คอลัมนิสต์

รู้จักธรรมะ "วันมาฆบูชา" วันเปิดหัวใจพุทธศาสนา การใช้ชีวิตด้วย "ขันติธรรม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โอวาทปาฏิโมกข์" คือหัวใจของพุทธศาสนาในวันเพ็ญเดือน 3 หรือ "วันมาฆปุณมี" หลังจากที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้เพียง 9 เดือน มาย้อนความสำคัญในธรรมที่ต้องเรียนรู้มีอะไรบ้างเพื่อเรา เพื่อคนในครอบครัวและเพื่อสังคมบ้าง

วันสำคัญของพุทธศาสนาที่ชาวพุทธบูชามี 3 วัน ได้แก่วันวิสาขบูชา หรือวันพระพุทธ วันมาฆบูชา หรือวันพระธรรม และวันอาสาฬหบูชา วันพระสงฆ์

วันนี้จะเล่าถึงความสำคัญของ "วันมาฆบูชา" ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ชาวพุทธบูชาในวัดทั่วประเทศและต่างประเทศ แต่เนื่องด้วยไวรัสโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง จึงทำให้การเวียนเทียนบูชาในวัดลดลง แต่มีวิธีบูชาแบบออนไลน์เข้ามาแทนที่

สำหรับความเป็นมานั้น มื่อ 2565 ปี ตามพุทธศักราช เกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนากล่าวคือ "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงประกาศ "หัวใจพุทธศาสนา" หรือ "โอวาทปาฏิโมกข์" ในที่ชุมนุมพระอรหันต์ 1,250 รูป ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันมาฆปุณมี  หลังจากตรัสรู้ได้ เพียง 9 เดือนเท่านั้น

 


 วันดังกล่าว ยังเรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" เพราะประกอบด้วย "สิ่งอัศจรรย์ 4 ประการ"
1. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุม ณ วัดเวฬุวัน โดยมิได้นัดหมาย
2. ภิกษุทั้งหมดล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นภิกษุที่พระพุทธองค์ทรงประทานการบรรพชา อุปสมบทที่เรียกว่า "เอหิภิกขุ" ให้ทั้งสิ้น

3. ภิกษุทั้งนั้นล้วนได้ "อภิญญา 6" ซึ่งเป็นคุณพิเศษสูงสุดของพุทธสาวกในพระพุทธศาสนา
4. เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง เสวยมาฆฤกษ์ คือเพ็ญเดือน 3
โอวาทปาฏิโมกข์ นั้น พระพุทธองค์ ทรงแบ่งเป็น 3 ส่วน
คือ(1)ว่าด้วยอุดมการณ์  (2)ว่าด้วยหลักการ และ(3)ว่าด้วยวิธีเผยแพร่พระพุทธศาสนา


ทั้ง 3 ประการนั้น ขยายความโดยสรุปดังนี้

1. อุดมการณ์ ได้แก่ "พระนิพพาน" ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดแต่จะบรรลุได้ ต้องมี "ขันติ" มีความเพียรทีเป็นตบะอย่างยิ่ง
2. หลักการ คือหัวใจพระพุทธศาสนา ได้แก่ "สัพพปาปัสสะ อกรณัง กุสลัสสูปสัมปทา" แปลว่า (1)ละบาปหรือไม่ทำบาปทั้งปวง (2)ทำกุศลให้ถึงพร้อมหรือหมั่นทำบุญ และ(3)ทำจิตให้ผ่องใส 

ทั้ง (3) ประการนี้คือหลักปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน ที่เป็นเป้าหมายสูงสุด
ส่วนข้อสุดท้ายนั้น เป็นหลักการในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา คือห้ามใช้ความรุนแรง และไม่บีบบังคับให้นับถือศาสนา โดยให้ยึดหลักว่า "อนูปวาโท" ไม่ว่าร้ายใคร  และ "อนูปฆาโต" ไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายใคร

ผู้เผยแพร่ต้องรู้จักวางตัว หรือสำรวมกาย วาจา ทรงแนะให้สำรวมใน "พระปาฏิโมกข์"  กินอาหารพอประมาณ หลีกเลี่ยงการชุมนุม มั่วสุม(ให้ปลีกวิเวก) ให้บำเพ็ญจิตภาวนา และทำจิตให้มั่นคง
ตามหลักการเผยแพร่ดังกล่าว พุทธศาสนา จึงไม่เคยก่อสงครามศาสนา กับศาสนาอื่นแม้แต่ครั้งเดียว
(เมื่อศาสนาอื่นเข้ามารุกราน วิธีให้ปลอดภัยสำหรับภิกษุสงฆ์ คือขอความอารักขา จากฝ่ายอาณาจักร) เพราะพุทธศาสนาเชิดชูสันติ เมตตา


อย่างไรก็ตามหลักใน "โอวาทปาฏิโมกข์" ที่นำเสนอนี้ มีใส่ไว้บัญญัติให้สงฆ์นำไปปฏิบัติเท่านั้น แต่เราชาวพุทธควรนำมาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย เช่นเรื่อง "ขันติธรรม" การไม่ว่าร้ายใคร (อนูปวาโท) การไม่ประทุษร้ายใคร (อนูปฆาโต) นอกเหนือจากหัวใจศาสนาคือละเว้นการทำบาป การสร้างบุญ กุศล และทำจิตให้ผ่องใส (หยุด โลภ โกรธ หลง) หากทำได้ทั่วๆ กัน บ้านเมืองจะสงบ เป็นสังคมอารยะ และสันติสุข
สมเจตนารมณ์ที่บูชา ในวันมาฆะ วันที่พระพุทธองค์ประกาศห้วใจพระพุทธศาสนา

เรื่อง : เปรียญ 12

 

logoline