คอลัมนิสต์

ล้างอายเสื้อแดง "อุ๊งอิ๊ง" ทวงคืนปากน้ำ ดับกระแสธนาธร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ล้างอายเสื้อแดง "อุ๊งอิ๊ง" บุกปากน้ำ ปลุกแดงทั้งแผ่น สมัยที่แล้ว เพื่อไทยเจอกระแสธนาธรถล่ม สอบตกยกจังหวัด ตั้งเป้าทวงคืนพื้นที่ตระกูลอัศวเหม คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก

 

ล้างอายเสื้อแดง "อุ๊งอิ๊ง" บุกปากน้ำ ปลุกแดงทั้งแผ่นดินอีกครั้ง หลังสมัยที่แล้ว เพื่อไทยเจอกระแสธนาธรเล่นงาน สอบตกยกจังหวัด


ลบความปราชัย "อุ๊งอิ๊ง" แบกป้ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ไล่ทีละจังหวัด ทั้งปริมณฑลและภาคกลาง หวังทวงคืนพื้นที่สีแดงจากพลังประชารัฐ 


ในวาระครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ พรรคเพื่อไทยจึงฉวยจังหวะปลุกแดงทั้งแผ่นดินอีกครั้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต้องชนะให้ขาด เพื่อไทยต้องแลนด์สไลด์


 

 

 

เพื่อไทยเชิญชวนคนเสื้อแดง มารวมพลังอีกครั้ง

สมุทรปราการคือเป้าหมายแรก ในการทวงคืนพื้นที่สีแดง ซึ่งคู่แข่งของเพื่อไทย ไม่ใช่แค่ตระกูลอัศวเหม เท่านั้น หากยังรวมถึงพลพรรคเครื่องจักรสีส้ม พรรคก้าวไกล 

 

วันที่ 14 พ.ค.2565 เพื่อไทยจะจัดงานครอบครัวเพื่อไทย สมุทรปราการ บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล สำโรง จ.สมุทรปราการ เป็นกิจกรรมรำลึกนักสู้เพื่อประชาธิปไตย นำโดยอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย    


แน่นอน เจ้าบ้านก็คือเสี่ยเงาะ วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ และแกนนำ นปช. ซึ่งเสี่ยเงาะเป็นคนแรก ๆ ที่นำพากลุ่มคนรักทักษิณปากน้ำ จุดการชุมนุมต้านรัฐประหาร 2549 โดยการสนับสนุนของ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ เจ้าของห้างอิมพิเรียล สำโรง


วันนี้ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ วัย 78 ปี ยังคุมบังเหียนศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ทั้งลาดพร้าวและสำโรง โดยทางการเมือง สงคราม เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ และลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อชาตินานแล้ว โดยขอรับแค่ตำแหน่งที่ปรึกษาพรรค


แนวโน้มเลือกตั้งสมัยหน้า เสี่ยสงครามจะย้ายกลับเพื่อไทย และไม่น่าแปลกใจที่กิจกรรมบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิมจะจัดขึ้นที่ห้างอิมพีเรียล สำโรง


"ก้าวไกลก้างขวางคอ"
สาเหตุที่แกนนำเพื่อไทยเลือกให้ "อุ๊งอิ๊ง" มาลุยปากน้ำเป็นสนามแรกในเขตปริมณฑล และภาคกลาง เพราะเป็นพื้นที่เป้าหมายการทวงคืนเก้าอี้ ส.ส. สมัยที่แล้ว เพื่อไทยสอบตกยกจังหวัด


ในอดีต สนามเลือกตั้งสมุทรปราการ เคยตกอยู่ในการยึดครองของตระกูลอัศวเหม มาหลายสมัย กระทั่งทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทย เข้าสู่สมรภูมิ การเมืองในปากน้ำก็เปลี่ยน ตระกูลอัศวเหมถูกเบียดขับออกไปจากทำเนียบ ส.ส.ปากน้ำ
 

 

เลือกตั้งปี 2562 คนเสื้อแดงช็อก เมื่อพรรคเพื่อไทยปากน้ำพ่ายยกจังหวัด จำนวน ส.ส.สมุทรปราการ 7 ที่นั่ง แยกเป็นพรรคพลังประชารัฐ 6 ที่นั่ง และพรรคอนาคตใหม่ 1 ที่นั่ง


สาเหตุหลักของความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น มาจากอดีต ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย ถูกผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่เบียดแย่งคะแนนไปเยอะมาก ทำให้ตาอยู่อย่างตระกูลอัศวเหม และพลังประชารัฐเข้าป้าย


เปรียบเทียบผลคะแนน ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคอนาคตใหม่(พรรคก้าวไกล) เมื่อการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2565 โปรดสังเกต ผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่นั้น เป็นคนหน้าใหม่ คนโนเนมทั้งสิ้น แต่คะแนนเหนือกว่าอดีต ส.ส.หลายคน


เขต 1 ชนสิษฏ์ ยอดฉิม (อนาคตใหม่) ได้ 21,344 คะแนน และสุทธิรัตน์ ยังตรง ลูกสาวหมอวัลลภ (เพื่อไทย) ได้ 21,121 คะแนน


เขต 2 ภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์ ทายาทเสี่ยสงคราม (เพื่อไทย) ได้ 31,655 คะแนนและนิตยา มีศรี (อนาคตใหม่) ได้ 30,366 คะแนน


เขต 3 หนึ่งสตรี ตุ่ยไชย (อนาคตใหม่)  ได้ 23,235 คะแนน และประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย อดีต ส.ส. (เพื่อไทย) ได้ 22,703 คะแนน


เขต 4 วุฒินันท์ บุญชู (อนาคตใหม่) ได้ 36,320 คะแนน ได้เป็น ส.ส. และวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. และแกนนำ นปช. (เพื่อไทย) ได้ 29,402 คะแนน


เขต 5 สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ (เพื่อไทย) ได้ 33,007 คะแนน และตรัยวรรธน์ อิ่มใจ (อนาคตใหม่) ได้ 31,430 คะแนน


เขต 6 นฤมล ธารดำรงค์ อดีต ส.ส. 3 สมัย (เพื่อไทย) ได้ 22,349 คะแนน และธัชชวิน โกพัฒน์ตา (อนาคตใหม่) ได้ 20,177 คะแนน


เขต 7  นันทวรรณ ประสพดี ภรรยาประชา ประสพดี (เพื่อไทย) ได้ 27,648 คะแนน และคณินทร์ อธิศักดิ์ชานนท์ (อนาคตใหม่) ได้ 19,679 คะแนน


จากตัวเลขคะแนนข้างต้น ถ้าไม่มีกระแสพ่อของฟ้า ไม่มีพรรคอนาคตใหม่มาตัดคะแนน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็อาจชนะยกจังหวัด 


ปี 2563 เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สมุทรปราการ เขต 5 กรุงศรีวิไล สุทินเผือก เอาชนะ สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ 3 สมัย ไปได้อีกครั้ง โดยหนนั้น พรรคก้าวไกลก็ส่งคนลงสนาม แต่คะแนนไม่ดีเท่าปี 2562


"ส.ส.ส้มหล่น"
จะว่าไปแล้ว "อุ๊งอิ๊ง" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่ได้หวาดหวั่นตระกูลอัศวเหมมากนัก เพราะเชื่อว่า กระแสเบื่อประยุทธ์ในเขตปริมณฑล ก็ไม่ต่างจากในกรุงเทพฯ


เลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทย เบียดตระกูลอัศวเหม พ้นสังเวียนการเมือง พรรคราษฎรของวัฒนา อัศวเหม เหลือรอดเพียงคนเดียวคือ เรวดี รัศมิทัต ลูกสาวกำนันคนดังฝั่งพระประแดง


ปี 2548 ความแรงของทักษิณ ทำให้เรวดีต้องย้ายซบพรรคไทยรักไทย และปีนั้น ไทยรักไทยก็ยึดทั้งแผ่นดินปากน้ำ 


ปี 2550 จากไทยรักไทย เปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน ก็ยึดเก้าอี้ ส.ส.ทั้งจังหวัดไว้ได้ หลังพลังประชาชนถูกยุบ ก็มี ส.ส. 2 คนย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทย


ปี 2554 สมุทรปราการ ถือว่าเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน สถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงก็มีหลายแห่ง เลือกตั้งในปีนั้น เพื่อไทยกวาดมา 6 ที่นั่งจาก 7 ที่นั่ง เหลือ เรวดี รัศมิทัต ที่ย้ายไปภูมิใจไทยไว้คนเดียว


ปี 2562 อัครวัฒน์ อัศวเหม หลานชายของวัฒนา อัศวเหม เป็นหัวหน้าทีมพลังประชารัฐ เมืองปากน้ำ นำทีมกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ ส.ส. 6 คน และใน 6 คนนี้ ก็มีสังกัดบ้านใหญ่ปากน้ำ 5 คนเท่านั้น


เบื้องหลังชัยชนะของอัศวเหม มาจาก 2 ปัจจัยคือ กระแสความสงบจบที่ลุงตู่ ซึ่งระบาดมาจากกรุงเทพฯ และการตัดแต้มกันเองของเพื่อไทยและอนาคตใหม่ พลังประชารัฐปากน้ำ เลยได้อานิสงส์ส้มหล่น


วัฒนา อัศวเหม มีบุตรชาย 3 คนคือ พิบูลย์ อัศวเหม, พูลผล อัศวเหม และชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม โดย พูนพลลงเล่นการเมืองระดับชาติ เป็น ส.ส.สมุทรปราการ 3 สมัย (เสียชีวิตแล้ว)


ชั่วโมงนี้ แม่ทัพการเมืองของอัศวเหม ก็คือ เสี่ยเอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม แต่ตัวแทนของตระกูลในพรรคพลังประชารัฐชื่อ ประภาพร อัศวเหม ภรรยาของพูลผล เป็นกรรมการบริหารพรรค พปชร.


สนามเลือกตั้งสมัยหน้า ตระกูลอัศวเหม เหนื่อยแน่ เมื่อเจออุ๊งอิ๊งนำทัพเพื่อไทย แม้จะมีนันทิดา แก้วบัวสาย เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ และประภาพร อัศวเหม เป็นนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ แต่เลือกตั้ง ส.ส. คนปากน้ำมักจะเลือก ส.ส.ตามกระแสเป็นหลัก
    
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ