คอลัมนิสต์

แพ้แต่ชนะ "วิโรจน์" ฝากเสียงไว้ที่ชัชชาติ ขอทวงคืนสมัยหน้า

แพ้แต่ชนะ "วิโรจน์" เจอชัชชาติดูดเสียงสีส้มไปเยอะจนแพ้ขาด โชคดีที่ก้าวไกลได้ ส.ก. 14 ที่นั่ง หวังเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า คะแนนที่อยู่กับชัชชาติก้อนนี้จะไหลกลับมา คอลัมน์...ท่องยุทธภพ โดย...ขุนน้ำหมึก

 

แพ้แต่ชนะ "วิโรจน์" เจอชัชชาติดูดเสียงสีส้มไปเยอะจนแพ้ขาด โชคดีที่ก้าวไกลได้ ส.ก. 14 ที่นั่ง หวังเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า คะแนนที่อยู่กับชัชชาติก้อนนี้จะไหลกลับมา     

ตะกร้าคะแนน "วิโรจน์" ดึงไปเกินกว่าที่คาดไว้ ทีมก้าวไกลยอมรับว่า ฐานเสียงไม่มีของตาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น และยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรค


วันที่ 23 พ.ค.2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้ว่าฯ กทม.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยณภัค เพ็งสุข ว่าที่ ส.ก.เขตลาดพร้าว และอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ว่าที่ ส.ก.เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล จะลงพื้นที่ เพื่อดูลำคลองลาดพร้าว และนำเสนอนโยบายป้องกันน้ำท่วม กทม.


 

 

นี่คือภารกิจแรกของชัชชาติ หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แค่ข้ามคืน และชัชชาติเลือกที่จะลงสำรวจคลอง พร้อมวิโรจน์ และ ส.ก.ก้าวไกล ถือว่าเป็นสร้างแนวร่วมอย่างชาญฉลาด


ขณะเดียวกัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็ต้องมองไกลไปถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า เพราะมีคะแนนของก้าวไกลฝากไว้ใน 1.3 ล้านเสียงของชัชชาติอยู่ไม่น้อยเลย

 

ชัชชาติ และวิโรจน์ ลงเรือสำรวจคลองลาดพร้าวร่วมกัน


กางผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาดูอีกที ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด 1,386,769 คะแนน รองลงมาคือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 254,723 คะแนน และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล ได้ 253,938 คะแนน


เมื่อนำผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 มาเปรียบเทียบกับผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2565 พรรคอนาคตใหม่(พรรคก้าวไกล) ได้ 804,272 คะแนน ,พรรคเพื่อไทย ได้ 604,699 ,พรรคพลังประชารัฐ ได้ 791,893 และพรรค ปชป. ได้ 474,820 คะแนน


เดิมทีแกนนำพรรคก้าวไกล คาดหมายว่า วิโรจน์ น่าจะเป็นอันดับ 2 รองจากชัชชาติ และได้ประมาณ 6-7 แสนคะแนน แต่กลับได้เพียง 2.5 แสนคะแนน ตรงกันข้าม ผลเลือกตั้ง ส.ก. พรรคก้าวไกลได้ 14 ที่นั่ง รองจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ 20 ที่นั่ง 


แกนนำก้าวไกลจึงประเมินว่า คะแนนที่หายกว่า 5 แสน น่าจะไหลไปที่ชัชชาติ และยังแอบหวังลึก ๆ ว่า เมื่อถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ คะแนนก้อนนี้จะไหลกลับมา


"ท้าชนคือจุดอ่อน"
"วิโรจน์" ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลงสู่สนามการเมืองท้องถิ่น เพื่อหวังจะเป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้พรรคก้าวไกล มีโอกาสบริหารกรุงเทพมหานคร เหมือนที่คณะก้าวหน้า ได้บริหารเทศบาล และ อบต.มาแล้ว
 

 

มีรายงานข่าวว่า แกนนำพรรคก้าวไกล ได้ไปทาบทามนายแพทย์คนดัง แต่ครอบครัวของหมอรายนี้ ไม่ปลื้มจึงขอถอนตัวไป วิโรจน์ต้องขันอาสาชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯเอง ในฐานะผู้มีดีเอ็นเอก้าวไกล


ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นักวิเคราะห์ต่างยกให้ชัชชาติ-วิโรจน์ อยู่ในขั้วเดียวกันคือฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีฐานเสียงบางส่วนทับซ้อนกัน โดยวิโรจน์ คาดหวังจะได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ฐานเสียงเดิมของพรรคอนาคตใหม่, กลุ่มสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และกลุ่มนักธุรกิจที่ถูกใจนโยบายท้าชนส่วย


แม้วิโรจน์อาจรู้สึกชื่นชอบที่มีคนบอกว่า ตัวเขาบุคลิกภาพคล้ายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ และอดีตผู้ว่าฯ กทม. แต่กลับกลายเป็นจุดอ่อนในสายตาคนทั่วไป แม้แต่แฟนคลับสีส้มเองก็มองว่า บุคลิกท้าชน ปะฉะดะ ไม่เหมาะที่จะเป็นนักประสานงาน เมื่อเปรียบเทียบกับชัชชาติ 


"ฐานเสียงไม่ใช่ของตาย"
กองเชียร์ "วิโรจน์" บางกลุ่มอาจคาดหวังสูงว่า จะได้มากถึง 7 แสนเสียง แต่สิ่งที่แกนนำก้าวไกลคาดไม่ถึง เมื่อโหวตเตอร์อนาคตใหม่หรือก้าวไกล ใช้กลยุทธ์ผู้ว่าฯ กทม. เลือกชัชชาติ และ ส.ก.เลือกก้าวไกล


หลังปิดหีบเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ออกแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ในสนามผู้ว่าฯ กทม. โดยยอมรับความจริงที่ว่า ผู้สนับสนุนอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล แม้จะสนับสนุนพวกเราอยู่ แต่การเลือกตั้งคราวนี้ คนกลุ่มนี้ตัดสินใจเลือกนายชัชชาติ นี่เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ 


"ไม่ว่านิวโหวตเตอร์ หรือโหวตเตอร์วัยไหน เราวิเคราะห์ตลอดเวลาว่า ประชาชนไม่ใช่ของตาย คนทุกวัย วันนี้เขาสนับสนุนเรา วันหน้าหากเราไม่สามารถตอบสนองความคิดทางการเมืองเขาได้ เขาก็พร้อมเลือกคนอื่น เป็นเรื่องธรรมดา.." ชัยธวัช กล่าว


เชื่อว่า ทุกพรรคทุกกลุ่มการเมืองต้องยอมรับในกลยุทธ์ของชัชชาติ ที่สามารถตรึงฐานคะแนนตัวเอง และดึงคะแนนจากเอฟซีของพรรคการเมืองต่าง ๆ มาเสริม จนทำให้ทะลุ 1.3 ล้านคะแนน 


เบื้องต้นพรรคก้าวไกล และวิโรจน์ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ที่จะใช้สนามเลือกตั้งท้องถิ่นหนนี้ทดสอบแคมเปญกรุงเทพฯ ดึง ส.ส.กทม.เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อหยั่งกระแสนิยมทั้งของพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค 


การเลือกตั้งครั้งหน้า จะให้คำตอบว่า คะแนนของก้าวไกลที่ไหลไปหาชัชชาตินั้น จะไหลกลับมาที่ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกลในสนามเมืองหลวงหรือไม่