คอลัมนิสต์

57 ปี พระราชปรารภ ร. 9 เพียง 4 ข้อ ถามสถานการณ์ มหาเถรสมาคม พระสงฆ์ และประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหาพระเทศน์แล้วง่วง ห้ามพระถือกล้องถ่ายรูปแต่ไม่ได้ห้ามเล่นไลน์ใช้มือถือถ่ายรูป ฟัง "พระราชปรารภ" เมื่อ 57 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ พระพุทศาสนา ชาวพุทธ และคณะสงฆ์  ทำไมถึงยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง

 ผมซื้อหนังสือเก่า เรื่องพระพุทธศาสนาของใครก็ได้ ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติมาหนึ่งเล่ม เป็นหนังสือรวมบทความ ของ "คามหุโณ" ที่เคยตีพิมพ์ในสยามรัฐรายสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ 2508-09 คามหุโณ นำข่าว ที่นายพอพันธ์ จารุดุล อุปนายก คณะกรรมการศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา วัดสระเกศ ที่ อัญเชิญ พระราชปรารภ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาแถลงแก่สื่อมวลชนในขณะนั้นมาลงไว้
"พระราชปรารภ" นั้น แม้จะผ่านไป 57 ปี สถานการณ์ พระพุทศาสนา ชาวพุทธ และคณะสงฆ์  ยังไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่ กล้องถ่ายรูป ที่กลายมาเป็นสมารทโฟน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน
ผมขอนำพระราชปารภ มาเสนอ โดยสังเขป ดังนี้
1. ความรู้สมัยใหม่และวิทยาศาสตร์ ก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน แต่ ไม่ขัดกับหลักคำสอนในพุทธศาสนา  ทำให้ชาวยุโรปและอเมริกัน หันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้น  "แต่ทำอย่างไรจึงจะสอนพระพุทธศาสนาให้เข้าใจง่าย แก่ชนทุกชั้น ทุกภาษา ด้วยเวลาอันสั้น"
2. ในขณะที่ชาวโลกหันมาสนใจพระพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนากลับถูกรุกรานจากเจ้าลัทธิต่างๆ ด้วยการรุกทางปัญญา โดยยัดเยียดความผิดต่างๆ แก่ชาวพุทธ ทำให้เข้าใจไขว้เขว ไปจากหลักศาสนา นับว่าเป็นภัยแก่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง 
จงช่วยกันหาทางปัองกันเถิด
3. เท่าที่สังเกตดู ชาวพุทธเข้าโบสถ์ฟังธรรมและรักษาศีล คิดว่าคงรักษาได้แต่ศีล เพราะขณะฟังเทศน์ นั้น บางคนก็หลับ บางคนก็ง่วง

 

 

เมื่อพระเทศน์จบ ก็ไม่รู้ว่าพระเทศน์เรื่องอะไร เช่นนี้เป็นการฟังเทศน์เอาบุญ แต่ไม่กิดปัญญา ฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรุกรานทางปัญญา จากเจ้าลัทธิอื่น ชาวพุทธจึงไม่ควรนับถือพระพุทธศาสนาแค่เพียงรักษาศีล ควรให้เข้าถึงปัญญา คือเมื่อฟังแล้ว ก็ควรให้เข้าใจเนื้อความของธรรมนั้นๆ ด้วย

4. ทรงฝากข้อสังเกตเกี่ยวกับสงฆ์ว่า ทรงปรารถนาที่จะเห็นพระสงฆ์ให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในกิจพระศาสนายิ่งกว่านี้ ขอให้ชาวพุทธร่วมมือกัน เรื่องการใช้เวลาว่างของสงฆ์ให้เกิดประโยชน์ในกิจการพระศาสนาจริงๆ เพื่อกันข้อกล่าวหา และเข้าใจผิด จากผู้ที่ไม่ปรารถนาดี ต่อพระพุทธศาสนา  "อนึ่งการที่พระสงฆ์ ถือกล้องถ่ายรูปนั้น ไม่เป็นพระราชนิยม"
นี้คือสังเขปพระราชปรารภ ส่วนการอธิบายความมีดังนี้

"พระราชปรารภว่าลัทธิอื่นรุกรานพุทธศาสนา ทางปัญญานั้น ไม่ทราบว่าคณะสงฆ์ ทำอะไรป้องกันบ้าง  ผมเชื่อว่าไม่ได้ทำ มิเช่นนั้น คำว่า พหุวัฒนธรรม คงไม่เกิด ในวัฒนธรรมไทย ที่เคยเน้นวัฒนธรรมแห่งพระพุทธศาสนาเท่านั้น พระราชปรารภเรื่องคนยุโรปและอเมริกัน สนใจใฝ่ศึกษาพุทธศาสนา"

 

 

แต่ปัญหาอยู่ที่การใช้ภาษา ที่สอนให้ผู้สนใจ เข้าใจง่ายและในเวลาอันสั้น นั้น ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมแม้เวลาล่วงเลยมา 57 ปี แล้วก็ตาม
เรื่องนี้ถ้าย้อนไปยุคต้นพุทธกาล จะเห็นสติปัญญาชั้นเลิศของ พระอัสสชิ ที่พูดกับอุปติสสะ ปริพพาชก(ต่อมาคือพระสารีบุตร) ที่ถามว่าศาสดาท่านสอนอย่างไร พระอ้สสชิตอบแบบถ่อมตัวว่า ท่านเป็นพระใหม่ จึงขอบอก ด้วยความสั้นๆ ว่า

"เย ธัมมา เหตุปัพภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต (อาหะ)" อุปติสสะฟังเข้าใจ ในเวลาอันสั้น (เพราะใช้ภาษา เดียวกัน) จึงนำความไปบอก โกลิตะ (พระโมคคัลาน์) ผู้เป็นสหาย แล้วชักชวนมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วได้รับการอุปสมบทแบบเอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวก ซ้าย-ขวา

นี่คือตัวอย่างการใช้ภาษาง่ายๆ แต่เข้าใจได้ในเวลาสั้นๆ
ส่วนเรื่องชาวพุทธรักษาศีล แต่ฟังเทศน์แล้วหลับ คือปัญหาที่แก้ยาก เคยมีพระเทศน์ ใช้ภาษาแบบตลก เพื่อแก้ปัญหาฟังธรรมแล้วง่วง ก็ถูกใจผู้ฟังบางกลุ่ม แต่ที่รับไม่ได้ก็มีมาก(หัวเก่า) จึงถูกบ่น ถูกตำหนิ ผู้เทศน์ส่วนหนึ่งก็เลิก หรือลาสิกขา
ปัญหาพระมีเวลาว่างเกิน และไม่ทำกิจเพื่อพระศาสนา นั้น ปัจจุบันพระทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะสังคมคาดหวังว่า พระไม่ทิ้งโยม เมื่อเกิดภ้ยพิบัติต่างๆ จึงเห็นพระที่เคยรับๆ  มาเป็นผู้ให้แล้ว

 


พระราชปรารภเรื่องพระถือกล้องถ่ายรูปว่า ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม นั้น 
"มหาเถรสมาคม" สนองพระราชดำริ โดยตรากฏมหาเถรสมาคม ห้ามพระเณร ถือกล้องถ่ายภาพ
แต่เทคโนโลยีการถ่ายภาพเปลี่ยนเร็ว เมื่อสมารทโฟน เข้ามาแทนกล้องถ่ายรูป ในขณะนี้ ทำให้พระถ่ายคลิป หรือ ส่งไลน์ทำร้ายความเป็นสมณะมี มากขึ้น

ที่อัญเชิญพระราชปรารภ ที่ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯไว้ เมื่อ 57 ปีที่แล้ว เพื่อต้องการให้คณะสงฆ์ และชาวพุทธสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่ายังไม่สายเกินไป ที่จะแก้ไขตามพระราชปรารภนั้น

พระบรมราชานุสาวรีย์ ในหลวง ร.9 หนังสือพระพุทธศาสนาสำหรับใครก็ได้ "คามหุโณ"

เรื่อง : เปรียญ12

 

ติดตามโลกโซเชียลเพิ่มเติมได้ที่  facebook.komchadluek
หรือติดตามดูคลิปต่อ Youtube ได้ที่ คมชัดลึก

 

logoline