คอลัมนิสต์

'ฤดูฝน' ปีนี้ฝนตกน้อย จับตามาตรการภัยแล้งแบบเดิมไม่หวือหวา ไม่มีความหวัง

26 พ.ค. 2566

นักวิชาการชี้ 'ฤดูฝน' ปีนี้ฝนตกน้อย ติดตามมาตรการ ภัยแล้ง คาดว่าออกมาแบบเดิมไม่มีเปลี่ยนเปลง ไม่มีความหวัง หน่วยงานรับผิดชอบไม่ดูแลแบบรอบด้าน แนะควรใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

พลันที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าหน้า "ฤดูฝน" อย่างเป็นทางการวันที่ 22 พ.ค. 2566 พร้อมกับคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนว่าอาจจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 อันสอดคล้องกับแนวโน้มการเกิดเอลนีโญ ในอีก 7-8 เดือนนับจากนี้ดูเหมือนว่ากระแสความกังวลต่อสถานการณ์น้ำขาดแคลนก็เกิดขึ้นอย่างน่าตระหนก

 

แน่นอนว่าภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีน้ำที่สะอาดเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ ในเวลา และ สถานที่ที่ต้องการอย่างเพียงพอ

คาดการณ์ฤดูฝน

 

เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ ที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน พบว่า น้ำเก็บกัก ณ วันที่ 22 พ.ค. 2566 มีประมาณ 39,367 ล้าน ลบ.ม. มีมากพอๆ กับน้ำเก็บกักของวันนี้เมื่อปี 2565 คือ 39,512 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุเก็บกัก อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำนั้นจะพิจารณาแต่ตัวเลขปริมาณน้ำในภาพรวมไม่ได้ ต้องพิจารณาน้ำในรายภาค รายลุ่มน้ำ เพื่อวางแผนแก้ปัญหาน้ำในเชิงพื้นที่ให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อผู้เขียนพิจารณาข้อมูลปริมาณน้ำในรายภาคของกรมชลประทาน พบว่า ณ วันเริ่มต้น "ฤดูฝน" ของปีนี้ เรามีน้ำเก็บกักในทุกภาคของประเทศไทยยกเว้นภาคเหนือ น้อยกว่าปีที่แล้วดังตัวเลขแสดงในตาราง

ปริมาณน้ำ

 

ผู้เขียนจึงมีความเป็นห่วงต่อการบริหารจัดการน้ำในภาคต่างๆ รวมทั้งในภาคเหนือแม้ว่าเรากำลังเข้าสู่ฤดูฝนก็ตามเมื่อพิจารณาต่อไปถึงปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 21 พ.ค. 2566 พบว่าทุกภาคของประเทศไทยมีฝนสะสมน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี และน้อยกว่าฝนสะสมรายเดือนของ ปี 2565 อีกด้วย อีกทั้ง ฝนสะสมรายเดือนใน "ฤดูฝน" ของปีนี้ยังมีแนวโน้มจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยต่อไปอีกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ อันเป็นผลจากสถานการณ์เอลณีโญที่กำลังเริ่มขึ้นปลายเดือนพฤษภาคม เราจึงไม่อาจคาดหวังได้ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 ซึ่งจะเป็นวันเริ่มต้นหน้าแล้งของปีนี้ เราจะมีน้ำเก็บกักในอ่างเท่าใด แต่คาดว่าจะน้อยกว่าปริมาณน้ำเริ่มต้นของแล้งที่ผ่านมา

 

 

\'ฤดูฝน\' ปีนี้ฝนตกน้อย จับตามาตรการภัยแล้งแบบเดิมไม่หวือหวา ไม่มีความหวัง

 

 

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ร่วมในคณะทำงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกับหน่วยงานภาครัฐในหลายปีที่ผ่านมา จึงคาดได้ว่า อีกไม่นานจะมีการประกาศมาตรการรับมือหน้าแล้ง เพื่อปัองกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น มาตรการหลักๆ คาดว่าจะเป็นมาตรการเดียวกับที่ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา ได้แก่

- เร่งเก็บกักน้ำ ในอ่างขนาดใหญ่-ขนาดกลาง-ขนาดเล็ก-แหล่งน้ำธรรมชาติ

- หาแหล่งน้ำสำรอง สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

- ปฏิบัติการเติมน้ำลงอ่าง โดยกรมฝนหลวง

- กำหนดการจัดสรรน้ำหน้าแล้ง

- วางแผนเพาะปลูกพืชหน้าแล้ง

- เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ

- เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ (ความเค็ม) ใน 4 แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง

- ติดตามประเมินสถานการณ์ รายเดือน รายสัปดาห์

- สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำ

 

 

ตัวอย่าง 9 มาตรการ ที่คาดว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะประกาศออกมาเร็วๆ นี้ ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรหวือหวา และอาจกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเป็นความหวัง และโดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่า ปัญหาและอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นในการทำงานของหน่วยงานรัฐทั้งหลายในปีที่ผ่านๆ มา ได้ถูกนำมาพูดคุยอย่างจริงจัง เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข ให้การดำเนินมาตรการมีประสิทธิผลมากกว่าที่ผ่านมาหรือไม่อย่างไร เหตุที่กล่าวเช่นนี้ ก็ด้วยจากประสบการณ์ของผู้เขียนอีกเช่นกัน ที่เห็นว่าในแต่ละครั้งของการประชุมเพื่อถอดบทเรียน ทั้งแก้ท่วม-แก้แล้ง หน่วยงานมักจะรายงานความสำเร็จที่ประเมินกันด้วยตัวเลขทางกายภาพแบบรวมๆ อาทิ สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มได้กี่ล้าน ลบ.ม. หารด้วยปริมาณน้ำที่พืชต้องการ (ซึ่งมักจะเป็นข้าว) ออกมาเป็นพื้นที่คาดว่าได้ประโยชน์กี่ล้านไร่ หรือหารด้วยความต้องการใช้น้ำออกมาเป็นกี่คน กี่ครัวเรือน เป็นต้น โดยขาดมิติการประเมินในแง่มุมสิ่งแวดล้อม ผลบวกผลลบต่อสัตว์น้ำ สัตว์ป่า ความสมบูรณ์หรือความเสื่อมโทรมของนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน รายได้ที่หายไปหรือเพิ่มขึ้นของเกษตรกร และเราจะยังคงทำกันอย่างนี้ต่อไปอีกนานเท่านาน โดยไม่มีหน่วยงานใดกล้าพอที่จะรายงานถึงปัญหาที่ทำให้หลายๆ มาตรการดำเนินการไม่ได้ หรือ ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้ในระยะยาวได้ รวมทั้งปัญหาจากการกำหนด KPI ที่ไม่สะท้อนถึงอะไรเลย ยกตัวอย่างเช่น

 

มาตรการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา: ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่างทราบว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากวิธีที่ทำกันอยู่มาเป็นเปียกสลับแห้ง จะลดการใช้น้ำลงได้ถึงร้อยละ 30-50 ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ เป็นวิธีการที่เหมาะสมอย่างยิ่งในปีที่ฝนทิ้งช่วง แต่เหตุใดตราบถึงทุกวันนี้ เรายังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวนาได้สำเร็จ จะมีก็แค่เพียงตัวเลขผักชีที่ตอบโจทย์ KPI ของหน่วยงานเท่านั้นเอง

 

มาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง: การประกาศให้ชาวนางดปลูกข้าวนาปรังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยได้ผลหรือไม่ เห็นได้จากตัวเลขการทำนาปรังที่เกินจากแผนทุกปี ที่หนักว่านั้นถึงกับมีคำพูดที่ว่า อย่าเชื่อประกาศของรัฐ เพราะหากฝืนปลูกแล้วรอด หมายถึงราคาผลผลิตที่ดีกว่าเดิม ชาวนาอาจมีรายได้ที่ดีกว่าที่ผ่านมา

 

การลดน้ำสูญเสียในระบบท่อจ่ายน้ำประปา: การลดน้ำสูญเสียในระบบท่อจ่ายน้ำของการประปานครหลวง การประปาภูมิภาค เป็นไปอย่างจริงจังหรือไม่ เหตุใดตัวเลขน้ำสูญเสียในระบบจ่ายน้ำยังสูงถึงร้อยละ 30 มากกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มจะสูงอยู่อย่างนี้ต่อไป ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำที่หายไปรวมทั้งปี มากกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนแก่งกระจานทั้งเขื่อนที่เก็บน้ำได้ 760 ล้าน ลบ.ม.

 

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงมาตรการบางส่วนที่รัฐได้ดำเนินการไปอย่างผิวเผินราวกับไม่หวังผลจริงจัง และยังมีอีกหลายมาตรการที่ชุมชนอยากผลักดันแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ด้วยตัวเองแต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลาง ผู้เขียนจึงมีความเคลือบแคลงต่อความไม่พยายามลดการสูญเสียน้ำ ไม่พยายามลดการใช้น้ำ ไม่พยายามบริหารจัดการน้ำทางด้านอุปสงค์ (Supply Side Management) อย่างเต็มที่ของภาครัฐ ว่าเป็นเพราะผู้บริหารบางคน บางกลุ่ม มีความมุ่งหวังจะผลักดันโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณมหาศาล และเกิดผลเพียงแค่การได้ใช้งบอย่างที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง หรือไม่?

 

หากคำตอบคือ ‘ไม่ใช่’ … เราคงต้องกลับมาทบทวนและตอกย้ำถึง ‘ปัญหา และ ความท้าทาย’ ที่เราทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่และที่เกินจะคาดการณ์ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ อาทิ การทำลายพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เมือง  การผลาญพร่าทรัพยากรเพื่อการผลิตโดยไม่คำนึงถึงสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงที่ให้น้ำอยู่ ทางให้น้ำไป รวมถึงปัจจัยสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และยากต่อการคาดการณ์ ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะทบทวนว่าวิธีการต่างๆ นานาที่แก้ปัญหาเดิมด้วยการสร้างปัญหาใหม่ หรือ วิธีการที่แก้ไขได้เพียงความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่ไม่อาจนำพาไปสู่ผลที่ยั่งยืนในระยะยาวนั้น ควรได้รับการปรับเปลี่ยนและทดแทนด้วยวิธีการใหม่ๆ ใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยี อย่างสอดคล้องกับบริบทที่เป็นปัจจุบัน ด้วยการใช้หลักวิชาหลากหลายสาขาอย่างบูรณาการ ผ่านการพูดคุย การมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจังและจริงใจ เพราะ ‘เรื่องน้ำ เป็นเรื่องของทุกคน ทุกชีวิต’  

 

 

บทความโดย : ผศ.ดร. สิตางค์ พิลัยหล้า