
ทิเบตรำลึก
ทิเบตได้ชื่อว่าเป็นดินแดนหลังคาโลก จากที่ตั้งซึ่งอยู่บริเวณที่ราบสูงบนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งมีความสูงที่สุดในโลก ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าคนทิเบตเป็นตระกูลเดียวกับพม่า ชาวทิเบตมีความเชื่อว่ากษัตริย์องค์แรกของตนเสด็จลงมาจากสวรรค์
ขณะที่บางตำนานเชื่อว่าพวกตนสืบเชื้อสายมาจากพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่อวตารเป็นลิงกับนางยักษ์
ชาวทิเบตแต่เดิมนับถือลัทธิบอนซึ่งเกี่ยวข้องกับไสยเวทย์และภูตผีปีศาจ จนถึง พ.ศ.976 พุทธศาสนาจึงเริ่มแพร่เข้ามา และกษัตริย์ซรอนซันกัมโปได้ประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ในปี 1173 เนื่องจากมเหสีของพระองค์ทั้งสององค์ซึ่งเป็นเจ้าหญิงชาวจีนและเนปาลมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
กษัตริย์ต่อจากซรอนซันกัมโป ล้วนเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์ ทำให้ศาสนาพุทธปักหลักในดินแดนแห่งนี้อย่างมั่นคง จนถึงรัชสมัยของ กษัตริย์ราลปาเชน ในปี 1359 ซึ่งทรงคลั่งศาสนามาก ถึงขนาดมีบทลงโทษแก่ผู้ที่ไม่เคารพพระสงฆ์ แต่งตั้งภิกษุดำรงตำแหน่งทางราชการและการทหาร จนเป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสาย จน ราลปาเชน ถูกปลงพระชนม์ และกษัตริย์องค์ใหม่ที่นับถือลัทธิบอนขึ้นครองราชย์แทน มีการทำลายอารามและศาสนาสถาน รวมทั้งบีบบังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา แต่ในที่สุดกษัตริย์องค์นั้นก็ถูกพวกพระปลงพระชนม์ ทำให้ทิเบตประสบความแตกแยกและความวุ่นวายอยู่หลายปี และศาสนาพุทธก็เสื่อมโทรมลงโดยลำดับจนถึง พ.ศ.1600 พระทีปังกรศรีชญาณ จึงนำพระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าไปประดิษฐานในทิเบตอีกครั้ง
เมื่อมองโกลแผ่อำนาจเข้ามาในทิเบต มองโกลได้รับเอาพุทธศาสนาและวัฒนธรรมหลายอย่างไปจากทิเบต กษัตริย์มองโกลองค์หนึ่งคืออัลคัลข่านมีความเชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ และเชื่อว่าท่านสอดนัมวังยาโส ประมุขของสงฆ์นิกายหมวกเหลืองในเวลานั้นเป็นอาจารย์ของพระองค์ในอดีตชาติ จึงทรงแต่งตั้งให้เป็น “ทะไล ลามะ” หรือผู้เป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ทั้งปวง แต่ท่านสอดนัมวังยาโสถือว่าท่านเป็นทะไล ลามะ องค์ที่ 3 เพราะเชื่อว่าท่านเคยเป็นลามะมาก่อนนี้แล้ว 2 ชาติ สำหรับทะไล ลามะ องค์ปัจจุบัน เป็นองค์ที่ 14
หมดยุคของมองโกล ทิเบตมีความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นภูฏานและเนปาลจนต้องอาศัยกำลังจากจีนมาช่วยเหลือ ซึ่งจีนได้ถือโอกาสสร้างอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อทิเบตทำสงครามกับเนปาล ใน พ.ศ.2384 และ 2389 จีนกำลังสู้รบกับอังกฤษในสงครามฝิ่น จึงไม่สามารถช่วยอะไรได้และทำให้จีนหมดบทบาทในทิเบตไปโดยปริยาย
ในปี 2447 อังกฤษส่งทหารเข้ายึดทิเบต เพื่อต้านยันรัสเซียที่แทรกซึมเข้ามาในเอเชียกลาง โดยได้รับการประท้วงจากจีน เมื่อพรรคแรงงานขึ้นมามีอำนาจในอังกฤษ อังกฤษจึงยอมให้จีนเข้ามาเจรจาเรื่องทิเบต โดยสนธิสัญญาจีน-อังกฤษ พ.ศ.2449 ระบุว่า “อังกฤษจะไม่ผนวกดินแดนทิเบต (กับอินเดีย) และจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของทิเบต” นอกจากนี้ ทั้งอังกฤษและรัสเซียยังตกลงกันว่าจะไม่เจรจาใดๆ กับทิเบต และถือว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต
เมื่อสิ้นราชวงศ์ชิง และเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ทิเบตได้ประกาศเอกราชและขับไล่ทหารจีนออกนอกประเทศ อังกฤษได้จัดการประชุมสามฝ่ายระหว่างอังกฤษ-จีน-ทิเบต เพื่อระงับข้อพิพาท และแบ่งทิเบตออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นอิสระ และอีกส่วนอยู่ในความดูแลของจีน แต่จีนไม่ยอมรับความตกลงดังกล่าว
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศจีนได้สำเร็จ ได้ส่งกองทหารรุกคืบเข้าสู่ทิเบตในปี 2494 จีนบีบบังคับให้ทิเบตลงนามในข้อตกลงซึ่งยอมรับว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต และลงมือปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ จนเกิดกระแสต่อต้านจีนซึ่งลุกลามไปสู่ความรุนแรง ในวันที่ 10 มีนาคม 2502 ชาวทิเบตหัวรุนแรงได้เข้าล้อมพระราชวังไม่ยอมให้ทะไล ลามะ เสด็จไปยังค่ายทหารจีนตามคำเชิญ จีนจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง ทะไล ลามะเสด็จหนีจากทิเบตไปลี้ภัยในอินเดีย
ภายหลังการลี้ภัยออกมาจากทิเบต ทะไล ลามะ ได้รณรงค์เรียกร้องอิสรภาพให้แก่ทิเบต แต่ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ไม่มีประเทศใดสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว หรือประณามจีนที่ละเมิดอธิปไตยของทิเบต นอกจากจะโจมตีในเรื่องที่จีนละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวทิเบตเท่านั้น และสหรัฐซึ่งเคยให้การสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวทิเบต ก็ยุติความช่วยเหลือดังกล่าวมา 30 ปีแล้ว ภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์กับปักกิ่ง ในปี 2522
ทะไล ลามะ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2532 สำหรับความพยายามในการเรียกร้องอิสรภาพให้ทิเบต แต่ดูเหมือนว่าพระองค์คงไม่มีวันได้เห็นอิสรภาพที่แท้จริงในประเทศของพระองค์