คอลัมนิสต์

'แบ่งเขตเลือกตั้ง' เสี่ยงทำให้ 'การเลือกตั้งเป็นโมฆะ'

09 ก.พ. 2566

การนับต่างด้าวมาร่วมคำนวณสส.และ 'แบ่งเขตเลือกตั้ง' สร้างความวิตกว่า อาจมีปัญหาในอนาคต เพราะอาจทำให้ 'การเลือกตั้งเป็นโมฆะ'

 

การนำจำนวนประชากร ที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง มาคำนวนแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีผลต่อจำนวนสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในบางพื้นที่ ถูกมองว่า จะสร้างปัญหา ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือไม่ ก็ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ในอนาคต


ค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรต่อสส. 1 คน อยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนคนหลักเกณฑ์การคำนวณ จำนวนสส.เขต ต้องหาจำนวนเต็มจากค่าเฉลี่ยนี้  หากยังไม่ครบจำนวนสส.เขต   ให้จังหวัดใดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด  มีสส.เพิ่มได้อีก 1 คน เรียงตามลำดับ จนกว่าจะได้สส.เขต ครบ400 คน ตามรัฐธรรมนูญ

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างจังหวัดทางภาคเหนือ เช่นเชียงใหม่ เชียงราย ตาก มีต่างด้าวอยู่ในพื้นที่ เกินแสนคนมากพอที่จะทำให้มีสส.เพิ่มได้ 1 คน จากการคำนวณ รอบแรก   ซึ่งหากใช้หลักนับเฉพาะประชากรที่มีสัญชาติไทย 3 จังหวัดนี้ จะไม่ได้สส.เพิ่ม แต่จะไปเพิ่มที่จังหวัดอื่น เช่น อุดรธานี ลพบุรี และปัตตานี แทน

เช่นเดียวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.อ้างว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรวมทั้งคนไทยและคนต่างด้าว



กรณีนี้หากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เห็นว่าถูกรอนสิทธิ สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าผ่านไป 60 วัน ไม่มีความคืบหน้า ประชาชนสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้

ชัยธวัช ตุลาธน  เลขาธิการพรรคก้าวไกล

 

ประเด็นที่อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี่เอง   เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลกังวลว่า อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนการเลือกตั้งปี49   ซึ่งหากยังจำกันได้ ครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การจัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้เลือกตั้ง หันหน้าเข้าคูหาลงคะแนน และ หันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยการเลือกตั้ง ละเมิดหลักการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ  

 

แต่ดูเหมือนว่ากรรมการการเลือกตั้ง จะไม่นำพาทั้งคำแนะนำให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ของรองนายกฯวิษณุ เครืองาม และเสียงท้วงติงจากอดีตกกต.อย่างสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่เกรงว่า หากต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ในเขตเลือกตั้งที่ปัญหา ตามที่ยกตัวอย่างมา 6 จังหวัด  มีจำนวนสส.ราว 40 คน มากกว่า 5 % ของจำนวนสส.ทั้งหมด  อาจทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาครั้งแรก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องมีสส.ไม่น้อยกว่า 95 % ได้