คอลัมนิสต์

โยนหินถาม "ประยุทธ์ "กับข่าวยึดหัวหาด "พลังประชารัฐ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หยุดวงจรอุบาทว์ โยนหินถามทาง "ประยุทธ์" ยึดหัวหาด "พลังประชารัฐ" เดินหน้า "ประชาธิปไตย" ต้องสกัดนักการเมืองสีเทาเข้าสภา

“พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว และจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเพื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน พล.อ.ประวิตร และให้ พล.อ.ประวิตร ไปทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคแทน ซึ่งระหว่างนี้รอจังหวะที่เหมาะสมให้พ้นเดือนสิงหาคม ที่จะมีความชัดเจนในประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีไปก่อน “

      เป็นข่าวปล่อย “โยนหินถามลุงตู่” เพื่อให้ได้ความกระจ่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ว่า ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ จะยึดพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก หรือจะตั้งพรรคใหม่ตามกระแสข่าว ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคไทยสร้างสรรค์

      การต้องการความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ เพราะคนทำงานในพื้นที่เริ่มลำบากใจในการตอบคำถามชาวบ้าน…ไหนคุณเชียร์ลุงตู่ ตกลงลุงตู่อยู่พรรคไหน แน่นอนว่าคนทำงานในพื้นที่ไปต่อไม่เป็นเลย

      ยังมีมากกว่านั้น คำถามว่า ตกลงลุงตู่ในวัน 67 จะยังอยู่ในฐานะนักการเมือง จะยังยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นคาดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ นี้คือประเด็นใหญ่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ก็เจอปัญหารุมเร้ารอบด้าน

      “เป็นนายกฯนานเกินไป ไม่ได้เห็นทะเลนานแล้ว”

   โยนหินถาม "ประยุทธ์ "กับข่าวยึดหัวหาด "พลังประชารัฐ"

    คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์กับคำว่า “เป็นนายกฯนานเกินไป” เป็นคำพูดที่น่าคิดว่า เมื่ออยู่ครบวาระ 4 ปี หรือยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมรับเป็นคาดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ และยอมกับพรรคไหน

      ไม่ใช่จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “เราพอแล้ว” เหมือนเมื่อครั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองรวมตัวกันไปพบ พล.อ.เปรม เพื่อเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมบอกว่า เราพอแล้ว

       ถ้าถึงวันยุบสภา หรือสภาอยู่ครบวาระแล้ว จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า เราพอแล้ว พรรคพลังประชารัฐยุ่งเลย จะชูใครเป็นนายกรัฐมนตรีละ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคหรือ ก็ขายไม่ออก แม้จะมากบารมีก็ตาม

      แต่ถ้ารู้ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ในวันนี้ ไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อย ก็จะเป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการโยนหินถามทางก็ได้ผลในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็มีคำตามจาก พล.อ.ประยุทธ์ว่า “เรื่องการเมืองยังไม่คิดอะไร ยังมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาประเทศชาติต่อไป”

       แม้จะเป็นคำตอบที่ “ไม่ได้ดั่งใจ” และไม่ชัดเจน แต่อย่างน้อยสาวก พลพรรคก็พอจะมีอะไรไปอธิบายกับชาวบ้านได้บ้าง

       คนโยนหินถามทางก็โยนไปไกล “ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้ไปพบกับ พล.อ.ประวิตร โดยมีการพูดคุยว่าจะกลับไปเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทั้ง 2 คน ได้ลาออกจากพรรคไปก่อนหน้านี้ โดยรายงานแจ้งว่า นายเสกสกล ได้สมัครสมาชิกพรรคไปเรียบร้อยแล้ว โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ลงนามเซ็นรับรองให้เข้าพรรค

      ซึ่งเสกสกล ยอมรับว่ากลับมาสมัครสมาชิกพรรคแล้วจริง และการออกไปเป็นเหตุผลเฉพาะช่วงสถานการณ์ แต่สำหรับสกลธี ยืนยันว่ายังไม่ได้กลับไปสมัครสมาชิกพลังประชารัฐใหม่ และการออกมาก็เพื่อลงสมัครผู้ว่าฯกทม.อิสระ

 

โยนหินถาม "ประยุทธ์ "กับข่าวยึดหัวหาด "พลังประชารัฐ"

      “มี 3-4 พรรคการเมืองทาบทามให้ไปร่วมงานด้วย แต่ผมยืนยันไปว่า ผลจะร่วมงานกับพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น”

      พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ในฐานะตัดสินใจยาก จะไปยึดหัวหาดพรรคพลังประชารัฐ พรรคก็อยู่ในช่วงขาลง ส่วนจะตั้งพรรคใหม่ก็ไม่ง่าย เพราะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด ในขณะที่พรรคอื่นๆเขาเดินกันไปไกลแล้ว และความพยายามในการตั้งพรรคสำรองก็แท้งมาหลายรอบ ตั้งแต่พรรคเศรษฐกิจไทย ที่จะให้ฉัตรค พรหมเลิศ อดีตปลัดมหาดไทยมาปลุกปั่น ก็ไปไม่รอด จน พล.อ.ประวิตร ต้องยกให้น้องรัก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปเป็นบ้านหลังใหม่ หรือจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ ดร.เสกสกล สถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปลุกเสกขึ้นมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หวังเป็นพรรคสำรอง ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง จึงไปผุดพรรคใหม่อีก “พรรคไทยสร้าง” มีณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นแกนจัดตั้งก็ยังเป็นวุ้นอยู่ในขณะที่การเมืองเดินหน้าสู่สนามเลือกตั้งทุกวัน

       ถ้ามองถึงความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง มีบางพรรคการเมืองพร้อมแล้ว เริ่มนิ่งแล้ว และเริ่มกวาดต้อนไพร่พลเข้าค่ายเรื่อยๆ แต่บางพรรคอาจจะประกาศความพร้อม แต่ข้อเท็จจริงยังมีปัญหาภายในเพียบ เดินเหยียบตีนกันเองก็มี พรรคพลังประชารัฐเองก็ร่อแร่เหมือนมวยเมาหมัด ยืนพิงเชือกแลกหมัด

      พรรคเกิดใหม่ก็ไม่ง่ายในการหาผู้สมัครในระดับเกรด A /B ส่วนใหญ่เดินไปหาก็คว้าเกรด C เกรด D หรือ เกรด E มาเปิดตัว ทำให้กระแสตอบรับไม่มี แกนนำระดับภาคก็บารมีไม่ถึง จึงถูก “นายหน้า” หรือ “เอเย่นต์” ระดับจังหวัด รับงานหาคนลงสมัครให้ “นายหน้า”ก็นั่งหวังกินหัวคิวจากเงินสนับสนุน

       สถานการณ์เวลานี้ในพื้นที่ “เอเย่นต์” วิ่งชนกัน วิ่งเข้าวิ่งออกบ้านของผู้ที่พอมีบารมีอยู่บ้าง คนโน้นเข้า คนนี้ออกกันสนุกสนาน ว่าที่ผู้สมัครบางคนก็ขับรถเบนซ์นั่งวาดฝันหว่านเงินซื้อหัวคะแนนกันจ้าละหวั่น ด้วยเงินที่หามาได้ แต่บางคนไม่รู้ไปเอาเงินมาจากไหน หายไปจากบ้าน 6-7 ปี กลับมานั่งเบนซ์ นั่งรถหรู พร้อมเงินก้อนโต หิ้วมาซื้อประชาธิปไตยจากประชาชน

       การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงภาพจะชัดเจนขึ้นกับ “ประชาธิปไตยเงินสด” หรือ money politic การเมืองแบบใช้เงิน ซื้อหัวคะแนน ซื้อเสียงชาวบ้าน และส่วนใหญ่เป็นเงินที่ได้มาจากอาชีพสกปรก

     เราไม่ควรปล่อยให้ความเลวร้ายเข้ามาทำลายประชาธิปไตย เราต้องรักและหวงแหนระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แม้จะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆก็ตาม

      หยุดเงินซื้อประชาธิปไตย หยุดความชั่วร้ายของนักการเมืองสีเทา

logoline