คอลัมนิสต์

เปิดตำนานการสร้าง "วัดเพ็ญญาติ" กับ "หลวงปู่กล่อม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตำนานการสร้าง “วัดเพ็ญญาติ” เชื่อมโยงกับวัดบุปผารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร กับคำสั่งเสีย ก่อน “หลวงปู่กล่อม” มรณะภาพ

“กาโตะ” อดีตรักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติ ต.กะเปียด อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ออกมายอมรับกับพิธีกรข่าวคนหนึ่งแล้วว่า ได้เบิกเงินของวัดเพ็ญญาติออกไป ๖๐๐,๐๐๐ บาทจริง เพื่อนำเงินไปให้กับคนกลางในการเจรจาปิดข่าวฉาวกรณีกาโตะมีสัมพันธ์สวาทกับ “สาวตอง” เหนืออ่างเก็บน้ำกะทูน

     กะโตะออกมายอมรับว่าเบิกเงินไป ๖๐๐,๐๐๐ บาทจริง หลังทีข่าวลับออกมาว่า กาโตะเบิกเงินวัดไป แต่กะโตะยืนยันว่าจะยืมเงินญาตินำเงินไปคืนวัดในวันนี้ (๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕)

      กล่าวถึงวัดเพ็ญญาติ ตั้งอยู่บนเนินเขา หลังสถานีรถไฟกะเปียด อ.ฉวาง ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม มีโบสถ์หลังใหญ่สวยงาม มีศาลาการเปรียญไม้อายุกว่า ๑๐๐ ปี มีวิหาร “หลวงปู่กล่อม” อันเป็นวิหารที่เก็บสังขารของหลวงปู่กล่อมนั้นเอง ซึ่งสังขารหลวงปู่กล่อม ไม่เน่าเปื่อย

เปิดตำนานการสร้าง "วัดเพ็ญญาติ" กับ "หลวงปู่กล่อม"

      ประวัติการก่อตั้งวัดเพ็ญญาติไม่แน่ชัดนัก ไม่มีบันทึกที่ชัดเจน แต่ทราบว่ามีความเชื่อมโยงกับวัดบุปผารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยหลวงปู่กล่อม พระธรรมวราลังการ เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดเพ็ญญาติ ตั้งแต่สมัยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร และไม่ว่าจะย้ายไปวัดไหนท่านก็ยังมุ่งมั่นสร้างวัดเพ็ญญาติ บ้านเกิดจนแล้วเสร็จ โดยมีพระหนุ่ม พระครูถาวรวิหารกิจ (หนุ่ม ถาวโร)พระผู้น้องเป็นคนดูแลวัด

วัดเพ็ญญาติ หลวงปู่กล่อมสร้างติดต่อกันมาตลอดหลายสิบปี กระทั่งท่านอาพาธถึงต้องหยุดทำทุกสิ่งทุกอย่าง ปัจจุบันนับว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์วัดหนึ่งในต่างจังหวัด มีอุโบสถที่ค่อนข้างใหญ่สวยงาม (ถ่ายแบบไปจากพระอุโบสถวัดบุปผาราม ยกเว้นใต้อุโบสถวัดเพ็ญญาติสร้างเป็นถังเก็บน้ำฝนเต็มพื้นที่ของอุโบสถ) ศาลาการเปรียญกว้างใหญ่ ๒ ชั้น กุฎีที่พระสงฆ์ ๓๐ รูป อยู่จำพรรษาได้ โรงครัว การประปาเฉพาะภายในวัด และโรงเรียนประชาบาล ท่านก็สร้างขึ้นมาเอง

     กล่าวถึงพระธรรมวราลังการ (หลวงปู่กล่อม)เป็นคนกะเปียด อ.ฉวางโดยกำเนิด เมื่อ        อายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทที่วัดท่าโพธิ์ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๖ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ เวลา 14.00น. มีพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนธโช) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรนุ่น วัดเพชรจริก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีชื่อฉายาว่า อนุสฺเสโน ภายหลังเมื่อย้ายเข้ามาอยู่วัดราชาธิวาสวิหาร พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (อุตฺตมเถร) ได้เปลี่ยนฉายาให้ใหม่ว่า อนุภาโส

เปิดตำนานการสร้าง "วัดเพ็ญญาติ" กับ "หลวงปู่กล่อม"

 

        พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๕๕ จำพรรษาที่วัดเพชรจริก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 3 พรรษา

        พ.ศ. ๒๔๕๖ จำพรรษาที่วัดพระนคร ต. ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ๑ พรรษา

        พ.ศ. ๒๔๕๗ จำพรรษาที่วัดท่าโพธิ์ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ๑ พรรษา

        พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๗๘ จำพรรษาที่วัดราชาธิวาสวิหาร แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ๒๑ พรรษา และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

        วันศุกร์ ที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบุปผาราม แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และต่อมาได้เป็นเจ้าคณะธรรมยุตอำเภอจังหวัดธนบุรี เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๖ ๑๗ ๑๘ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๖ ๑๗ ๑๘ จนถึงวันเสาร์ ที่ ๒๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ รวมเวลา ๕๑ พรรษา

 

     พระธรรมวราลังการเป็นผู้มีอุปนิสสัยอย่างพระโพธิสัตว์ มากด้วยเมตตากรุณาและเสียสละอย่างสูง ท่านมีจิตใจเข้มแข็งอย่างยิ่งในการทำความดี แต่ไม่เข้มแข็งเลยในการลงโทษคนผิด พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัดประพฤติผิดที่ช่วยแก้ไขไม่ได้ ต้องลงโทษตามความผิดนั้นๆ ท่านร้องไห้ให้เห็นหลายครั้ง พูดแล้วพูดอีกว่าสงสารเหลือเกิน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านถือคติประจำใจว่าพระภิกษุสามเณรศิษย์วัดและประชาชนทั่วไป ที่มีอายุรุ่นลูกหลานล้วนแต่เป็นลูกหลานของท่านทั้งนั้น พยานก็คือ ท่านสามารถทำความสะอาดที่บำบัดทุกข์สาธารณะได้โดยไม่รังเกียจ ท่านถามเพื่อให้ทุกคนสบายใจว่า พ่อแม่ทำความสะอาดให้ลูก ๆ พ่อแม่รังเกียจไหม? คำตอบที่ได้ก็คือว่า เมื่อทุกคนเป็นลูกท่าน ท่านทำความสะอาดให้ลูก ๆ จะเป็นไรไป ท่านมีความเคร่งครัดในการรักษาปฏิบัติพระวินัย จารีตประเพณีของคณะ ขยันในการทำวัตรเช้าเย็น แม้พระเณรหนุ่ม ๆ ก็สู้ไม่ได้ ไม่พูดถ้อยคำเพ้อเจ้อปราศจากประโยชน์และคำหยาบคายเลย ไม่สั่งสมและไม่ติดในปัจจัย ๔ กับปิยภัณฑ์ที่ได้รับถวายเป็นส่วนตัว ใช้ในการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะเช่นสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในพระพุทธศาสนา และสงเคราะห์อนุเคราะห์คนทั้งหลาย ทำบุญกุศลในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

เปิดตำนานการสร้าง "วัดเพ็ญญาติ" กับ "หลวงปู่กล่อม"

 

อาพาธและอวสานกาล

        พระธรรมวราลังการ บรรพชาอุปสมบทแล้วตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ตนประโยชน์ท่านตลอดมาเป็นเวลา ๗๐ ปีเศษ ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็เริ่มอาพาธเพราะความชรามีอาการปอดบวม หัวใจโต เส้นเลือดตีบตัน เป็นต้น นายแพทย์ปัญญา ส่งสัมพันธ์ และภรรยาท่าน (คุณชลูด ส่งสัมพันธ์) ได้รับและถวายการรักษาพยาบาล ไว้ที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ด้วยการรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่วิทยาการทางแพทย์ในสมัยนั้นจะพึงมี ถึงวันเสาร์ที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๐๔.๑๐ น. ก็มรณภาพด้วยความสงบ หน้าของท่านที่ถึงมรณภาพช่างเหมือนหน้าของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศก ไม่ชื่นบาน เป็นหน้าของท่านผู้วางเฉยด้วยอุเบกขาญาณ ซึ่งเข้าถึงสันตบทสงบระงับความเวียนว่ายตายเกิด ที่จะถูกปรุงแต่งด้วยวิชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นสิ่งยืนยันว่าการปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานของท่าน มาตลอดเวลาหลายปีนั้นไม่ไร้ผลโดยแท้แล

       ก่อนมรณภาพท่านสั่งลูกศิษย์ไว้ว่า ให้นำสังขารของท่านไปเก็บไว้ที่วัดเพ็ญญาติ และห้ามไม่ให้เผา ปรากฏว่า สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ยังคงเก็บไว้ในวิหารจนถึงทุกวันนี้ และนี้คือประวัติย่อๆของวัดเพ็ญญาติ และหลวงปู่กล่อม ผู้ก่อตั้งวัด มีบทเพลงอีกมากมาย จากนักร้องดังหลายคนที่แต่ง และขับร้องเกี่ยวกับประวัติหลวงปู่กล่อม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ