คอลัมนิสต์

ลืม 19 กันยา “พจมาน” เชื่อมบ้านจันทร์-บ้านป่าไร้รอยต่อ

20 ก.ย. 2565

บทเรียนรัฐประหาร “พจมาน” เดินเกมคู่ขนานกับทักษิณ ยิ่งกว่าลับลวงพรางอ่านเกมข้ามช็อต จับตาสายสัมพันธ์บ้านจันทร์-บ้านป่า หลังเลือกตั้งสมัยหน้า

บทเรียนรัฐประหาร “พจมาน” เดินเกมคู่ขนานกับทักษิณ ศึกชิงอำนาจครั้งใหม่ ต้องมากกว่าลับลวงพราง

 

“พจมาน” ช่ำชองเดินเกมหลังม่าน รู้จักอีลิตมากกว่าทักษิณ อ่านเกมข้ามช็อตไปถึงสายสัมพันธ์บ้านจันทร์กับบ้านป่า หลังเลือกตั้งสมัยหน้า

 

ไม่แปลกหรอกที่ ทักษิณ ชินวัตร จะใช้วาระครบรอบ 16 ปี รัฐประหาร 19 กันยา เป็นการโฆษณางานการเมือง “ผมถูกการรัฐประหารลับหลัง (ถูกลอบกัดโดยชายชาติทหาร)...”

 

สำหรับ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในชั่วโมงนี้ มีภารกิจที่จะนำพรรคเพื่อไทยไปสู่ชัยชนะในสมรภูมิเลือกตั้ง และสร้างพันธมิตรการเมืองใหม่

 

การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 จะไม่เกิดขึ้น หาก ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่เลือก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ทบ.เมื่อปี 2547

 

เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร เลือก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 6 เป็น ผบ.ทบ.ในปี 2548 และระหว่างอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.อ.ประวิตร ดึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จากปราจีนบุรี มาเป็น ผบ.พล.1 รอ. และขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1

 

ก่อนเกษียณอายุราชการ พล.อ.ประวิตร ดึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากปราจีนบุรี มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ดังนั้น การยึดอำนาจของ พล.อ.สนธิ จึงมีทหารปราจีนบุรี ,สระแก้ว และชลบุรี เป็นกำลังหลัก

 

อาจกล่าวได้ว่า อวสานของชินวัตรยกแรก ก็คือปฐมบทของพี่น้อง 3 ป.หรือระบอบ 3 ป. เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

 

 

 

 

จับตาบทบาท มิสเตอร์ดีล ของ พล.อ.ประวิตร

 

 

‘นางพญาหลังม่าน’

หลังคณะปฏิรูปการปกครองฯ เข้าบริหารราชการแผ่นดิน “พจมาน” ได้เคลื่อนไหวครั้งแรก ทำเอาแวดวงการเมืองสะท้านสะเทือน ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร ลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษ

 

วันที่ 26 ต.ค.2549 คุณหญิงพจมาน และบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ 

 

ถัดมา พล.อ.เปรม ตอบคำถามนักข่าวกรณีที่คุณหญิงพจมานเข้าพบที่บ้านพักว่า “ผมรู้ว่าคุณจะถามเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นไม่ต้องถาม ตามที่ พล.อ.อู้ด (พล.อ.อู้ด เบื้องบน นายทหารคนสนิท) พูดไปเมื่อวานมันมีอยู่เท่านั้น ไม่มีอะไรมาก”

 

เมื่อพรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะ สมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณก็เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2551 

 

วันที่ 29 พ.ค.2551 ทักษิณเดินทางทางมาร่วมในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ บุญเรือน เผ่าจินดา มารดาของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในเวลานั้น ที่วัดโสมนัสวรวิหาร ทักษิณได้พบกับ พล.อ.เปรม เป็นครั้งแรกนับแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยา 

 

ตัวละครลับคนหนึ่งที่มีส่วนในดีลลับ ก็คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่เข้าออกบ้านสี่เสาฯ และบ้านจันทร์ส่องหล้าได้ตลอดเวลา 

 

 

 

‘บ้านจันทร์-บ้านป่า’

ทักษิณชอบเปรียบเปรยว่าตัวเองเป็นคนบ้านนอก ต่างจาก “พจมาน” ที่เติบโตในแวดวงสังคมชั้นสูง

 

ในแคร์คลับเฮาส์เมื่อ ก.ย.2564 ทักษิณเล่าว่า “ผมเป็นคนซื่อบื้อ...ผมโตมาจากต่างจังหวัด แต่มาเรียนนายร้อยอยู่ในกรอบ เรียนจบได้ทุนไปอเมริกา ดังนั้น การเรียนรู้สังคมชนชั้นนำไม่มีเลย”

 

ยกตัวอย่างกรณี พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ลาออกจาก ผบ.ทอ.มารับตำแหน่ง มท.1 รัฐบาลทักษิณ ก็เพราะสลิลลาวัลย์ ภรรยาพล.อ.อ.คงศักดิ์ เป็นทั้งเพื่อนและเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน

 

นัยว่าคุณหญิงอ้อเป็นสะพานเชื่อมให้ทั้ง พล.อ.อ.คงศักดิ์ และเพื่อนรักได้พบรักกัน รวมถึง พล.อ.ประวิตร ที่มีเรื่องเล่าว่า คุณหญิงอ้อพยายามจะเป็นแม่สื่อแม่ชักหาคู่ให้นายพลคนโสด แต่ไม่สำเร็จ

 

เลือกตั้งปี 2548 ทักษิณนำทัพไทยรักไทย สมัยที่ 2 ตอนนั้น พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. มอบหมายให้ พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนรักเป็นนายทหารประสานงานกับพรรครัฐบาล บิ๊กป้อมจึงได้ชื่อว่าเป็น มิสเตอร์ดีล

 

ด้วยเหตุนี้ นักสังเกตการณ์ทางการเมือง จึงจับตามองเกมดีลปรองดองหลังเลือกตั้งสมัยหน้า ระหว่างบ้านจันทร์ส่องหล้า-บ้านป่ารอยต่อ

 

 

 


ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

 

 


เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   

( https://awards.komchadluek.net/# )