ปากน้ำโมเดล ‘อุ๊งอิ๊ง’ ชิงปลุกไม่เลือกพ่วง คว่ำ ‘อัศวเหม’
เลือกตั้ง 66 ผ่าสมรภูมิปากน้ำ "อุ๊งอิ๊ง" ปลุกกระแสชนะให้ขาด ไม่เลือกพ่วงเหมือนปี 2562 ทีมบ้านใหญ่อัศวเหม มีชัยเพราะสีแดง-สีส้ม ตัดคะแนนกันเอง
บทเรียนปากน้ำ อุ๊งอิ๊ง ปลุกกระแสชนะให้ขาด ไม่เลือกพ่วง สมัยที่แล้ว ทีมบ้านใหญ่ อัศวเหม มีชัยเกือบยกจังหวัด เพราะสีแดง-สีส้มตัดคะแนนกันเอง
เลือกพ่วงร่วงกันหมด อุ๊งอิ๊ง คงยกปากน้ำโมเดล สอนใจเอฟซีเพื่อไทย ไม่มีปันใจ ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง ต้องเลือกอย่างมียุทธศาสตร์
อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ยกทัพมาปราศรัยใหญ่ที่สมุทรปราการอีกรอบหนึ่ง ในวันที่ 28 มี.ค.2566 เพื่อตอกย้ำยุทธศาสตร์เลือกทั้งคน ทั้งพรรค เลือกให้ชนะขาด
เหมือนที่กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย เสนอแคมเปญว่าด้วยยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ เลือกเคลื่อนไทย2566 ไม่พ่วง ถ้าเลือกพ่วง ร่วงกันหมดแน่! ต้องชนะขาดเท่านั้น
พรรคเพื่อไทย มีบทเรียนสำคัญจากการเลือกตั้ง สส.สมุทรปราการ สมัยที่แล้ว ปรากฏว่า ผู้สมัคร ส.ส.ค่ายสีแดง สอบตกยกจังหวัด จากจำนวน ส.ส.สมุทรปราการ 7 ที่นั่ง แยกเป็นพรรคพลังประชารัฐ ได้ 6 ที่นั่ง และพรรคอนาคตใหม่ 1 ที่นั่ง
สาเหตุหลักของความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น มาจากอดีต ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.พรรค พท. ถูกผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ เบียดแย่งคะแนนไปเยอะมาก ทำให้เกิดตาอยู่อย่างตระกูลอัศวเหม ในสีเสื้อ พปชร.เข้าป้าย
ปากน้ำโมเดล
บ้านใหญ่ปากน้ำ ชนม์สวัสดิ์ ก็รู้ดีว่า นับแต่มีพรรคไทยรักไทย การเมืองในปากน้ำก็เปลี่ยน ตระกูลอัศวเหม ถูกเบียดขับออกไปจากทำเนียบ ส.ส.ปากน้ำ มาตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งปี 2562 บ้านใหญ่ได้กระแสลุงตู่ และได้รับอานิสงส์จากการตัดแต้มกันเอง
ย้อนไปดูผลคะแนน ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อเลือกตั้ง 24 มี.ค.2565 เขต 1 ชนสิษฏ์ ยอดฉิม (อนค.) ได้ 21,344 คะแนน เหนือสุทธิรัตน์ ยังตรง ลูกสาวหมอวัลลภ ยังตรง อดีต สส.สมุทรปราการ (พท.) ได้ 21,121 คะแนน
เขต 2 ภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์ ทายาท สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต ส.ส.สมุทร ปราการ (พท.) ได้ 31,655 คะแนน ส่วนนิตยา มีศรี (อนค.) ได้ 30,366 คะแนน
เขต 3 หนึ่งสตรี ตุ่ยไชย (อนค.) ได้ 23,235 คะแนน เหนือกว่า ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย อดีต ส.ส. (พท.) ได้ 22,703 คะแนน
เขต 4 วุฒินันท์ บุญชู (อนค.) ได้ 36,320 คะแนน ได้เป็น ส.ส. เอาวรชัย เหมะ อดีต สส.สมุทรปราการ (พท.) ได้ 29,402 คะแนน
เขต 5 สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ (พท.) ได้ 33,007 คะแนน และตรัยวรรธน์ อิ่มใจ (อนค.) ได้ 31,430 คะแนน
เขต 6 นฤมล ธารดำรงค์ อดีต ส.ส.สมุทรปรการ (พท.) ได้ 22,349 คะแนน เหนือกว่าธัชชวิน โกพัฒน์ตา (อนค.) ได้ 20,177 คะแนน
เขต 7 นันทวรรณ ประสพดี ภรรยาประชา ประสพดี อดีต ส.ส.สมุทรปราการ (พท.) ได้ 27,648 คะแนน ถูก คณินทร์ อธิศักดิ์ชานนท์ (อนค.) ที่ได้ 19,679 คะแนน
จากตัวเลขคะแนนข้างต้น ถ้าไม่มีกระแสพ่อของฟ้า ไม่มีพรรคอนาคตใหม่มาตัดคะแนน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาจทำให้ค่ายสีแดงชนะยกจังหวัด เหมือนปี 2554
แดงล้มบ้านใหญ่
การเลือกตั้งปี 2566 สมุทรปราการ มี ส.ส.เพิ่มเป็น 8 คน ค่าย อุ๊งอิ๊ง จัดทัพใหม่ได้ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ เจ้าของห้างอิมพีเรียล กลับมาเป็นแม่ทัพใหญ่อีกครั้ง
สำหรับรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ ทั้ง 8 เขต ประกอบด้วย เขต 1 (อ.เมืองสมุทรปราการ) นิวัฒน์ เทียนปั่น ตัวแทนของ นพ.วัลลภ ยังตรง
เขต 2 (อ.เมืองสมุทรปราการ) ภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์ ลูกชายเสี่ยสงคราม, เขต 3 (อ.เมืองสมุทรปราการ) ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย อดีต ส.ส.หลายสมัย
เขต 4 (อ.บางพลี) สัมฤทธิ์ เหมะ ภรรยา วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.และแกนนำ นปช. , เขต 5 (อ.บางเสาธง, อ.บางพลี) นิธิพล บุญเพ็ชร ผู้สมัคร ส.ส.คนรุ่นใหม่
เขต 6 (อ.พระประแดง) นฤมล ธารดำรงค์ อดีต สส.สมัยพรรคพลังประชาชนเขต 7 (อ.พระสมุทรเจดีย์) ประชา ประสพดี อดีต ส.ส. 4 สมัย และเขต 8 (อ.บางบ่อ) สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ อดีต ส.ส. 3 สมัย
ส่วนทีมคู่แข่งอย่างบ้านใหญ่อัศวเหม ก็ยังสังกัดพรรค พปชร. ยกเว้น ไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ย้ายไปพรรค รทสช.
นักรบห้องแอร์ค่ายทักษิณ กลัวความพ่ายแพ้แบบปากน้ำโมเดลปี 2562 จึงออกแคมเปญ ถ้าเลือกพ่วง ร่วงกันหมด เพราะกลัวแบ่งใจเลือกทั้ง พท. และ กก. แล้วจะสอบตกทั้งสองพรรค