ผ่านไปแล้ว 9 วัน ที่ "พายุโนรู" ถล่มประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 19.00 น. ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่แรก จากนั้นได้เคลื่อนไปยังภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง อิทธิพลของมันทำให้หลายจังหวัดเกิด "น้ำท่วมเฉียบพลัน" "น้ำป่าไหลหลาก" แม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และไหลเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมพืชผลทางการเกษตร รวมถึงบ้านเรือนประชาชน ได้รับความเสียหาย กระจายอยู่เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ
ล่าสุด "พายุโนรู" ยังได้ส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติ หลังสำนักอุทยานแห่งชาติ ประกาศ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ปิดแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ 17 แห่ง จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และ "น้ำป่าไหลหลาก" จาก "พายุโนรู"
สำหรับ แหล่งท่องเที่ยวในเขต "อุทยานแห่งชาติ" 17 แห่ง ที่ได้ประกาศปิดมีดังต่อไปนี้
1. บริเวณน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย
2. บริเวณน้ำตกตาดหมอก น้ำตกสองนาง และเขตบริการห้วยบง อุทยานแห่งชาติตาดหมอก
3. บริเวณดอยค้ำฟ้า อุทยานแห่งชาติผาแดง
4. ปิดการท่องเที่ยวและพักแรม อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
5. ปิดการท่องเที่ยวและพักแรม อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม
6. บริเวณน้ำตกหินสามชั้น น้ำตกห้วยเตย และน้ำตกห้วยไผ่ อุทยานแห่งชาติภูเรือ
7. บริเวณน้ำตกแม่สา และน้ำตกหมอกฟ้า อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
8. บริเวณโป่งน้ำร้อนท่าปาย อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
9. บริเวณน้ำตกหมันแดง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
10. บริเวณถ้ำธารลอดน้อย และถ้ำธารลอดใหญ่ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
11. บริเวณลานกางเต็นท์ลานนับดาว และน้ำตกห้วยเข อุทยานแห่งชาติน้ำพอง
12. บริเวณลานกางเต็นท์แหลมสำราญ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
13. ปิดให้บริการกางเต็นท์พักแรม อุทยานแห่งชาติไทรโยค
14. บริเวณเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางน้ำ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
15. บริเวณเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางน้ำ อุทยานแห่งชาติตาพระยา
16. บริเวณเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางน้ำ อุทยานแห่งชาติปางสีดา
17. บริเวณเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางน้ำ อุทยานแห่งชาติทับลาน
และก่อนหน้าในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ได้ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว และการพักค้างแรมในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และน้ำตกห้วยขมิ้น เป็นการชั่วคราว
เนื่องจากเกิดสถานการณ์ "น้ำป่าไหลหลาก" ทำให้ "น้ำท่วมฉับพลัน" หากเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาก็เกรงว่าจะเป็นอันตราย
ทีมข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" จึงนำเหตุการณ์ "โศกนาฏกรรม" "น้ำป่าไหลหลาก" ที่ "วังตะใคร้" จ.นครนายก เมื่อปี 2537 มาให้ดูกัน เพื่อเป็นอุธาหรณ์ ว่า "ภัยธรรมชาติ" อยู่นอกเหนือทุกกฎของมนุษย์ เป็นเรื่องใกล้ตัว และอันตรายกว่าที่คิด
- "โศกนาฏฆกรรม" ที่ "วังตะใคร้" น้ำป่าฯสังหารหมู่ 21 ศพ
"โศกนาฏกรรม" จาก "ภัยธรรมชาติ" เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2537 ในวันนั้นเกิดเหตุการณ์ระทึก!!! ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดเวลา 05.00 น. ผ่านมา ได้เกิด "น้ำป่าไหลหลาก" หลายจุดในพื้นที่ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก
ส่งผลทำให้ระดับน้ำในลำคลองสายต่างๆ เอ่อล้นตลิ่ง บางจุดสูงเหนือตลิ่งมากกว่า 1-2 เมตร ขณะที่เครื่องส่งสัญญาณโครงการเฝ้าระวังและเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉลับพลัน-ดินถล่มสะพานวังตะไคร้ ได้ร้องแจ้งเตือน น้ำป่าไหลบ่าผ่านคลองวังตะไคร้ ทำให้น้ำท่วมสูงมากกว่า 1 เมตร
ขณะที่นักท่องเที่ยวมากกว่า 500 คน ส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัว เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดพอดี บางครอบครัวก็มาแต่เช้ามืด บางครอบครัวก็มาช่วงสาย โดยทั้งหมดไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองเลยว่าอาจต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้
พอถึงช่วงบ่ายในขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังเล่นน้ำ บางคนก็ล่องเเก่ง และบางครอบครัวก็นั่งสังสรรค์ พร้อมรับประทานอาหารเที่ยงไปด้วย จู่ๆก็มีมวลน้ำป่าก้อนใหญ่ ไหลทะลักเข้าสู้วังตะใคร้ ในขณะทุกคนกำลังเล่นน้ำ และพักผ่อนกันอย่างมีความสุข
ซักพักน้ำจากเดิมขาวใส กลายเป็นสีแดงที่มาพร้อมกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำ "ภัยธรรมชาติ" ที่ดูน่ากลัวมากที่สุดอีกรูปแบบหนึ่ง จากเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม กลายเป็นเสียงกรีดร้อง ทั้งเสียงหญิง-ชาย เด็กและผู้ใหญ่ ต่างพากันกรีดร้องและตะโกน ขอความช่วยเหลือ บางคนยังไม่สิ้นเสียง ก็ถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก พัดพาพวกเขาไปคนละทิศละทาง
สุดท้ายกลายเป็น "โศกนาฏกรรม" ของหลายครอบครัว เพราะเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิต ทั้งหมดมากถึง 21 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก สภาพศพกระจัดกระจายกันออกไปตามพื้นที่ที่น้ำป่าไหลผ่าน เพราะหนีน้ำป่าไม่ทัน
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้รับการติดต่อจากฝ่ายต้นน้ำวังตะไคร้ บริเวณเขาใหญ่ ว่า มีมวลน้ำป่าขนาดใหญ่กำลังตรงไปทางจุดเล่นน้ำตกวังตะไคร้
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการเป่านกหวีด และเรียกให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาจากน้ำ ไปอยู่ในที่ปลอดภัย แต่บางคนต่างก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนก็กำลังจะวิ่งขึ้นฝั่งเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ก็ไม่ทัน เพราะ "น้ำป่าไหลหลาก" มาเร็วเเละรุนแรงมาก
และเหตุการณ์นี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งบทเรียนที่สำคัญ ของเหตุการณ์ "น้ำป่าไหลหลาก" จนเป็นที่จดจำว่า น้ำป่า อันตรายและร้ายแรงกว่าที่คิด
ส่วนทางฝั่งเจ้าหน้าที่เอง บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คงเป็น การเเจ้งเตือนล่วงหน้า ที่ควรเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ เข้าใจว่าในยุคนั้น เทคโนโลยีอาจจะยังไม่ทันสมัย แต่เชื่อว่าทางอุทยาน ต้องมีข้อมูลการแจ้งเตือนเหตุล่วงหน้าอยู่แล้ว หรือไม่ก็ต้องประเมินสถานการณ์ตามสภาพภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศในวันนั้นๆ เพื่อดูความรุนแรงและความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่เอง
ส่วนนักท่องเที่ยวอย่างน้อย ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานการเอาชีวิตรอด เมื่อต้องเผชิญเหตุ ทั้งในกรณีนี้ รวมไปถึงภัยธรรมชาติทุกรูปแบบด้วย
วันนี้ ทีมข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" จึงนำความรู้ และวิธีการเอาชีวิตรอด รวมถึงการสังเกตลักษณะของ "น้ำป่าไหลหลาก" มาฝากกัน
- เตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อม
ช่วงนี้เป็นหน้าฝน ก่อนออกไปเดินป่า หรือเดินเที่ยวชมธรรมชาติ ในเขตอุทยานทั้งหลาย สิ่งสำคัญที่สุดต้องเตรียมร่างกายของเราให้พร้อม ตรวจสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ก่อนออกเดินทาง พกอุปกรณ์เดินป่า ติดตัวเพื่อเสริมความมั่นใจว่ายังไงเราต้องรอด เพราะภัยธรรมชาติ มักจะมาโดยไม่ๆได้นัดหมาย แต่มันจะมีสัญญาณเตือนมาก่อนเสมอ
- สำรวจพื้นที่หาทางหนีทีไล่
เมื่อเดินทางไปถึง ก่อนเดินป่า หรือก่อนลงเล่นน้ำ ควรสำรวจทางเดิน(หรือวิ่ง) ทางขึ้น-ลง หรือพื้นที่สูงเอาไว้ด้วย เผื่อเวลาฉุกเฉินเกิดน้ำป่าไหลหลากจะได้หนีทัน และระหว่างเล่นน้ำต้องสังเกตสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ว่าอีกไม่นาน "น้ำป่าไหลหลาก" มาเยือนอย่างแน่นอน
- วิธีสังเกต "น้ำป่าไหลหลาก"
1.มีบรรยาการครึ้มฟ้า ครึ้มฝน คล้ายฝนจะตก
2.มีเสียงน้ำดังขึ้นกว่าเดิม หรือดังมากผิดปกติ
3.น้ำตกมีปริมาณหรือระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
4.อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนไปจากปกติ
5.สังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่า หากจะเกิดอันตราย สัตว์ป่ามักจะแตกตื่น และหนีออกมาจากป่าจนผิดสังเกต
6.มีเศษดิน โคลนลงมาตามลาดเขา และมีเศษไม้ กิ่งไม้ เศษดิน กรวด ไหลมากับน้ำ
7.สีของน้ำเปลี่ยน กลายเป็นสีแดง หรือสีแดงขุ่นขึ้น
กรณีหากไม่สามารถหนีขึ้นที่สูง หรือหาที่ยึดเกาะที่มั่นคงได้ หากมาหลายคน ให้ทุกคนพยายามยืนเรียงกันเป็นแถวตอนเรียงเดี่ยว (ไม่ใช่ยืนเรียงหน้ากระดาน) และพยายามรักษาตำแหน่งเดิมของตนเองไว้ เพื่อลดแรงปะทะของน้ำ โอกาสที่น้ำจะพัดพาเราไปกระแทกสิ่งต่างๆ ก็จะลดลง และโอกาสรอดก็จะมีมากขึ้น จากนั้นควรตะโกนให้คนช่วย และหาอุปกรณ์หรือต้นไม้ยึดไว้ไม่ให้ไหลไปกับน้ำ
ในภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีทางเลือกอื่นใด การทำเช่นนี้ก็อาจเป็นทางเลือกและทางรอดหนึ่ง แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันและเฝ้าระวังโดยไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเช่นนี้ และที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งอย่างก็คือ ปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำเตือนอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดจากทั้งหมดที่กล่าวมา นั่นก็คือ "สติ" เพราะมันจะทำให้มีทางรอดและทางออกในยามฉุกเฉินอยู่เสมอ อย่างคำโบราณที่ว่า "สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา"
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง