คอลัมนิสต์

5 ฉากทัศน์ ‘พิธา’ - ‘ก้าวไกล’ ไปต่อหรือลงถนน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกมแย่งชิงเก้าอี้แห่ง 'ทำเนียบรัฐบาล' เพื่อ 'จัดตั้งรัฐบาล' ยังเดินหน้าต่อไปจนกว่า 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ จาก 'พรรคก้าวไกล' จะบรรลุเป้าหมาย 'คมชัดลึก' วิเคราะห์ 5 ฉากทัศน์หรือ Scenario การเมืองที่มีโอกาสเกิดขึ้น ผ่านมุมมอง 'ปริญญา เทวานฤมิตรกุล'

 

ฉากทัศน์ที่ 1 เดินตามกติกาเส้นทางประชาธิปไตย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ผ่านการโหวตนายกฯ จากสมาชิกรัฐสภาด้วยคะแนน 376 เสียง เพราะสามารถฝ่าด่าน ถือหุ้นสื่อ มาได้ หรือการใช้ช่องของมาตรา 151 ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยเดือนครึ่งหรือ 2 เดือน กว่าจะย่างเข้าสู่ ทำเนียบรัฐบาล ในกรณีนี้ "ทิม พิธา" และ พรรคก้าวไกล ต้องมีปัจจัยเอื้อจากเสียงโหวตของ สว. อย่างน้อย 64 เสียงเพื่อเดินหน้า จัดตั้งรัฐบาล (หรืออาจมี สส.อีกขั้วร่วมสนับสนุนประมาณ 50 เสียง)

 

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้กลไกการโหวตนายกฯ มีช่องโหว่, การตัดสินใจของ สว.เกิดความลังเล เนื่องจาก ถึงแม้เสียงพรรคร่วมรัฐบาลจะมี 314 เสียง แต่ “ทิม พิธา” ไม่ได้คลีนแบบนอนมาอย่างไร้ข้อติ ทว่ามีข้อร้องเรียนอยู่ที่ กกต. และประเด็นร้อนเหล่านี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ฉากทัศน์นี้จึงไม่มีคำตอบแบบฟังธง 

 

 

ฉากทัศน์ที่ 2 ใครคือผู้กำหนดเกม พรรคก้าวไกล ยื่นคำขาดดว่า ประธานสภาผู้แทนฯ ต้องมาจากคนของก้าวไกลเพื่อทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในการชี้ชะตาว่าที่นายกฯ ให้เป็นไปได้มากที่สุด อาทิ การลงคะแนนโหวตนายกฯ จะเกิดขึ้นได้กี่ครั้ง กรณีโหวตครั้งเดียวแล้วคะแนน “พิธา” ไม่ถึง 376 จะถือว่าถูกตีตกเพราะคะแนนแพ้ขาด หมดความชอบธรรมไม่ได้ไปต่อ

 

 

หรือประธานจะเปิดช่องให้มีการโหวตเป็นครั้งที่ 2 นี่คือบทบาทสำคัญของ ประธานรัฐสภาที่จะเป็นผู้กำหนดเกมนี้ให้ชื่อแคนดิเดตของก้าวไกลได้รับการเสนอชื่ออีกรอบ แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับมิตรภาพระหว่างพรรคเบอร์หนึ่งเบอร์สองว่ายังเหนียวแน่นกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเส้นบางๆ ขาดลงเมื่อใด เพื่อไทยก็จะชิงการนำ

 


ภายใต้ฉากทัศน์ที่ 2 นี้ รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ควรเปิดทางให้ สส.โหวตตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 กล่าวคือ เปิดให้ สส.โหวตเรียงตามชื่ออักษรก่อน (สส.มี 500 คน) หากเสียงยังไม่ถึง 376 ประธานก็ควรเปิดให้โหวตรอบ 2 เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เหลือร่วมโหวต คะแนนจะถึงหรือไม่ถึง 376 “พิธา” ค่อยตัดสินใจว่าจะถอดใจส่งไม้ต่อให้ พรรคเพื่อไทย เลยหรือไม่ 

 

 

ทางเลือกนี้มีช่องว่างช่วงรอยต่อของสถานการณ์ “รอศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยคดี “พิธา” ตามมาตรา 151 ก่อน ซึ่งจะยื้อเวลาการโหวตนายกฯ ออกไปอีก แต่มีข้อเสียตรงที่ทำให้อายุรัฐบาลรักษาการยาวนานเกินไป และอาจจะกระทบต่อการเสนอชื่อทูลเกล้าฯ แต่งตั้งและโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งสำคัญๆ 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระหว่างลงพื้นที่พบกลุ่มแฟนคลับ


ฉากทัศน์ที่ 3 “พิธา” หมดทางไป นั่นหมายถึงรอบแรกไม่ผ่านและการโหวตรอบ 2 ไม่เกิดขึ้นก็จะเป็นคิวของ พรรคเพื่อไทย ในการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ เว้นแต่ เพื่อไทย ใจกว้างพอ โดยยังจะให้โอกาส พรรคก้าวไกล เสนอชื่อนายกฯ รอบที่ 2 อีกครั้ง แต่หากเสียงสนับสนุน “พิธา” ยังไม่ถึงอีกความชอบธรรมก็จะตกเป็นของ เพื่อไทย ฉากนี้เท่ากับว่า “พิธา” และ “ก้าวไกล” เดินจนสุดทางและจบลงที่ทางตัน ไม่ได้ไปต่อ

 

 

สถานการณ์การเมืองที่เดินมาถึงจุดนี้ เพื่อไทย จะเสนอชื่อใครนั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” กับ “เศรษฐา” แต่คำถามคาใจยังอยู่ว่า จะมีปัจจัยใดโน้มน้าวให้ สว.พร้อมใจกันเทคะแนนกว่า 64 คะแนนให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย เพราะจำนวนเสียงพรรคร่วมก็ยังเท่าเดิม 

 

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย

 

กรณีนี้หาก พรรคก้าวไกล ยังเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลเพื่อไทยอยู่เช่นเดิม การข้ามข้อจำกัดโดยไม่พึ่งพาเสียง สว. จะเดินไปสู่เกมเขย่า พรรคร่วมรัฐบาล เช่น เพื่อไทยถูกบีบจนแต้มและจำเป็นต้องดึงพรรคภูมิใจไทย (71 เสียง) เข้าร่วม ประเด็นอยู่ที่ว่า พรรคก้าวไกลจะยอมรับสูตรนี้หรือไม่ หรือยอมถอยไปเป็นฝ่ายค้านเสียเลย ซึ่งการผลัก ก้าวไกลไปออกประตูนี้ทาง เพื่อไทย คงไม่แฮปปี้นัก เพราะจะเท่ากับเป็นการผลักพันธมิตรไปเป็นคู่แข่งทางการเมืองถาวรในระยะยาว 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะปราศรัยหาเสียงช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ 2566

 

ฉากทัศน์ที่ 4 เปลี่ยนข้างสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โอกาสแม้จะน้อย แต่หาก ก้าวไกล และเพื่อไทย หมดทางไปต่อ “ประวิตร” ก็พร้อมคัมแบ็กลงสู่เกมฟอร์มพรรคร่วมเดิมที่ประกอบด้วย ภูมิใจไทย (71) พลังประชารัฐ (40) รวมไทยสร้างชาติ (36) ประชาธิปัตย์ (25) รวมถึงเสียงจากพรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่ง แต่สูตรนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการล็อบบี้ สว. ได้ตามเป้า อาทิ 200 เสียงบวกลบ ขณะที่ผลการเจรจาสมการการเมืองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีลงตัว แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะได้รับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ระหว่าง อนุทิน ชาญวีรกูล กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งสูตรรัฐบาลเสียงข้างน้อย 170 กว่าเสียงบวกบวก นี้ยังมีความเป็นไปได้ แต่ก็จะเป็นรัฐบาลอายุไม่ยืนยาว และมีความสุ่มเสี่ยงในการทำงานในสภา 

 

 

ฉากทัศน์สุดท้าย "ด้อมส้ม" ลงถนน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้รอยต่อของสถานการณ์ที่ล่อแหลมนี้ คอการเมืองย่อมเกาะติดอยากรู้ว่า หาก “พิธา” ไม่ได้ไปต่อในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก้าวไกลจะเดินทางบนถนนการเมืองต่อไปอย่างไร กรณีพลิกผันเกิดการสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ฝั่งอนุรักษ์นิยมได้กลับมาเถลิงอำนาจอีกรอบ โอกาสที่ “ด้อมส้ม” เดินลงถนนก็มีสูง

 

 

นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า การปลุกร้าวให้เกิดม็อบในระหว่างนี้ยังไม่สมเหตุสมผล หาก “พิธา” ฝ่าด่าน สว.ไปได้ราบรื่น เว้นแต่กระบวนการ “ปลุกผีหุ้นitv” ติดกระแส ขยายวง และถาโถมเข้าขัดขวาง “พิธา” ในทุกรูปแบบ 

 


ไม่ว่าจะด้วยกลไก กกต. หรือกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจะรับคำร้องหลังจากนี้ก็ตาม โอกาสทำคลอดรัฐบาลก้าวไกลก็ยังมีให้ลุ้น ขณะที่โอกาสของ เพื่อไทย ที่จะพลิกมาเป็น แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังมีความเป็นไปได้ ซึ่งกรณีนี้ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย...ดีล  เพียงแค่ทำอย่างไรให้มีคะแนนสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 376 เสียง เช่นเดียวกับโอกาส “ด้อมส้ม” ชวนกันลงถนน ประตูนี้ก็ไม่ได้ปิดตายเสียทีเดียว หากเกิดการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล หรือมีการจุดกระแสปลูกร้าวมวลชนให้ขยับเกมสู้ยาว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ