คอลัมนิสต์

เสี้ยวชีวิตการเมือง "พิชัย รัตตกุล" เกือบได้เป็นนายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รำลึกนักการเมืองอาวุโส "พิชัย รัตตกุล" ผู้ท้าทายเผด็จการ เกือบได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ชวดโอกาสทอง เพราะเจอกลเกมใน ปชป. คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

สิ้นตำนานการเมือง “พิชัย รัตตกุล” ผู้กอบกู้ ปชป.จากความตกต่ำ และนำพาพรรคสู่สนามเลือกตั้งปี 2529 กวาด ส.ส.มาอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ

 

ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ “พิชัย รัตตกุล” เรียนรู้การเมืองแบบไทยๆ เผชิญการต่อสู้ภายในพรรคครั้งใหญ่ จนกลายเป็น “กลุ่ม 10 มกรา” อันลือลั่นในอดีต

 

จากทายาทหมากหอมเยาวราช “พิชัย รัตตกุล” โลดแล่นบนถนนการเมืองยาวนานกว่าค่อนชีวิต และมีสิ่งที่ผู้คนจดจำอยู่หลายเหตุการณ์ รวมถึงการตั้งรัฐบาลโดย ปชป.ที่ไม่สำเร็จ


บ่ายวันที่ 28 ก.พ.2565 พิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุ 96 ปี

พิชัยเป็นบุตรชาย พิศาล รัตตกุล อดีตประธานกรรมการบริษัท เยาวราช จำกัด ผู้ผลิตหมากหอมเยาวราช เมื่อพิชัยเข้าสู่วงการเมือง สื่อมวลชนจึงตั้งฉายาว่า “เสี่ยหมากหอม”

 

การเลือกตั้งปี 2512 พิชัย รัตตกุล ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้เป็น ส.ส.สมัยแรก กระทั่งปี 2525 พิชัย จึงได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สืบต่อจาก พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.ยุคตกต่ำสุดขีด


‘เกือบได้เป็นนายกฯ’

ระหว่างปี 2525-2534 ยุคที่ “พิชัย รัตตกุล” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. การเมืองไทยตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ซึ่งนักวิชาการเรียกว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือระบอบเปรมาธิปไตย

 

หลังรัฐประหาร 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะยังเปิดโอกาสให้คณะทหารได้เข้ามามีอำนาจ ผ่านกลไกรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เปิดทางให้คนนอก เป็นนายกรัฐมนตรี และให้วุฒิสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

การเลือกตั้ง 22 เม.ย.2522 พรรค ปชป.พ่ายยับทั่วประเทศ เฉพาะสนามเมืองหลวง ได้เกิดปรากฏการณ์พรรคประชากรไทยฟีเวอร์ ของสมัคร สุนทรเวช กวาดเก้าอี้ ส.ส.เกือบหมด ยกเว้นเขต 6 พ.อ.ถนัด คอมันตร์ สอบได้คนเดียว

 

หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ พรรค ปชป.ก็เข้าร่วมหนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2523

 

เลือกตั้งปี 2526 พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร นำพรรคชาติไทย ได้เสียงมากที่สุด พยายามจับขั้วตั้งรัฐบาล โดยเสนอตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อ ปชป. และกิจสังคม ยังเลือกที่จะหนุน พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

 

เลือกตั้ง 27 ก.ค.2529 ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรค ปชป. 100 เสียง, พรรคชาติไทย 63 เสียง ,พรรคกิจสังคม 51 เสียง ,พรรคสหประชาธิปไตย 38 เสียง, พรรคประชากรไทย 24 เสียง, พรรครวมไทย 19 เสียง พรรคราษฎร 18 เสียง ส่วนพรรคต่ำกว่า 10 เสียงรวมกัน 25 ที่นั่ง

 

ตอนนั้น นักวิชาการหัวก้าวหน้าได้เรียกร้องให้พิชัยแสดงความกล้าหาญ โดยเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี จับมือพรรคชาติไทย และพรรคกิจสังคม จัดตั้งรัฐบาล และพิชัยก็ต่อสายถึงพรรคชาติไทย เตรียมตั้งรัฐบาล แต่นาย ทหารลูกป๋า ก็เดินสายล้อบบี้พรรคเล็กๆ ไม่ให้เข้าร่วมกับ ปชป. ตั้งรัฐบาลที่มีพิชัย รัตตกุล เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ในที่สุด ปชป.ยอมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม อีกครั้ง เป็นรัฐบาลผสม 4 พรรค 232 เสียง ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ กิจสังคม ชาติไทย และราษฎร

 

เหนืออื่นใด กลุ่มสะตอสามัคคี ที่เติบใหญ่ในพรรค ปชป. อาทิ ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, วีระ มุสิกพงศ์, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิถต์ ต่างก็สนับสนุนป๋าเปรม เป็นนายกฯ อ้างเรื่องความมั่นคง

 

เสี่ยหมากหอม หรือพิชัย จึงต้องแอบมากระซิบนักข่าวว่า ปชป.ได้ข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับความมั่นคง จึงต้องหนุนป๋าเปรมอีกครั้ง เพื่อบ้านเมืองสงบร่มเย็น

 

‘กบฏ 10 มกรา’

แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเปรมผ่านไปเรียบร้อย แต่ “พิชัย รัตตกุล” ก็เผชิญความขัดแย้งภายในพรรค อันเนื่องจากการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ระหว่างกลุ่มเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ กับกลุ่มสะตอสามัคคี

 

สำหรับ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 4 (พระโขนง) เมื่อเลือกตั้งทั่วไป 2529 ผลปรากฏว่า สอบได้พร้อมกับ พิชัย รัตตกุล ส.ส.เก่าเจ้าของสนามนี้มาตั้งแต่ปี 2518


ปีนั้น เฉลิมพันธ์ รองหัวหน้าพรรค ได้ก่อตั้งกลุ่ม 10 มกรา และได้รับการสนับสนุนให้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. โดยเป็นการแข่งขันระหว่างเฉลิมพันธ์ กับพิชัย ที่มีกลุ่มสะตอสามัคคีสนับสนุน

 

สุดท้าย ฝ่ายเฉลิมพันธ์พ่าย ต้องยกพวกออกไปตั้งพรรคประชาชน และการเลือกตั้งปี 2531 เฉลิมพันธ์ ก็ย้ายสนามไปลงสมัคร ส.ส.ที่นครราชสีมา ตามคำชักชวนของเลิศ หงษ์ภักดี อดีต ส.ส.นครราชสีมา

 

หลังเลือกตั้ง ป๋าเปรมบอกว่า พอแล้ว ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย พรรคชาติไทยจึงเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยพรรค ปชป.ก็เข้าร่วมด้วย

 

ปี 2534 พิชัยลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. และที่ประชุมพรรคได้เลือกชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แทน หลังจากนั้น พิชัยก็ค่อยลดบทบาทภายในพรรค และถอยฉากออกจาก ปชป.

 

บั้นปลายชีวิต พิชัยยังเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง และแสดงความเห็นผ่านสื่อเป็นระยะๆ โดยไม่ยึดติดกับพรรคการเมืองใด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ