คอลัมนิสต์

เลียนแบบ "ชัชชาติ" ย้อนยุค "จำลอง" กลยุทธ์ฝาเข่งนำชัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่ากลยุทธ์ "ชัชชาติ" เน้น Viral Marketing ผ่านสื่อ Social Media คล้าย "จำลอง" ที่ใช้การตลาดแบบปากต่อปาก สมัยสู้ศึกผู้ว่าฯ กทม. เพื่อนชัชชาติวันนี้ ก็คือกลุ่มรวมพลังในอดีต คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

เจาะลูกเล่นหาเสียง “ชัชชาติ” เน้นกลยุทธ์ Viral Marketing ผ่านสื่อ Social Media คล้ายมหาจำลองที่ใช้การตลาดแบบปากต่อปาก สมัยสู้ศึกผู้ว่าฯ กทม.ปี 2528

 

ไม่จัดตั้งหัวคะแนน “ชัชชาติ” ชูการมีส่วนร่วมตั้งเครือข่ายเพื่อนชัชชาติ เหมือนมหาจำลอง สร้างกลุ่มรวมพลังที่เป็นศูนย์รวมจิตอาสาการเมือง

 

วันที่ 3 เม.ย.2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และทีมเพื่อนชัชชาติ ปล่อยขบวนหาเสียงด้วยรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ตามแนวคิดหาเสียงแบบรักเมือง โดยขบวนหาเสียงขับไปตามเส้นทาง ถ.จันทร์, ถ.พระราม 3 ,ถ.เจริญราษฎร์ และ ถ.สาธุประดิษฐ์

แนวคิดหาเสียงแบบรักเมืองของชัชชาติ กำลังถูกพูดถึงในโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการลดขนาดป้ายหาเสียงตามท้องถนน หรือการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหาเสียง เป็นการประหยัดและลดมลพิษ

 

ปี 2528 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สมัยที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้ใช้ฝาเข่งทำป้ายหาเสียง และเวลาแจกใบปลิว ก็จะให้ผู้ที่ได้รับช่วยส่งใบปลิวแผ่นนั้นต่อๆกัน เพราะไม่มีงบฯ หาเสียง

 

  • ‘ไวรัลการเมือง’

“ชัชชาติ” มีความชัดเจนแต่แรก จะลงสมัครอิสระ ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ก. และไม่สนับสนุนแนวทางจัดตั้งฝังแกนในพื้นที่ หรือการตั้งหัวคะแนนในชุมชน

 

ศาสตร์และศิลป์ในการเลือกตั้ง ประกอบด้วย 2 แนวรบคือ แอร์วอร์ (AIR WAR) และกราวนด์วอร์ (GROUND WAR) ซึ่งขาดแนวรบใดแนวรบหนึ่งไม่ได้รับชัยชนะ ชัชชาติย้ำชัดว่า จะใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก

 

การหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น หนีไม่พ้นเรื่องการสร้างเครือข่ายหัวคะแนน แต่ชัชชาติ เน้นการจัดตั้งมวลชนในลักษณะจิตอาสา อย่างเช่นการเปิดตัวแคมเปญเพื่อนชัชชาติ และสภากาแฟเพื่อนชัชชาติ

 

ล่าสุด ชัชชาติได้เปิดเผยถึงแนวทางการหาเสียงตามแนวคิดหาเสียงแบบรักเมือง โดยทีมงานเพื่อนชัชชาติได้กำหนดแนวทางไว้เบื้องต้น 4 แนวทาง

1.ลดป้ายหาเสียง (Reduce) ลดขนาด-ลดจำนวน 2.หมุนเวียน (Recycle) ป้ายไวนิลหาเสียงจะมีการนำกลับมาใช้ใหม่ 3.นำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) แผ่นพับหาเสียงในรูปแบบหนังสือพิมพ์เอกสารฉบับดังกล่าวจะนำมาใช่เช็ดกระจก ,เช็ดซับความมันของเตา และอื่นๆ 4.ลดก๊าซเรือนกระจก ลด PM 2.5 โดยใช้รถหาเสียงไฟฟ้า(EV)

ชัชชาติ โชว์แผ่นพับหาเสียงใช้ประโยชน์ห่อช่อดอกไม้

 

เวลานี้ แค่การทำป้ายหาเสียงเท่าขนาดเสาไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดไวรัลแชร์ภาพป้ายชัชชาติ ทั้งในเฟซบุ๊ค, และทวิตเตอร์ เหมือนช่วยหาเสียงให้ชัชชาติทางอ้อม

 

  • ‘ฝาเข่งนำชัย’

แนวทางหาเสียงแบบรักเมืองของ “ชัชชาติ” ก็ไม่ต่างจากสมัยที่ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" ลาออกจากสมาชิกวุฒิสภา มาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรก

 

ปี 2528 พล.ต.จำลอง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ในนามกลุ่มรวมพลัง โดยคู่แข่งคนสำคัญประกอบด้วย "ชนะ รุ่งแสง" พรรค ปชป. ,ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร พรรคประชากรไทย และมงคล สิมะโรจน์ กลุ่มกรุงเทพก้าวหน้า

 

ในการหาเสียง "พล.ต.จำลอง" ชูภาพคนสวมเสื้อม่อฮ่อม สมถะ ถือศีล กินมังสวิรัติ ไม่มีเงินหาเสียง ไปเดินที่ไหน คนก็เอาเงินมายัดใส่กระเป๋า จึงก่อให้เกิดกระแสเลือกคนดี ลามลึกลงไปในกลุ่มพลังเงียบ

 

พ.ศ.โน้น พล.ต.จำลอง เน้นความสมถะในการหาเสียง โดยใช้ฝาเข่งทำป้ายหาเสียง และยังขอร้องให้ผู้ที่ได้รับใบปลิวช่วยอนุเคราะห์ส่งใบปลิวดังกล่าวต่อๆกัน โดยระหว่างการหาเสียงยังมีผู้ต้องการบริจาคเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงนับล้านบาท แต่ พล.ต.จำลอง ได้ปฏิเสธ พร้อมกล่าวว่า ตนต้องการแค่คะแนนเสียงอย่างเดียว

 

ฟากพรรค ปชป.ที่ส่งอดีตนายแบงก์ ชนะ รุ่งแสง ลงสนามก็ได้รับความสนใจไม่น้อย แต่ "พิชัย รัตตกุล" หัวหน้าพรรคสมัยโน้น กลับให้สัมภาษณ์ว่า กลยุทธ์ของมหาจำลองเป็นการหาเสียงแบบแบกะดิน ส่วน ปชป.เป็นสินค้าห้าง ยิ่งทำให้ผู้คนสงสารมหาจำลองที่โดนปรามาส

 

โค้งสุดท้าย พล.ต.จำลอง และจิตอาสารวมพลังจากสันติอโศก ทำป้ายทำด้วยฝาเข่ง เขียนว่า "จำลองแพ้แน่ ถ้าพ่อแม่ไม่ช่วย" ก็ส่งให้มหาจำลองเข้าป้ายชนะคู่แข่งจาก ปชป.ขาดลอย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ