คอลัมนิสต์

หักกันเอง "ชัชชาติ" ปะทะ "วิโรจน์" ส้มห้าวทวงคืนเมืองฟ้าอมร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลั่นกลองรบสนาม กทม. "ชัชชาติ" ชูธงอิสระแต่หนีเงาเพื่อไทยไม่พ้น ปะทะคู่แข่ง "วิโรจน์" ฝ่ายประชาธิปไตยจ๋า เน้นอุดมการณ์คนเท่ากัน ดึงเสียงนิวโหวตเตอร์ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ลั่นกลองรบ “ชัชชาติ” เดินหน้าชูธงอิสระ แต่หนีเงาเพื่อไทยไม่พ้น ปะทะคู่แข่ง “วิโรจน์” พรรคก้าวไกลที่ถูกจัดให้อยู่ฝ่ายเดียวกัน

 

ไม่ยึดติดขั้ว “ชัชชาติ” วางโพสิชั่นนิ่งผู้ว่าฯ กทม.ของทุกชั้นชน ส่วน “วิโรจน์” มาแนวอุดมการณ์ คนเท่ากัน ประชาชนเป็นเจ้านาย

 

โพลนำทุกสำนัก “ชัชชาติ” ขายฝัน 200 นโยบาย “วิโรจน์” มวยรอง กระชากเรตติ้งด้วยนโยบายทวงคืนสนามหลวง เอาใจฐานเสียงคนรุ่นใหม่

ดังที่ทราบกัน วันศุกร์ที่ 25 มี.ค.2565 กกต.จะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ในวันที่ 22 พ.ค.2565 โดยกำหนดเปิดรับสมัคร ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย.นี้

 

ฉะนั้น ก่อนถึงวันที่ 25 มี.ค.2565 บรรดาว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัคร ส.ก. จึงทำกิจกรรมเปิดตัวกันอย่างคึกคัก เฉพาะผู้ว่าฯ กทม. มีผู้เสนอตัวแล้ว 8 คน

 

1.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ 2.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ 3.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์พรรคประชาธิปัตย์ 4.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล 5.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ 6.สกลธี ภัททิยกุลผู้สมัครอิสระ 7.ประยูร ครองยศ พรรคไทยศรีวิไลย์ 8.น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย

 

สรุปว่า มีผู้สมัครอิสระ 4 คน และสังกัดพรรค 4 คน แต่กรณีของชัชชาติ ย่อมจะถูกโจมตีจากคู่แข่งกรณีเป็นนอมินีเพื่อไทย รวมถึงจากกองเชียร์ก้าวไกล

 

  • ‘อิสระอำพราง’

จนถึงวันนี้ “ชัชชาติ” ยังต้องมาตอบคำถามเรื่องตัวเขากับพรรคเพื่อไทย จัดวางความสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะคนส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่า เขาจะเป็นอิสระจริง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ที่มี "พวงเพ็ชร ชุนละเอียด" นั่งเป็นประธานการประชุมทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.50 เขต ซึ่งวันดังกล่าว แกนนำเพื่อไทยได้มีการวิดีโอคอลถึงชัชชาติ เพื่อให้ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พูดกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.

 

ชัชชาติกล่าวว่า เหตุที่ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย เพราะต้องการขยายฐานเสียงให้พรรค และเก็บเกี่ยวกลุ่มที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรค กลุ่มที่มีความคิดกลางๆ ไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง หากได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะยังทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย ชัชชาติ ในนามกลุ่มเพื่อนชัชชาติ ลุยขายฝัน 200 นโยบาย

 

ที่ผ่านมา ชัชชาติได้ขยายฐานออกไปสู่กลุ่มต่างๆ ยกตัวอย่างการจับมือกับ "ดร.โจ พิจิตต รัตตกุล" อดีตผู้ว่าฯ กทม.โดยมีอดีตแกนนำกลุ่มมดงานของพิจิตต เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทัพสู้ศึกเมืองหลวงในนามกลุ่มเพื่อนชัชชาติมากขึ้น

 

เมื่อเร็วๆนี้ "ชัชชาติ" ได้เปิดสำนักงานเพื่อนชัชชาติ กรุงเทพฯเหนือ เพื่อดูแลในพื้นที่เขตสายไหม คลองสามวา และมีนบุรี โดยมีปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ดูแลสำนักงานนี้

 

ปวีณาเคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ปี 2547 ในนามผู้สมัครอิสระ แต่มีพรรคไทยรักไทยสนับสนุน แต่ก็พ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น ปวีณาจึงมีฐานเสียงในโซนเหนือ ที่จะเอื้อต่อชัชชาติได้ระดับหนึ่ง

 

การที่มีพิจิตต รัตตกุล และปวีณา หงสกุล ยืนเคียงข้างได้พิสูจน์แนวทางอิสระแบบชัชชาติ ที่มีเสียงตอบรับจากทุกกลุ่มทุกสี ทำให้ทุกสำนักโพลระบุว่า ชัชชาติมาอันดับ 1

 

ด้าน กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ค Kittiratt Na Ranong ว่า “ขอสนับสนุนผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยทั้ง 50 ท่านครับ เลือกคนเพื่อไทย ไปช่วยชัชชาติทำงานให้คน กทม.กันครับ”

 

ชัดเจนตรงไปตรงมา ชัชชาติเอื้อเพื่อไทย เพื่อไทยเอื้อชัชชาติ เพิ่มเติมด้วยกองหนุนจาก ดร.โจ พิจิตต และปวีณา แม่พระของคนจน

 

  • ‘ส้มซ้ายจัด’

นิด้าโพลล่าสุดเมื่อต้นเดือน มี.ค.นี้ ปรากฏว่า คู่แข่งของ “ชัชชาติ” กลายเป็น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล

 

วันที่ 27 มี.ค.2565 วิโรจน์เตรียมเปิดตัวนโยบายเพื่อสร้างเมืองที่คนเท่ากัน เพราะทุกปัญหาใน กทม. คนที่แบกรับปัญหาทั้งหมดคือคนจนที่ไม่มีสิทธิเลือก ไม่มีอภิสิทธิมีบ้านเป็นของตัวเอง มีบ้านที่มีสวน มีรถยนต์ส่วนบุคคล

 

วิโรจน์มีจุดเด่นเป็นนักการเมืองสายบู๊ ตั้งแต่สมัยเป็น ส.ส. และได้โชว์ลีลาดาวสภาฯรุ่นใหม่ จึงมีคำขวัญประจำตัวว่า “ชนทุกปัญหา”

 

“คนกรุงต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นผู้แทนของคนกรุงเทพ มีเจตจำนงที่จะทำให้คนกรุงเทพเท่าเทียมกันและคืนเมืองที่เป็นธรรม ผู้ว่าฯ ต้องไม่เป็นกลาง ท่ามกลางความขัดแย้ง แต่เป็นต้องตัวแทนยืนอยู่ข้างประชาชน”

 

คำประกาศของวิโรจน์ สะท้อนบุคลิกนักการเมืองค่ายสีส้ม ที่เน้นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่ขายฝันเรื่องนโยบายเหมือนผู้สมัครผู้ว่าฯ คนอื่นๆ

 

ดังนั้น วิโรจน์จึงกล้าประกาศทวงคืนสนามหลวง เพราะต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เนื่องจากสนามหลวง พื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของคน กทม. ปัจจุบันก็ถูกล้อมรั้วและทางเดินเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง

 

ประเด็นการทวงคืนสนามหลวง เป็นนโยบายที่แหลมคม และละเอียดอ่อน อาจมีปฏิกิริยาตีกลับจากขั้วการเมืองอนุรักษนิยม แต่วิโรจน์รู้ดีว่า โหวตเตอร์ของเขาคือ "คนรุ่นใหม่"

 

วิโรจน์บอกว่า ตนเองเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ คนเดียวของพรรคฝ่ายค้าน ที่มีเจตจำนงคืนอำนาจ คืนเมืองที่คนเท่ากัน ผู้ว่าฯ ต้องไม่เป็นกลาง ต้องพร้อมคืนอำนาจ คืนเมืองให้ประชาชน

 

นี่คือความแตกต่างระหว่าง "วิโรจน์" กับ "ชัชชาติ" ซึ่งพรรคก้าวไกล กำลังลากสนามเลือกตั้งเมืองหลวงไปสู่สมรภูมิการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพื่อให้นิวโหวตเตอร์ และคนชั้นกลางเลือกวิโรจน์แทนชัชชาติ ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องอุดมการณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ