สามารถกดทับควันภายในแอ่งกระทะอย่างไร แล้วทำไมค่าที่เครื่องวัดคุณภาพอากาศที่อยู่ระดับพื้นผิวโลก (ไม่เกิน 2-3 เมตร) สามารถวัดค่า PM2.5 และ PM10 เหล่านั้นได้ ปรกติสามารถวัดได้สูงในช่วงเช้าตรู่ มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ หรือเกิดจากลักษณะและคุณสมบัติทางธรรมชาติอื่นๆที่เรายังไม่เข้าใจกันอย่างถ่องแท้ แล้วลักษณะของพื้นที่สีเขียวโดยรอบ ลักษณะของโดมความร้อนเมือง Urban Heat Island มีผลต่อการลอยตัวของควันแบบไหน
ซึ่งคำอธิบายจากหลายฝ่ายผู้ที่บอกว่ารู้ จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถอธิบายให้มีความชัดเจนอย่างง่ายๆ ที่จะเข้าใจเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าแท้ที่จริงแล้วนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วทำไมในเมื่อไม่ทราบเรา ไม่พยายามดำเนินการค้นหาความกระจ่างเรื่องนี้ให้สิ้นข้อสงสัยกันเสียที
อย่าพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำความเข้าใจ พลวัต Dynamic ของ "หมอกควัน" กันต่อไปเลย เช่นเพราะเหตุอะไรหมอกควันด้านในหุบเขาที่เป็นตัวปัญหาจึงไม่ลอยออกไปด้านนอกทั้งๆในช่วงที่มีช่วงอากาศเปิดของวันอยู่ แต่กลับรอให้ควันภายนอกลอยเข้ามาผสมเพิ่มเติมโดยที่ตัวเองไม่ลอยไปไหน หรือมีคำอธิบายอื่นๆ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีใครที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ให้กระจ่างชัดเจนและเข้าใจง่าย เราเลยหาทางออกง่ายๆโดยการโทษแต่หมอกควันข้ามแดนอยู่ร่ำไป
เนื่องจากเรามัวแต่ดูว่าตำแหน่งของฮอตสปอยอยู่ที่ไหนเท่านั้น หรือผู้เขียนชอบเรียกว่า “ฮอตสปอยสาระนะ” มากจนเกินไป เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันจำเป็นจะต้องมีคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ และต้องเข้าใจง่าย อธิบายให้กระจ่างชัดเจนมากกว่าที่พยายามกันอยู่ เพราะแหล่งกำเนิด"หมอกควัน" ที่ก่อให้เกิดปัญหาส่วนใหญ่อาจจะอยู่ภายในแอ่งกระทะเอง เมื่อเข้าใจพฤติกรรมควันอย่างชัดเจนกันแล้ว การแก้ไขปัญหาทั้งไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและ "หมอกควัน" จะได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
หรือเหตุเพราะปรากฏการณ์ผลกระทบทางธรรมชาติของหุบเขา Valley Effect ถึงแม้ควันจะมีปริมาณน้อย แต่แหล่งกำเนิดอยู่ภายในแอ่งกระทะเองนั้นแหละ จึงส่งผลให้มีปริมาณควันสะสมเพิ่มขึ้น เพราะควันเก่าไม่ได้ลอยออกไปจากพื้นที่แอ่งกะทะแต่อย่างใด แล้วมีควันเพิ่มจากภายในแอ่งกระทะอีก เรายังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเคลื่อนตัวของมวลอากาศในบริเวณแอ่งกระทะแบบเชียงใหม่-ลำพูน-เชียงรายที่มีการแลกเปลี่ยนมวลอากาศกัน
การรันโมเดลแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการปลดปล่อยสารจากการเผาไหม้ เช่น The Weather Research and Forecasting model coupled to Chemistry (WRF-Chem) ในปัจจุบันของประเทศไทยยังถือว่าไม่สามารถรันที่ความละเอียดสูงพอที่จะอธิบายการถ่ายเทมวลอากาศในแอ่งต่างๆดังกล่าวได้ อีกทั้งขาดการปรับแต่งเปรียบเทียบ Calibrate กับข้อมูลทางข้อมูลทางกายภาพ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ในแบบจำลองมีความเหมาะสมกับพื้นที่เฉพาะต่างๆที่ต้องการพยากรณ์ ร่วมไปถึงการตรวจสอบความถูกต้องภาคสนาม Field Validation จึงยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงการเกิดปัญหาคุณภาพอากาศแย่จากหมอกควัน
ภายนอกแอ่งกระทะว่าเป็นแบบไหนอย่างไร หรือเป็น "หมอกควัน" ในตัวแอ่งกระทะเองนั้นแหละที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศภายในแอ่งมากกว่า นอกจากบอกกันเรื่อยเปื่อยว่ามีการตรวจพบจำนวนฮอตสปอตมากขึ้นนอกพื้นที่ที่มีเครื่องตรวจคุณภาพอากาศ ทั้งแบบถาวรมาตรฐานองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก The World Meteorological Organization ส่งผลให้มีคำอธิบายตามความเข้าใจของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และประสบการณ์
ทั้งนี้เมื่อเกิดการกดทับหรือผกผันของมวลอากาศ Subsidence หรือ Thermal Inversion บวกกับระดับ Mixing Height ที่ลดต่ำลง ส่งผลให้พื้นที่สำหรับให้ควันกระจายตัวมีน้อยลงเหตุเพราะชั้นบรรยากาศถูกกดทับต่ำลง ทำให้การสะสมและความเข้มข้นของควันเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่น้อย อาจจะเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ลักษณะของควันในพื้นที่ที่แคบลงนั้นเปรียบได้เหมือนการเป่าควันเข้าขวดนั้นเอง
โดยควันจากภายนอกมีเข้ามาผสมร่วมน้อยมากๆ แต่เกิดจากควันในพื้นที่แอ่งกระทะที่มีพื้นที่ให้มวลอากาศหรือควันอยู่น้อยลงเพราะอากาศปิดใช่หรือไม่ ถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจของบุคคลทั่วไป จำเป็นที่จะต้องช่วยกันศึกษาทำความเข้าใจหาคำอธิบายให้ชัดเจนอย่างง่ายๆ มาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวให้ได้
เพื่อการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์ปรับความเข้าใจกับทุกภาคส่วนให้เข้าใจปัญหา ปรับทัศนคติให้ตรงกัน เพื่อการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดร่วมกันมากยิ่งขึ้น
การมีการกระจายตัวของมวลอากาศ Dispersion หรือ Ventilation Index ก็สามารถช่วยอธิบายได้ แต่การที่เรานำแบบจำลองฯของฝรั่ง อ่านคู่มือหรือไปฝึกอบรมการรันแบบจำลองฯมา แล้วนำมาใช้โดยตรงทั้งดุ้นเลยนั้น ย่อมไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน เพราะลักษณะภูมิอากาศทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ของแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาปรับแต่ง Calibrate และตรวจสอบความถูกต้องภาคสนาม
หากจะให้ดีต้องเฉพาะลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศนั้นๆ Air Basin ของแต่ละลักษณะพื้นที่หรือจังหวัดเสียก่อนที่นำไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง จึงจะสามารถนำผลการพยากรณ์ที่ได้มาใช้สะท้อนลักษณะภูมิอากาศตามสภาพที่แท้จริงได้อย่างเหมาะสม ถ้ายังมิได้ดำเนินการปรับแต่ง แก้ไขค่าช่วง ตรวจสอบความถูกต้องภาคสนาม ถึงนำมาใช้ก็จะมีความถูกต้องต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (อย่างเพียงแต่บอกว่า ยังดีกว่าไม่มีใช้งาน) เพราะการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือผิดจากความเป็นจริงไปมาก จะส่งผลให้การนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้บริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันไม่ได้ประสิทธิภาพตามต้องการและอาจจะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมก็อาจจะเป็นได้ เพราะภูมิอากาศและภูมิประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่นั้น ๆ
- ไฟป่าเกษตรกรรมปัญหาปากท้อง ทำอย่างไรให้คนจุดไฟน้อยลง
ไฟป่าและไฟเกษตรกรรมของประเทศไทยเกิดจากคนจุดทั้งหมด แล้วปัญหาไฟและหมอกควัน คือ ปัญหาเรื่องปากท้องบนบริบททางสังคมที่แต่ต่างกันหลายมิติ สลับซับซ้อน คนจุดไฟได้ประโยชน์เขาถึงจุด เปรียบเหมือนสามเหลี่ยมไฟ เชื้อเพลิง-อ๊อกซิเจน-ความร้อน แต่ปรับเป็น คน-ไฟ-ควัน แล้วจริงหรือไม่ถ้านำเอาองค์ประกอบคนออกไป ไฟจะไม่เกิด ควันก็จะไม่เกิด ถ้าใช่เราจะทำอย่างไรให้คนจุดไฟทั้งในป่าและพื้นที่เกษตรกรรมน้อยลง
เรื่องปัญหา "หมอกควัน" ภาคเหนือเกิดจากควันไฟบวกกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและสภาวะภูมิอากาศที่ปิด หน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมที่ดำเนินการแก้ไขปัญหามีความเข้าใจเรื่องนี้กันชัดเจนมากน้อยแค่ไหนอย่างไรมีความเชี่ยวชาญจริงไหม แล้วไฟหรือไฟป่าเป็นตัวปัญหาแท้จริงหรือไม่
เพราะหลายๆกรณีถึงมีการไหม้ป่ามากมายแต่ควันที่เกิดไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือเมือง เช่น ไฟป่าที่ห้วยขาแข้งที่ไหม้กว่าสามเดือนเมื่อหลายปีก่อนแต่ปีนั้นควันกลับลอยไปทางประเทศพม่าไม่ขึ้นเหนือ เลยไม่มีใครบ่นหรือโวยวายเพราะถือว่าไม่มีปัญหา แล้วข้อเท็จจริงที่ว่าไฟมีทั้งประโยชน์ต่อระบบนิเวศป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณถ้าเกิดไม่มากและถี่จนเกินไป แต่จะเป็นโทษเมื่อเกิดมากเกินไปนั้นชัดเจนกระจ่างขนาดไหน
แล้วการบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาโดยกำหนดเป็นทางออกในการบริหารจัดการไฟป่าที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ทั้งนี้โดยปัจจุบันการจัดการไฟป่าทั่วโลกยอมรับว่าสามารถช่วยในการบริหารจัดการไฟป่าได้จริง วนกลับไฟใช้หลักการของชนเผ่าอบอริจิ้น หรือ อินเดียนแดง ผสมผสานบูรณาการร่วมกับความรู้และเทคโนโลยีในการใช้ไฟในปัจจุบัน ประเทศไทยจะว่าอย่างไร ถกเถียงกันให้ชัดเจนให้สะเด็ดน้ำ เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อลดความสับสนและความเข้าใจที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
ปัญหาหมอกควันมีองค์ประกอบหลักจากปัจจัยทางธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ผนวกกับปัจจัยคน ตามพฤติกรรมการจุดไฟของคนในพื้นที่ต่างๆ โดยบริบทต่างๆ การห้ามเผานั้นเป็นมาตรการระยะสั้นที่เท่าที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล จำเป็นที่จะต้องช่วยกันคิดว่ามาตรการระยะยาวนั้นต้องดำเนินการลงมือทำอะไรอย่างไรเป็นขั้นเป็นตอนกันบ้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟของคนไทยให้ได้ ปัญหาไฟป่าไฟเกษตรกรรมและหมอกควันถึงจะลดน้อยลงอย่างยั่งยืน (มาตรการต่างๆ มีมากมาย แต่จะดำเนินการอย่างไรจึงจะทำให้สัมฤทธิ์ผล โดยไม่ส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรฐกิจและสังคม อันนี้ไม่ง่ายแน่นอน) การเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมการหาของป่าที่ใช้ไฟไปเป็นแบบที่ไม่ต้องใช้ไฟนั้น ไม่ง่ายอย่างที่พูดหรือยกตัวอย่างกัน เป็นแบบโมเดลบ้าง เป็นแบบแซนบ๊อกบ้าง สามารถนำมาปรับใช้กับพื้นที่ที่มีบริบทต่างกันได้จริงหรือ เพราะมีปัจจัยเรื่องการตลาดที่ต้องทำให้ยั่งยืนมั่นคง ต้องมีตลาดรองรับผลผลิตแบบลงนามผูกพันเห็นสัมผัสตัวเงินจริงๆ Show Me The Money ทั้งนี้รายได้ที่เกษตรกรได้รับจะต้องดีกว่าเดิมแบบระยะยาว ถึงจะพอมีหวังว่าจะได้ผล
- ข้อเสนอเรื่อง “ช่องว่างที่ยังขาดการเติมเต็ม” เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน
1.ต้องแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมขอทุกภาคส่วน ลดความขัดแย้งระหว่างสังคมเมืองและชนบท ทุกภาคส่วนมีทัศนคติและข้อตกลงร่วมในทิศทางเดียวกัน มีการสื่อสารสองทาง นำข้อเท็จจริงและอุปสรรคขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะ แล้วหาทางออกร่วมกัน ดำเนินการแก้ไขเป็นข้อๆไปทีละข้อ ช้าๆได้พร้าเล่มงาม
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขบริหารปัญหาเต็มรูปแบบ มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน ไม่ใช่แบบเฉพาะกิจ โดยผู้มีอำนาจส่วนกลางให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ ให้การสนับสนุนทั้งทางงบประมาณและอำนาจการบริหารจัดการ ปัญหาติดขัดกฏหมายต่างๆต้องช่วยหาทางออกให้ มีการรองรับการทำงานอย่างชัดเจนถูกต้องตามกฎหมายแบบไม่ซุกไว้ใต้พรม เพื่อให้เดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างต่อเนื่องราบรื่น โดยกรมป่าไม้ถึงแม้จะถ่ายโอนอำนาจให้ทางอปท.แล้ว ยังคงต้องร่วมทำงาน ถ่ายทอดความรู้การบริหารและควบคุมไฟป่าพร้อมทั้งให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
3.จัดให้มีระบบการจัดการเชื้อเพลิงและเศษวัสดุโดยวิธีการเผาโดยกำหนดตามหลักวิชาการ เช่น การชิงเผา Early Burning การบริหารจัดการทุ่งหญ้าด้วยไฟ ที่เท่าเทียมเป็นธรรม สอดคล้องกับบริบทและวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ เหมาะสมกับห้วงเวลา ลักษณะเชื้อเพลิง ภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ โดยต้องมีระบบการบริหารจัดการของทั้งการบริหารจัดการไฟและการบริหารจัดการควันที่จะเกิด ควบคู่กันไป โปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณะ สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา เพื่อให้ควันที่จะเกิดส่งผลกระทบต่อชุมชนและเมืองน้อยที่สุด ต้องให้ภาคประชาชนร่วมจัดทำระเบียบ แบบแผน ข้อกำหนด ข้อบังคับ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทั้งหมด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน โดยการชิงเผาแต่ละครั้งนั้นต้องใช้ข้อมูลจากระบบการจัดการไฟและควัน การอนุญาตต้องลงถึงระดับชุมชน (หรือเริ่มจากระดับตำบลก่อนก็ได้) ถึงจะดำเนินการชิงเผาได้ ผู้ที่จะดำเนินการชิงเผา Burn Boss ต้องมีใบอนุญาตการชิงเผา Burn Permit ถึงจะสามารถดำเนินการเผาได้
4.นำความรู้ทางวิชาการในเรื่องพฤติกรรมไฟที่มีมา 30 กว่าปี ที่ทางส่วนควบคุมไฟป่ากรมอุทยานฯและกรมป่าไม้ได้ศึกษษไว้ มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้เป็นฐานความรู้ในการถ่ายทอดการบริหารจัดการและการควบคุมไฟ ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธผล รวมไปถึงมีความปลอดภัยมากที่สุด
5.ทำความเข้าใจพฤติกรรมควันให้ชัดเจน เพื่อการจัดการควันที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพราะต้องใช้ไฟบริหารจัดการไฟ อย่างที่ทั่วโลกทำ
6.ทำความเข้าใจพฤติกรรมคน เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ได้ดำเนินการได้ผลดีจากที่หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับอีกที่หนึ่ง เพราะมีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน ต้องหาผู้เชี่ยวชาญและผู้รู้ของแต่ละพื้นที่มาช่วยดำเนินการปรับให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีประชาชนร่วมในการปรับปรุงตลอดกระบวนการด้วย
7.ทำความเข้าใจพฤติกรรมการจุดไฟและห้วงเวลาการจุดไฟของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน แล้วปรับห้วงเวลาการให้เผาให้ตรงตามบริบทข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องในภาพรวมของทั้งจังหวัดและภาค
8.ใช้พรบ.ป่าชุมชน พรบ.อุทยานฯ และพรบ.สัตว์ป่าฯ 2562 ร่วมในการจัดการการบริหารไฟป่าและหมอกควัน โดยจัดให้มี กาบริการจัดการไฟป่าและน้ำชุมชม Community-based Fire and Water Management ตามแนวราชดำริ ร.9 เรื่อง เศรฐกิจพอเพียง Sufficiency Economy ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง Three Forest Types, Four Benefits ร่วมกัน
9.จัดให้มีระบบการอบรมการบริหารจัดการและควบคุมไฟป่าและไฟเกษตรกรรม ที่เป็นขั้นเป็นตอน แยกประเภท แยกหน้าที่ เพื่อสามารถเข้าร่วมดำเนินการควบคุมไฟและจัดการเชื้อเพลิงได้อย่างปลอดภัย ชัดเจน มีมาตราฐานสากล และมีการรับรองการอบรม มีบัตรแสดงระดับและฐานะอย่างชัดเจน
10.กำหนดแนวทางแก้ไขการลักลอบและแก้จุดที่เป็นรูปธรรม ไม่สร้างความขัดแย้ง ดำเนินการปฎิบัติได้จริง มีผลกระทบน้อย โดยอันนี้ไม่ง่ายที่จะดำเนินการ แต่จำเป็นที่จะต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้
11.ในสิบข้อข้างต้น ยังไม่รวมถึง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ภาคประชาชนกับภาคประชาชนเอง ที่น่าจะเป็นสาเหตุหลักในบางพื้นที่ในบ้างช่วงเวลา
โดยสรุป พี่ชายที่ผู้เขียนเคารพนับถือมากท่านหนึ่ง (ข้าราชการเกษียญอายุ) เคยกรุณาสรุปสั้นๆให้ผู้เขียนฟังว่า “ถ้าตราบใดคนจุดไฟยังได้ประโยชน์จากการจุดไฟ ตราบนั้นก็ยังคงมีคนจุดไฟอยู่ดี” ผู้เขียนเชื่อว่าวัฒนธรรมการเผาจะยังคงมีอยู่ในสังคมไทย แต่จะทำอย่างไรให้คนจุดไฟมีจำนวนน้อยลง ต้องมีประโยชน์อย่างอื่นที่ทัดเทียมให้เขา เขาถึงจะหยุดจุดไฟ
บทความโดย: ดร.วีรชัย ตันพิพัฒน์ หน่วยวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไฟป่าภูมิภาคอาเซียนตอนบน ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง