คอลัมนิสต์

ทางออกเพิ่มน้ำต้นทุน 'เขื่อนภูมิพล' แก้ปัญหา ลุ่มเจ้าพระยา แล้ง-ท่วม : ตอนจบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการแนะทางออกเพิ่มน้ำต้นทุน 'เขื่อนภูมิพล' แก้ปัญหา ลุ่มเจ้าพระยา แล้ง-ท่วมผ่านการผันน้ำยวม เป็นแนวคิดโบราณ แจงน้ำเจ้าพระยามีเพียงพอหากไม่สูญเสียน้ำจากระบบประปา ชลประทาน

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำ "เขื่อนภูมิพล" ที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าโครงการนี้จะไม่ถูกคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากยังมีคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าของโครงการและสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้จริงหรือไม่ 

ในฐานะผู้เขียนเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ขอตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นปัญหาน้ำขาดแคลนของ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนี้ 

 

1. ปัญหาน้ำขาดแคลนของ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่ได้เกิดจากน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ แต่เกิดจากการบริหารจัดการ

• ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีแต่ปัญหาน้ำขาดแคลน แต่เป็นลุ่มน้ำที่ประสบทั้งปัญหาน้ำขาดแคลน และน้ำท่วม สลับๆ ไปเกือบทุกปี และบางช่วงเวลาเดียวกันของบางปี มีทั้งน้ำขาดแคลนในบางพื้นที่ และท่วมในบางพื้นที่ 

 

การนำเสนอในเล่มรายงานฯ เน้นย้ำเฉพาะสถานการณ์น้ำขาดแคลน อ้างว่าน้ำต้นทุนไม่เพียงพอตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งเป็นเพียงการนำเสนอด้านเดียว ทั้งที่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้นเกิดอุทกภัยสลับกับแล้งมาตลอด และอุทกภัยหลายครั้ง เช่น ในปี 2564  และ ปี 2565 เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำท่าจีน ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ยาวนานมาถึงเดือน ธ.ค. ในขณะที่น้ำเก็บกักในเขื่อนขนาดใหญ่มีเพียงประมาณ 50% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า มีฝนที่ตกนอกอ่างเก็บน้ำ ซึ่งไม่อาจจัดการหรือเก็บกักด้วยเขื่อนที่มีอยู่และวิธีการเดิมๆ ที่ใช้อยู่ เขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบเดียวของการบริหารจัดการน้ำ
 

 

ภาพประกอบบทความ


• ปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยามีเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต 
ผู้เขียนได้วิเคราะห์สมดุลน้ำของลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ยม น่าน และ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (โดยใช้ข้อมูลน้ำท่า ที่สถานวัดน้ำของกรมชลประทาน) พบว่า มีปริมาณน้ำต้นทุน (แม้ยังไม่รวมน้ำจากลุ่มน้ำท่าจีน และน้ำ side flow ลุ่มน้ำท่าจีน) เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต 


นอกจากนี้ การวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2549 – 2560) พบว่า พื้นที่เกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลงถึง 4% นั่นหมายถึงความต้องการใช้น้ำมีแนวโน้มลดลงด้วย หากมีการบริหารจัดการที่ดีพอ ปัญหาน้ำขาดแคลนจึงไม่ควรเกิดขึ้น

 

ภาพประกอบความเท่านั้น

 

2. ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำสูญเสียปริมาณมหาศาล และปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข 
2.1 น้ำสูญเสียในระบบประปาสูงกว่า 30% เป็นเวลาต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปี
• เฉพาะการประปานครหลวง คิดเป็นปริมาณน้ำที่สูญเสียมากกว่าวันละ 1.65 ล้าน ลบ.ม.  เดือนละ 50 ล้าน ลบ.ม. ปีละ 594 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการปลูกข้าวประมาณ 594,000 ไร่ 

 


• การประปาภูมิภาค มีสูญเสียน้ำในระบบท่อจ่ายน้ำประมาณ 39% คิดเป็น น้ำที่หายไป เดือนละ 19 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับปลูกข้าว 19,000 ไร่ ปีละ 228 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับปลูกข้าว 228,000 ไร่
หากนึกภาพไม่ออกว่าปริมาณน้ำสูญเสียในระบบประปานี้มากขนาดไหน ให้นึกภาพระบายน้ำเก็บกักในเขื่อนแก่งกระจานทิ้งทั้งเขื่อน ซึ่งหากเราลดน้ำสูญเสียจากระบบส่งน้ำของการประปานครหลวง และการประปาภูมิภาคลงเพียง 5% จะได้น้ำกลับมาเดือนละเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม. ปีละมากกว่า 100 ล้าน ลบ. ม. 

 

2.2 น้ำสูญเสียในระบบชลประทาน
ปัจจุบันระบบชลประทาน มีประสิทธิภาพเฉลี่ยเพียง 50-60% จากตัวเลขน้ำใช้เพื่อการเกษตรของลุ่มเจ้าพระยา ปีละ 12,565 ล้าน ลบ.ม. นั่นคือสูญเสียน้ำในระบบชลประทานประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งน้ำที่สูญเสียนี้มากกว่า 2 เท่าของน้ำที่จะผันจากยวมมาเติมภูมิพล ดังนั้น กรมชลประทานควรให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยทันที นอกจากนี้ การปรับรูปแบบการทำนายังสามารถลดการใช้น้ำลงได้อีก 

 

 

3.ข้อสังเกตต่อการแก้ปัญหาด้านน้ำ ที่ต่างหน่วยงานต่างคนต่างทำ ขาดเจ้าภาพ ขาดหน่วยงานกำกับ ขาดการพิจารณาแบบองค์รวมในระดับลุ่มน้ำ และความสัมพันธ์ของลุ่มน้ำต่อลุ่มน้ำ  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแลนโยบายด้านน้ำประเทศและหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งหมด  ยังไม่เคยวิเคราะห์ปัญหาของลุ่มน้ำแบบองค์รวม และยังไม่เคยวิเคราะห์แนวทางแก้ไข แบบบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกัน และร่วมกับภาคประชาชน 


อีกทั้ง ไม่เคยพิจารณาผลจากการดำเนินมาตรการใดๆ ไม่ว่าที่ได้ทำแล้ว และที่เป็นแผนโครงการว่ากระทบต่อภาพรวมของน้ำและสิ่งมีชีวิตทั้งลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะด้านบวก หรือด้านลบ อย่างไร 

 

ดังนั้น แนวคิดการก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้  "เขื่อนภูมิพล" แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538) จึงเป็นแนวคิดโบราณ ที่ไม่ได้พิจารณาปัญหาและหาแนวทางแก้ไขแบบองค์รวม ขาดการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของทรัพยากรในระดับลุ่มน้ำ และเชื่อมโยงลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน 

 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

  • ข้อเสนอแนะด้านทรัพยากรน้ำ 

1. ขอให้ชะลอโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลไว้ก่อน แล้วให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการต่อไปนี้
(1) วิเคราะห์ปัญหาของลุ่มน้ำแบบองค์รวม ทั้งในเชิงลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ และในเชิงความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำที่มีความต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน 

 

(2) พิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาที่นำไปสู่ความยั่งยืน แบบบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกัน และ ร่วมกับภาคประชาชน ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำด้าน demand side management และการเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ

 

(3) จากข้อ (1) (2) จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมที่จริงใจ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งกรรมการลุ่มน้ำ ทั้งในลุ่มน้ำตัวเองและลุ่มน้ำที่เชื่อมโยงกัน ก่อนมอบนโยบายแก่หน่วยงานปฏิบัติเพื่อให้ทุกหน่วยงานเดินไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ซ้ำซ้อน ไม่โยนภาระ  

 

 

2. หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทางเลือกในการแก้ปัญหาด้านน้ำ ที่เป็นการแก้ปัญหาในลุ่มน้ำตัวเองให้จบ ไม่แก้ปัญหาในลุ่มน้ำเดิมด้วยการสร้างปัญหาให้ลุ่มน้ำอื่น หรือ พื้นที่อื่น เลือกแนวทางที่ทำได้ทันที มีเกณฑ์การวัดผลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม

 


2.1 ด้านการเกษตร 
• การส่งเสริมเกษตรกร ทั้งในพื้นที่ชลประทาน และ เกษตรน้ำฝน ให้เก็บน้ำในบ่อ สระ ในไร่นา
• เชื่อมโยงบ่อ สระ ในไร่นา เข้ากับระบบชลประทานที่มีการเก็บกักน้ำในเขื่อน และ อ่าง ทั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดกลาง ตามแนวคิดโครงข่ายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเขื่อนและอ่าง และลดปัญหาน้ำขาดแคลนในหน้าแล้ง
• ทำการเกษตรตามศักยภาพน้ำต้นทุนในพื้นที่ 

 

2.2 ด้านอุตสาหรรม ใช้แนวคิด 3R กับอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

 

2.3 น้ำประปา
• รัฐบาลต้องผลักดันให้ กปน. และ กปภ. ลดน้ำสูญเสียในระบบส่งน้ำอย่างเข้มข้น กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน และเข้มงวด สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และ การประสานงานระหว่างหน่วยงาน
• เน้นย้ำการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ในทุก sector 
 

 

โดย: ผศ.ดร.สิตางค์  พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาาสตร์ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ