คอลัมนิสต์

"ไวยาวัจกร" ทำหน้าที่อะไร ต้องสนิทแค่ไหน ถึงมีช่องโหว่ "ยักยอกเงิน" ได้ง่าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเรียนจาก "ยักยอกเงินวัดบวรฯ" เปิดหน้าที่ "ไวยาวัจกร" ทำหน้าที่อะไร ต้องสนิทแค่ไหน ถึงมีช่องโหว่ยักยอกเงินได้ง่าย

กรณีเกิดเหตุสะเทือนวงการสงฆ์ หลังตรวจสอบพบ คนสนิท "สมเด็จพระวันรัต" ซึ่งเป็น "ไวยาวัจกร" มีพฤติกรรม "ยักยอกเงินวัดบวรฯ" และวัดสาขา แล้วนำไปใช้ส่วนตัว โดยพฤติกรรมเกิดขึ้นในช่วงที่สมเด็จพระวันรัตอยู่ในอาการอาพาธ ทำการยักยอกเงิน ไปจำนวนร่วม 300 ล้านบาท และคดีในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก

 

 

 

ทำให้หลายคนสงสัยว่า "ไวยาวัจกร" คือตำแหน่งอะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับวัด ต้องใกล้ชิดขนาดไหน จึงสามารถเข้าถึงบัญชีของวัดได้อย่างง่ายดาย 

 

 

"ไวยาวัจกร" (อ่านว่า ไวยาวัดจะกอน) แปลว่า ผู้ขวนขวายช่วยทำกิจของสงฆ์ หมายถึงผู้ช่วยเหลือรับใช้พระสงฆ์ ทำกิจธุระแทนสงฆ์ ตามกฎหมายหมายถึงคฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ และกำหนดให้ไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

 

 

การแต่งตั้งไวยาวัจกรเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส วัดหนึ่งอาจมีไวยาวัจกรได้หลายคน และความเป็นไวยาวัจกรสิ้นสุดลง เมื่อเจ้าอาวาสผู้แต่งตั้งให้ออก หรือเจ้าอาวาสผู้แต่งตั้งพ้นจากความเป็นเจ้าอาวาส เช่น ลาออก ลาสิกขา มรณภาพ
 

นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีที่มีการมอบหมายให้ "ไวยาวัจกร" ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัด ไวยาวัจกรยังมีฐานะเป็น "ตัวแทน" ของวัด ในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่นำเข้ามาใหม่ และยังมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย แต่เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน

 

 

หน้าที่หลักของไวยาวัจกร ได้แก่ มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต หรือเงินเรื่องที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับงบประมาณแผ่นดิน เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายถวายอุดหนุนแด่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระภิกษุสงฆ์ที่มีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการต่าง ๆ เรื่อยไปจนถึงพระเปรียญธรรมเก้าประโยคของวัด ดูแลทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เป็นของวัด 
รวมถึงมีหน้าที่ทำกิจธุระต่าง ๆ แทนพระสงฆ์ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะกิจธุระที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายของวัด แต่จะต้องเป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสเท่านั้น


คุณสมบัติของไวยาวัจกร 

 

  • จะต้องเป็นเพศชาย มีอายุ 25 ปีขึ้นไป
  • มีความประพฤติเป็นที่น่านับถือ

 

เมื่อพิจารณาเลือกผู้ใดแล้ว ก็ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกร โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ

 

 

คฤหัสถ์ผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกรย่อมมีหน้าที่ในการเบิกจ่ายนิตยภัตประการหนึ่ง และมีหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสืออีกประการหนึ่ง นอกจากนี้ไวยาวัจกรยังเป็น "ตัวแทน" หรือ "ผู้แทน" ของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งยังมีฐานะเป็น "เจ้าพนักงาน" ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงได้รับการคุ้มครองและควบคุมตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ "ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และถ้าหากเจ้าพนักงานกระทำความผิดเสียเอง หรือเป็นใจให้มีการทุจริตย่อมต้องถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน

 

จะเห็นได้ว่าตำแหน่ง "ไวยาวัจกร" นั้น วัดหรือเจ้าอาวาส สามารถแต่งตั้งใครก็ได้ที่เป็นที่ไว้ใจ และมีความเต็มใจจะทำงานให้กับวัดได้ ประเด็นสำคัญคือ ไม่มีเงินเดือน และการคัดเลือก ก็มาจากการคัดเลือกกันเองโดยพระภายในวัด ไม่ได้มีคนภายนอกมาเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งอาจเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาการยักยอกเงินได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะอยู่ที่จิตสำนึก ของแต่ละบุคคลด้วย

 

 

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ