คอลัมนิสต์

พรรคเพื่อไทย ร่วม รัฐบาลก้าวไกล กระแส 'ทักษิณ' กลับบ้านใกล้ความจริงมากขึ้น?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ช่วงหลายปีมานี้ประเด็นกลับบ้านของ “ทักษิณ” อาจเป็นแค่เรื่องโจ๊ก แต่หลังจาก "พรรคเพื่อไทย" ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง และเป็นหนึ่งในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับ รัฐบาลก้าวไกล หรือได้รับส้มหล่นเก้าอี้นายกฯ ไม่แน่คราวนี้ทักษิณอาจได้กลับมากราบแผ่นดินเกิด

ช่วงหลายปีมานี้ประเด็นกลับบ้านของ “ทักษิณ” อาจเป็นแค่เรื่องโจ๊กที่พูดถึงกันมาต่อเนื่อง แต่หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง และเป็นหนึ่งในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรืออาจส้มหล่นเก้าอี้นายกฯ ตกมาอยู่กับเพื่อไทย ไม่แน่ว่าคราวนี้ทักษิณอาจได้โอกาสกลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง

 

คำประกาศกลับบ้านของ “ทักษิณ” มีมาต่อเนื่อง และทุกครั้งที่พูดก็มักเป็นการส่งสัญญาณหวังผลทางการเมืองต่อพรรคเพื่อไทยที่ตัวเองเป็นเจ้าของตัวจริง ทว่าเขาก็ดีแต่เฉี่ยวไปมาอยู่ในประเทศใกล้เคียงเท่านั้น พร้อมๆ กับกล่าวค่อนขอดใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวของเขานั่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 

 

ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2549

 

อดีตนายกฯ แดนไกลได้ทวิตข้อความ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า “ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” 

 

กระแสหนุน ‘อุ๊งอิ๊ง’ นั่งนายกฯ

 

ภายหลังสิ้นสุด 4 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฏว่า “ทักษิณ” ก็ได้ส่งสัญญาณแรงๆ เรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยผ่านสำนักข่าวต่างประเทศชัดเจนขึ้น “ตอนนี้ผมติดคุกขนาดใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว ผมทรมานมามากพอแล้ว ถ้าจะต้องทนทุกข์ทรมานอีกครั้งในคุกที่เล็กกว่านั้นก็ไม่เป็นไร” คำสัมภาษณ์ของทักษิณผ่านสำนักข่าว Kyodo News ของญี่ปุ่น

 

"อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยปราศรัยหาเสียงระหว่างการเลือกตั้ง

 

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีนัยว่าเขาพร้อมรับโทษด้วยการเดินเข้าเรือนจำ ท่วงทำนองเดียวกับการทวิตล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ออกปาก “ขออนุญาต” (ใคร?) กลับบ้านในสถานการณ์ที่ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นแกนนำในช่วงที่กำลังเดินหมากทางการเมืองสู่ชัยชนะเป็นอันดับหนึ่งและตั้งเป้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

 

อุปสรรคทางกฎหมายที่ต้องเผชิญ

 

“การเมือง” คือเกมการต่อรองที่จะต้องแลกด้วยผลประโยชน์เสมอ นั่นหมายถึงเดิมพันแลกอิสรภาพกลับบ้านในครั้งนี้ ตัวเขาก็ต้องแลกบางอย่าง นั่นคือคดีความที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างน้อย 3 คดี

 

 

  1. คดีการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว พิพากษาเมื่อวันทา 6 มิ.ย. 2562 จำคุก 2 ปี
  2. คดีการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา พิพากษาเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 จำคุก 3 ปี
  3. การแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ พิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 จำคุก 5 ปี

 

 

ทั้ง 3 คดีดังกล่าวถือว่าการต่อสู้ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว  แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 195 จะเปิดโอกาสให้ยื่นอุทธรณ์ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งพิจารณาและเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งขึ้น จะมีมาตรา 29 ที่เปิดโอกาสให้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่มาตรา 29 มีเงื่อนไขด้านเวลาจะต้องยื่นภายใน 1 ปี แต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

 

มิหนำซ้ำคดีของทักษิณทั้ง 3 กรณีได้กลายเป็นคดีที่ไม่มีความอายุความ เนื่องด้วยผลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25 ที่ระบุว่า “ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ (อายุความ)” ดังนั้น ถ้าถึงที่สุดแล้วอดีตนายกฯทักษิณ เดินทางมาถึงท่าอากาศยานในไทยและก้มลงกราบพื้นอีกครั้งเหมือนที่เคยทำเมื่อปี 2551 สถานที่ต่อไปที่ต้องเดินทางไปทันที คือ “เรือนจำ”

 

 

‘ทักษิณ’ เดินเข้าคุกยุคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

 

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในทางการเมืองแล้ว วัน เวลา ที่ “ทักษิณ” เดินทางกลับประเทศไทยนั้นเป็นจังหวะเดียวกับการเลือกตั้งสิ้นสุดลง แต่ ณ เวลานี้ขึ้นอยู่กับว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ในสถานะใดระหว่างเป็นพรรคอันดับ 2 ที่เข้าร่วมรัฐบาลก้าวไกล หรือการเมืองพลิกขั้วทำให้ “พิธา” ไปไม่ถึงฝัน? และเพื่อไทยได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลแทน

 

"อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร

 

ดังนั้น ณ เวลานี้ แม้พรรคก้าวไกลได้รับชนะเลือกตั้งคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ประตูกลับบ้านของ “ทักษิณ” ยังไม่ถูกปิดลง เพราะยังต้องลุ้นว่า “ทักษิณ” จะดันชื่อใครระหว่าง “เศรษฐา” และ “อุ๊งอิ๊ง'” เข้ารับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ทักษิณ ชินวัตร ก้มลงกราบแผ่นดินไทยขณะเดินทางกลับจากต่างประเทศหลังรัฐประหาร

 

อย่างไรก็ดี ในฐานะดีเอ็นเอของ “ทักษิณ” ว่ากันว่า “อุ๊งอิ๊ง” ยังรอได้ หากจะรอเป็นนายกฯ เที่ยวหน้า แต่ทุกปัจจัยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่า ระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นบัลลังก์นายกฯ กับการกลับบ้านของ “ทักษิณ” สูตรใดจะวินสำหรับทุกฝ่าย  

 

 

จึงต้องรอติดตามว่าการกลับบ้านของ “ทักษิณ” เป็นเพียงกลเกมการเรียกคะแนนให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แม้ว่าตัวเขาอยากกลับบ้านมาเลี้ยงหลานจริงๆ แต่ประตูบ้านนั้นถูกปิดตายไปเกือบสองทศวรรษแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ