คอลัมนิสต์

ย้อน "พระอาจารย์กงมา" เรื่องร้องเรียน 3 ข้อ ลง นิคหกรรม พระดีพระแท้ ต้องสึก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องร้องเรียนว่า พระประพฤติไม่เหมาะสม มีทุกยุคทุกสมัย "จริยาของนักปกครอง" พูดง่ายๆ ว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล มิเช่นนั้นพุทธองค์คงไม่บัญญัติสิกขาบท 227 ข้อให้ปฏิบัติถึงทุกวันนี้

การแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนก็มีมาต่อเนื่อง ส่วนที่เขียนวันนี้เป็นวิธีแก้ของ "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า" พระองค์หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์

ซึ่งผมได้ข้อมูลจากเกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้ โดยพระไพศาล วิสาโล ที่เล่าเรื่องจริยาของนักปกครอง โดยได้กล่าวถึงพระปฏิปทา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระราชอุปัธยาจารย์ พระบาทสมเด็จพระมห่ภูมิพล อดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อทรงผนวช พ.ศ 2499
เรื่องที่แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหา เมื่อพระองค์ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพระป่า ในคณะธรรมยุตว่าประพฤติไม่ถูกต้องตาม "พระธรรมวินัย" พระรูปนั้นคือ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ศิษย์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระองค์ท่านในฐานะเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต จึงต้องรับผิดชอบ  จึงเสด็จไปหาข้อเท็จจริงด้วยพระองค์เอง ถึงสำนักที่อาจารย์กงมาพักอยู่ คือวัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรีโดยไปพำนักถึง 2 ครั้ง ในปี พ ศ. 2481และ 2482 ส่วนพระอาจารย์กงมานั้นไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการเสด็จมาทั้ง 2 ครั้ง เมื่อมาพักที่วัดป่า พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับ "พระป่า" คือฉันอาหารมื้อเดียว

 

 

แม้พระอาจารย์กงมาจะจัดหาภัตตาหารเพลอย่างเลิศมาถวาย ก็ทรงปฏิเสธ ส่วนเรื่องร้องเรียนเรื่องแรกคือ พระอาจารย์กงมา สะพายบาตร เหมือนพระมหานิกาย พระองค์ท่านดูแล้วไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย เพราะสะพายบาตรแบบนี้ คล้ายอุ้มบาตรเหมือนกัน ดูแล้วเรียบร้อยดี

เรื่องร้องเรียนข้อที่ 2 ว่าพระอาจารย์กงมา เทศน์ผิดจากคำสอนของพระพุทธองค์ เรื่องนี้เจ้าพระคุณสมเด็จ มีวิธีสอบสวน จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงทุกวันนี้คือ

วันหนึ่ง พระอาจารย์กงมา เป่าประกาศให้ญาติโยมมาฟังเทศน์ที่วัด โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ จะเป็นองค์แสดง ญาติโยมจึงมากันล้นหลาม เมื่อได้เวลา พระอาจารย์กงมา ไปนิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จ แต่สมเด็จให้พระอาจาย์กงมาเทศน์แทน เพราะท่านรู้สึกไม่ค่อยสบาย
เมื่อพระอาจารย์กงมาเทศน์ได้สัก 10 นาที สามเณรรูปหนึ่งลงจากศาลาจะไปปัสสาวะ เห็นเจ้าพระคุณสมเด็จนั่งฟังเทศน์ที่พื้นทรายข้างศาลา จะขึ้นไปบอกพระอาจารย์กงมาก็สายไปแล้ว

รุ่งเช้าเจ้าพระคุณสมเด็จตรัสชม พระอาจารย์กงมา ว่า กงมานี่เทศน์เก่งกว่าเปรียญ 9 ประโยคเสียอีก

ข้อร้องเรียนที่ 3 กล่าวหาว่า พระอาจารย์กงมา ทำตัวเป็นผู้วิเศษ และแจกของขลังให้ประชาชนหลงผิด
วิธีสอบสวนของเจ้าพระคุณสมเด็จในเรื่องนี้ คือชวนพระอาจารย์กงมาเดินธุดงค์ โดยพระองค์ท่านทรงแบกกลด สะพายบาตรเอง และเดินตามหลังพระอาจารย์กงมา แม้อาจารย์กงมาจะขออาสาช่วยแบกกลด ก็ไม่ยอม

 

 

หลังจากธุดงค์ 1 อาทิตย์เศษ พระองค์ตรัสว่า การธุดงค์ของท่านกงมา และพระปฏิบัติกรรมฐานนั้นได้ประโยชน์เหลือหลาย อย่างนี้ ธุดงค์มากๆ ก็จะทำให้พระศาสนาเจริญยิ่งขึ้น
นับแต่นั้นมาพระองค์ ทรงให้การสนับสนุน คุ้มครอง และสรรเสริญพระอาจารย์กงมา โดยตลอด
นี่เป็นเรื่องจริยาของพระนักปกครองในอดีต ที่แก้ปัญหาแบบเข้าถึงปัญหา เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริง ซึ่งสามารถแก้ได้ตรง ไม่เกิดความเสียหายตามมา

ต่างจากปัจจุบัน พระผู้ใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหาพระภิกษุสงฆ์โดยตรง เมื่อมีเรื่องร้องเรียน มักจะเห็นหมอปลา หรือมือปรทบสัมภเวสีและเจ้าหน้าที่ตำรวจมานิมนต์ หรือเชิญตัวผู้เป็นต้นเหตุไปหาพระผู้ปกครองทำการสึก แม้ว่าเรื่องต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียง "ลหุกาบัตร" (อาบัติเบา เช่นปาจิตตีย์) ไปสารภาพกับพระภิกษุด้วยกันก็จบ
แต่ต้องให้สึก เพราะเรื่องที่ภิกษุละเมิดส่วนมากเป็น "โลกวัชชะ"

ที่เราอยากเห็นเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์คือการตั้งศาลสงฆ์ หรือการลงนิคคหกรรม เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความประพฤตินอกรีตของภิกษุสงฆ์ที่เกิดบ่อยๆ

"ศาลสงฆ์" หรือการลง "นิคหกรรม" นั้น มหาเถรสมาคมได้วางกฏเกณฑ์ เป็นกฏมหาเถรสมาคมฉบ้บที่ 11 (พ.ศ.2521) ตาม พรบ.สงฆ์  พ.ศ. 2505 ว่าด้วยการลงนิคคหกรรม (การลงโทษตามพระธรรมวินัย) ได้บอกวิธีปฏิบัติไว้ตั้งแต่การสอบสวนชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา อย่างละเอียด  แต่ไม่เคยได้ยินว่า มีการตั้งศาลสงฆ์พิจารณากรณีใดบ้าง จนทำให้ ใครๆ ก็คิดว่า การลงนิคหกรรม หรือศาลสงฆ์ จะเป็นหมัน 

 


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) ประกาศให้ไปวัดปทุมวนาราม เพื่อฟังผลการพิจารณาการลงนิคคหกรรม คดีที่พระผู้ใหญ่ (ธ)ในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ถูกกล่าวหาว่า "เสพเมถุน" 

เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า คณะผู้พิจาณาการลง นิคหกรรมได้พิจารณาพยานหลักฐาน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้วตัดสินว่า จำเลยเป็น "อาบัติปาราชิก" จากการเสพเมถุน ตามคำตัดสินนี้จำเลยต้องสละสมณเพศ

ถึงกระนั้นการลงนิคหกรรม หรือศาลสงฆ์ให้โอกาสจำเลยอุทธรณ์ได้ในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาพระวินัย ซึ่งต้องทำภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ทราบการวินิจฉัย ส่วนผู้ที่รับอุทธรณ์ต้องพิจารณาภายใน 15 วัน นับแต่วันรับเรื่องเช่นกัน
เมื่อคณะผู้พิจารณาขั้นอุทธรณ์ ตัดสินมาแล้ว ถ้าจำเลยเห็นว่ายังไม่เป็นธรรมอีก ย่อมมีสิทธิ์ฎีกา 
ถ้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกาตัดสินไปในทิศทางเดียวกัน จำเลยต้องสึก ภายใน 24 ชั่วโมง หากดื้อดึง ให้สงฆ์ขออารักขาจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
ในเรื่องนี้ตามระเบียบแล้ว จำเลยนอกจากถูกให้สึกยังต้องโทษอาญาคือจำคุก 1 เดือน อีกด้วย นี่คือวิธีการ แต่การปฏิบัตินั้น ท่านว่ายังอยู่ในชั้นความลับ จะเปิดเผยได้ เมื่อมหาเถรสมาคมอนุญาต เท่านั้น
ดังนั้นเรื่องใหญ่ๆ ของพระผู้ใหญ่ที่ถูกฟ้อง จนถึงขั้นพิจารณาลงนิคหกรรม แล้ว แต่เอามาบอกกล่าวไม่ได้

ชาวบ้านที่สนใจ จึงต้องอยู่ในที่มืดต่อไป
วังเวงไหมครับท่าน

เรื่อง : เปรียญ12

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ