คอลัมนิสต์

ทำไมต้อง? "สนามบินเบตง" กับ 10 ข้อ และความอลังการทางสถาปัตยกรรมกลางหุบเขา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ได้เวลาเสียที หลังจากล่าช้ามานานสำหรับการเปิดใช้ "สนามบินเบตง" ศูนย์กลาง ในภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่องมาเลเซียและสิงคโปร์

      ถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน เคยคิดว่าจะเปิดใช้สนามบินเบตง ตั้งแต่เมษายน 2564 แต่ไม่สามารถเปิดได้ทั้งๆที่สนามบินพร้อมหมดทุกอย่างแล้ว ติดปัญหาไม่มีสายการบินไหนกล้าบินไปลง หรือบินให้บริการ เนื่องจากต้นทุนสูง ไม่มีใครการันตีจำนวนผู้โดยสารได้ มีความพยายามเจรจาต่อรองจากภาครัฐ ขอลดค่าใช้จ่ายบางรายการ เพื่อให้เมื่อเปิดบริการแล้วจะได้ไม่ขาดทุน ทำให้การเปิดใช้สนามบินเบตงล่าช้ามานาน ที่สุดแล้วก็ได้ฤกษ์เบิกชัย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ สนามบินเบตง จังหวัดยะลา วันจันทร์ที่ 14 มี.ค.2565 ณ อาคารที่พักผู้โดยสาร สนามบินเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา

 

ทำไมต้อง? "สนามบินเบตง" กับ 10 ข้อ และความอลังการทางสถาปัตยกรรมกลางหุบเขา

 

กว่าจะมาถึงการเปิดใช้สนามบินเบตงในปัจจุบัน โครงการเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2558 เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง (สนามบินเบตง) ในพื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา พื้นที่ 920 ไร่ ระยะรันเวย์ 1,800 เมตร กรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท โดยโครงการนี้ผ่านขั้นตอนสำคัญต่างๆ เรียบร้อยแล้ว  ผ่านความเห็นชอบตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562

ในเบื้องต้น "สนามบินเบตง" คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 แต่ด้วยปัญหาหลายปัจจัยทำให้สนามบินยังไม่สามารถเปิดให้บริการการบินเชิงพาณิชย์ได้ ถึงแม้จะมีบางสายการบินทำเรื่องขอดำเนินการไว้แล้ว โดยเฉพาะปัญหาไม่มีจุดจอดเติมน้ำมันสำหรับเครื่องบินที่ "สนามบินเบตง" หรือความกังวลว่าเส้นทางการบินจะรุกล้ำเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านของไทยถ้าเปิดใช้ได้ ก็จะเป็นการรองรับตลาดการท่องเที่ยว การพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศ และต่างประเทศ

สนามบินเบตง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 อาคารที่พักผู้โดยสาร มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี ทางวิ่งหรือรันเวย์มีขนาดความยาว 1,800 เมตร รองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัด ATR 70-80 ที่นั่ง

เส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่

ทำไมต้อง? "สนามบินเบตง" กับ 10 ข้อ และความอลังการทางสถาปัตยกรรมกลางหุบเขา

 

เปิด 10 เรื่องน่ารู้ "สนามบินเบตง" ที่น่าสนใจ

1.เป็นสนามบินขนาดเล็ก รองรับได้แค่เครื่องบินแบบใบพัดเท่านั้น
2.ใช้เวลา 4 ปี กว่าจะได้เปิดใช้หลังก่อสร้างเสร็จ
3.สายการบินเชิงพาณิชย์ที่ได้ไปทำการทดลองบินมาแล้วคือ "สายการบินนกแอร์"
4.มีพื้นที่ 920 ไร่ ระยะรันเวย์ 1,800 เมตร
5.มีการศึกษาเส้นทาง หาดใหญ่ - เบตง และ ภูเก็ต - เบตง เพิ่มเติมแล้ว
6.เป็นสนามบินสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
7.เป็นศูนย์กลาง (ฮับ)​ ในภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่องมาเลเซียและสิงคโปร์
8.มีศักยภาพรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่งได้จำนวน 3 ลำ
9.ตกแต่งด้วย “ไม้ไผ่” สะท้อนเอกลักษณ์ท้องถิ่น เนื่องจาก “เบตง” หรือ “บือตง” เป็นภาษามลายู แปลว่า “ไม้ไผ่”
10.ห่างจากตัวเมืองประมาณ 12 กิโลเมตร

ทำไมต้องไปเบตง

"เบตง" เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดร่วม 200 กิโลเมตร มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับประเทศมาเลเซีย สมัยก่อนการเดินทางสัญจรไปมาค่อนข้างลำบาก จึงเป็นอำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีระหัสทะเบียนรถยนต์ของตนเอง คือมีรถที่ขึ้นทะเบียนที่เบตง ก็จะมีป้าย "เบตง" ไม่ใช่ "ยะลา"  เป็นเมืองที่ห้อมล้อมไปด้วยหุบเขา อากาศดี มีผลไม้นานาชนิดตามฤดูกาล ทุเรียนเบตงก็ขึ้นชื่อพอๆกับ “ไก่เบตง”

ทำไมต้อง? "สนามบินเบตง" กับ 10 ข้อ และความอลังการทางสถาปัตยกรรมกลางหุบเขา

       ในตัวเมืองมีร้านอาหารอร่อยๆหลายร้านให้แขกบ้านแขกเมืองได้เลือกลิ้มชิมรส แขกผู้มาเยือนต้องได้กินไก่เบตง ผัดผักน้ำ ปลาน้ำไหลเยี่ยมชมอุโมงค์เบตง ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ ตรงวงเวียนหอนาฬิกา

      ไป "เบตง"แล้วก็ต้องไปชมอุโมงค์ปิยมิตร แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้-ขัดแย้งทางการเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านมาสู่บ้านเรา ชมสวนดอกไม้เมืองหนาว สัมผัสไอหนาวของทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ชมความสวยงามของเขื่อนบางลาง

      เรื่องราวของเบตง เคยมีการหยิบคมาสร้างเป็นภาพยนตร์ “okเบตง” มาแล้ว และเป็นหนังที่สร้างรายได้ให้กับผู้สร้างไม่น้อย

      กล่าวสำหรับ "สนามบินเบตง" มีการออกแบบสวยงาม เป็นสถาปัตยกรรมกลางหุบเขา บางรายการตกแต่งด้วยวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ ยิ่งสร้างความแตกต่างเรียกความสนใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัส ก่อนเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่กันไปเยี่ยมชม ถ่ายรูป เช็คอินเป็นที่ระลึก

logoline