คอลัมนิสต์

มติ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เปิดทาง 'เพื่อไทย' ฉีก MOU 8 พรรค บีบ 'ก้าวไกล' เป็นฝ่ายค้าน

มติ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เปิดทาง 'เพื่อไทย' ฉีก MOU 8 พรรค บีบ 'ก้าวไกล' เป็นฝ่ายค้าน

20 ก.ค. 2566

จาก 14 พ.ค. ถึง 19 ก.ค. 66 รวม 67 วัน หลังเลือกตั้ง 'พิธา' เป็นได้แค่นายกฯ ในฝัน เพราะโลกแห่งความเป็นจริงสกัดกั้นไม่ให้เขาเดินบนเส้นทางประชาธิปไตย กลไกปัจจุบันไม่ว่า สว. หรือ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' สวนทางฉันทานุมัติประชาชน สัญญาณฉีก MOU 8 พรรคจึงเริ่มปรากฎชัด 'ด้อมส้ม' เตรียมลงถนน

 

มติ 7: 2 ของตุลาการ "ศาลรัฐธรรมนูญ" คดีถือครองหุ้น ITV เมื่อ 19 ก.ค. 2566 ถือเป็นใบสั่งยุติบทบาททางการเมืองของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ในฐานะ สส. พรรคก้าวไกล (ชั่วคราว) ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ประชาชน 14 ล้านเสียง มอบฉันทานุมัติให้เขาเป็นนายกฯ คนที่ 30 จาก 14 พ.ค. 66 ถึง 19 ก.ค. 66 รวม 67 วัน "พิธา" จึงเป็นได้แค่นายกฯ ในฝัน โดยที่พรรคเพื่อไทยจะขยับเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน

 

 

เมื่อ สว. และศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมด้วยช่วยกันสกัด ฉันทานุมัติจากประชาชนเริ่มเป็นหมัน สัญญาณฉีก MOU 8 พรรค เริ่มปรากฎชัด "ด้อมส้ม" จึงถูกปลุกเร้าระดมมวลชนลงสู่ท้องถนน แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่คำวินิจฉัยว่า "พิธา" มีความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ แต่เขาถูกศาลสั่งให้ "หยุดปฏิบัติหน้าที่" สส.ชั่วคราว การนำทัพจัดตั้งรัฐบาลจึงไปตกอยู่กับเพื่อไทย

 

 

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" น้อมรับ พร้อมกับดึงบัตรสมาชิกเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นไม่นาน สมาชิกรัฐสภาก็ลงมติด้วยคะแนน 395 เสียง ไม่ให้ "พิธา" ได้รับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ รอบสอง จากผลรอบแรก เมื่อ 13 ก.ค. ที่เขาได้รับเสียงโหวตแค่ 324 คะแนน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 376 คะแนน 

 

 

สถานการณ์การเมืองหลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ของ 8 พรรคร่วมดูเหมือนจะเนือบช้า ไม่ทันใจ กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ และโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ ดูจะไม่เป็นที่พอใจของ "ด้อมส้ม" ที่เป็น FC โดยเฉพาะขวากหนามจาก สว.ที่เป็นอุปสรรคของกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1

 

 

นอกจาก 19 ก.ค. 2566 จะเป็นวันปิดประตูตายการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ "พิธา" ในอีกด้านถือเป็นการนับหนึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน ซึ่ง อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในฐานะแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ปราศรัยบนเวที ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อค่ำวันเดียวกันว่า "นี่เป็นการต่อสู้ยกใหม่ที่จะทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์" 

 

 

นัยสำคัญจากคำกล่าวของอานนท์มี 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก เขาย้อนประวัติศาสตร์การถือกำเนิดของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปเมื่อปี 2562 และ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ในฐานะหัวหน้าพรรคก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากคดีถือหุ้นสื่อ เช่นเดียวกับที่ "พิธา" กำลังโดนกระทำ เขาบอกว่าวันนี้ทำลายพิธาได้ แต่อีก 4 ปีจะเจอ "โรม" (รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

 

 

ประเด็นต่อมาการเลือกตั้งครั้งนี้อานนท์ย้ำว่า ประชาชน 14 ล้านเสียง ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่อีก 4 ปีจะกลายเป็น 20 ล้านเสียง ฉะนั้นหากไม่ออกมาต่อสู้มีโอกาสที่ "ก้าวไกล" จะถูกยุบอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องคดีล้มล้างการปกครองจากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไว้พิจารณาแล้ว

 

 

ประเด็นสุดท้าย อานนท์พูดถึง "เพื่อไทย" ม้ามืดที่จะมาแทนที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกสมาชิกรัฐสภาไม่ให้ไปต่อในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งอานนท์เตือนว่า อีก 8 เดือนที่ สว.จะหมดวาระลง พรรคเพื่อไทยคือตัวแปรในการหยุดสืบทอดอำนาจเผด็จการ ฉะนั้นต้องไม่ทรยศประชาชน 

 

 

อานนท์ระบุว่า ถ้าเพื่อไทยจับมือกับ "ประชาธิปัตย์" ให้นึกถึงหน้า "อภิสิทธิ์" ว่าทำอะไรไว้กับคนเสื้อแดง ถ้าจะไปจับมือกับ "ภูมิใจไทย" ให้นึกถึงหน้า "เนวิน" เข้าไว้ และถ้าจะไปจับมือกับ "ประวิตร" (พลังประชารัฐ) หรือ "ประยุทธ์" (รวมไทยสร้างชาติ) ให้นึกถึงคนที่ตายทั้งหมดบนถนนราชดำเนิน รวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมือง

 

 

นัยที่อานนท์พูดถึงกำลังบอกว่า เมื่อเพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับสองได้สิทธิ์ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จะต้องไม่ทรยศต่อเสียงประชาชนที่โหวตให้กับ 8 พรรคร่วม ซึ่งประเด็นนี้อาจไม่ยืนอยู่บนหลักความเป็นจริง เนื่องจาก สว. ขีดเส้นใต้ "ต้องไม่มีก้าวไกลร่วมรัฐบาล" ขณะที่พรรคการเมืองที่รอเสียบก็ประกาศชัดว่า ไม่ขอร่วมหัวจมท้ายกับพรรคที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะย้ำว่ายังไม่ปล่อยมือจาก "ก้าวไกล" โดยจะนัดหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง แต่ภายใต้ถ้อยคำจากปากหมอชลน่านยังมองไม่เห็นสมการที่จะเป็นไปได้ มีแต่โอกาสที่ MOU ของ 8 พรรคร่วมจะถูกฉีกมากขึ้น และประตูที่เปิดอ้าอยู่เหลือแค่การผลักไส "ก้าวไกล" เดินไปเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

 

 

สัญญาณจากแกนนำม็อบจึงมุ่งหน้านัดมวลชนลงสู่ถนน โดยเฉพาะอานนท์ที่ปลุกร้าวด้วยเหตุผลว่า "เมื่อความอดทนสิ้นสุดลงแล้ว การต่อสู้จึงเริ่มต้น" นั่นคือการประกาศปลุกม็อบชุมนุมกดดันเพื่อไทย และการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าประเด็น "พิธา" ไม่ได้ไปต่อจะเป็นชนวนปลุกม็อบส้มติดหรือไม่