สาระสำคัญมาตรา 13 พรป.การเลือกตั้งสส. ระบุว่าในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการฯ ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมกำหนดคุณสมบัติไว้ในมาตรา 14 ว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ประเด็นการถือหุ้นสื่อของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล เป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถูกระบุไว้ทั้งในกฎหมายเลือกตั้ง สส. มาตรา 42 (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่เป็นข้อความเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี กำกับไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 อีกว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98
พิเคราะห์ การร้องเรื่องคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล จึงมีเจตนาให้ พิธา หลุดออกจากเส้นทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นที่ตั้ง และยังเล็งเห็นผลไปถึงการล้มกระดานพรรคก้าวไกล เพราะหัวหน้าพรรคซึ่งต้องเซ็นต์อนุมัติผู้สมัครฯ แต่ขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น และอาจจะมีผลย้อนหลังไป ถึงการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 ทำให้มีคำถามว่า ทำไมจึงปล่อยระยะเวลาผ่านมาถึงสี่ปี
รัฐธรรมนูญมาตรา159 กำหนดให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้ได้รับการเสนอชื่อตามมาตรา 88 เท่านั้น แม้บทเฉพาะกาลมาตรา 272 จะมีทางออกไว้สำหรับคนนอกแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องได้รับ
ฉันทามติ 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ขณะที่การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลยังติดอยู่ที่ตำแหน่งประธานสภา ฯ และเสียงจากสว.ยังไม่คอนเฟิร์มว่าจะโหวตให้พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี
และมีข่าวว่า กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้ง ต้นเดือนมิถุนา อาจเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่ กกต.จะตัดสินใจว่า เรื่องร้องเรียนหุ้นสื่อของพิธา มีมูลพอที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่
หลังกกต.รับรองผลการเลือกตั้งได้ร้อยละ 95 รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ให้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ภายใน 15 วัน มีคำถามว่าหากเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เส้นทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่30 ของพิธา จะยุติลงหรือไม่ หรือจะเข้าทางพรรคเพื่อไทย ที่เคยระบุไว้ว่า จะสนับสนุนพิธา จนกว่าจะสุดทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง